ข้อเสนอของสภานักเรียน ประจำปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 10, 2009 15:00 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อเสนอของสภานักเรียน ประจำปี 2552 ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ และให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) รายงานว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ให้สภานักเรียนไทย ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนสภานักเรียนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 185 คน และนักเรียนที่มีความต้องพิเศษ (นักเรียนพิการ) 8 คน รวมทั้งสิ้น 193 คน ร่วมกับคณะครูที่ปรึกษา 193 คน นำเสนอผลงานของพื้นที่ในวันที่ 10 มกราคม 2552 ณ ทำเนียบรัฐบาล นั้น ที่ประชุมได้นำเสนอประเด็นปัญหาและแนวทางแก้ไข จำนวน 6 ประเด็น โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1. ประเด็นที่ 1 เรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาการทิ้งและการเผาทำลายขยะอันเป็นสาเหตุของการเกิดมลภาวะที่เป็นพิษ ซึ่งสภานักเรียนมีแนวคิดที่จะดำเนินโครงการ “นักสืบสิ่งแวดล้อม” เพื่อช่วยกันดูแล ฟื้นฟู อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ตัวเอง

2. ประเด็นที่ 2 เรื่องวัฒนธรรม สภานักเรียนได้วางแนวทางการทำงานด้านวัฒนธรรมไทยโดยเน้นวัฒนธรรมที่ดีงามที่วัยรุ่นสามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เช่น แต่งกายด้วยชุดประจำท้องถิ่น 1 วันต่อสัปดาห์ จูงมือน้องเข้าวัดในวันสำคัญของประเพณีไทยการจัดการเรียนรู้ในเรื่องภาษาถิ่น และการจัดลานวัฒนธรรม เป็นต้น

3. ประเด็นที่ 3 เรื่องพฤติกรรมเด็กและเยาวชน สภานักเรียน มีแนวทางหลักในการสร้างแกนนำนักเรียนในแต่ละพื้นที่ให้ทำงานร่วมกับเพื่อนๆ ในกลุ่มเสี่ยงทั้งในรูปแบบโครงการหรือกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ และการดำเนินชีวิตประจำวันร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาเพื่อนำไปขยายผลสู่เพื่อนนักเรียนในกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ และได้เสนอเป็นโครงการ “ห้องเรียนชีวิต”

4. ประเด็นที่ 4 เรื่องปัญหาการติดเกมของเยาวชน สภานักเรียน ได้ขอให้รัฐบาลส่งเสริมการจัดกิจกรรมที่เด็กสามารถแสดงออกอย่างถูกต้องเหมาะสมกระจายทุกพื้นที่ ส่งเสริมสนับสนุนการจัดตั้งเครือข่ายเด็กและเยาวชนเพื่อแก้ไขปัญหาการติดเกมและขอให้รัฐบาลมีมาตรการกำจัดร้านเกมที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมและติดตามปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจังต่อเนื่อง

5. ประเด็นที่ 5 ปัญหาของนักเรียนที่มีความต้องการเป็นพิเศษ (เด็กพิการ) ได้แก่ การขาดแคลนบุคลากรเฉพาะทาง อุปกรณ์การเรียนการสอนที่ยังไม่เพียงพอ สภานักเรียนได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาโดยขอให้เพิ่มงบประมาณเพื่อการจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนสำหรับเด็กพิการให้เพียงพอ รวมทั้งการเปิดโอกาสให้จัดการศึกษาแบบเรียนร่วมให้มากกว่าเดิม จากอัตรา 1:8 เป็น 1:4

6. ประเด็นที่ 6 ปัญหาผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีผลต่อคุณภาพการเรียนของนักเรียนโดยเฉพาะนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 สำหรับวิธีการแก้ไขปัญหาคือขอให้มีการจัดส่งบุคลากรทางด้านการศึกษาที่มีความรู้ความสามารถตรงกับปัญหาความขาดแคลนบุคลากรตามสาขาวิชาหลักที่จะเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ของผู้เรียนลงไปในพื้นที่มากขึ้น

7. นายกรัฐมนตรีได้มอบแนวนโยบายแก่สภานักเรียน ศธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้

7.1 ศธ. อาจปรับหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนใหม่ โดยการจัดให้นักเรียนได้เรียนรู้จริงนอก ห้องเรียน ให้นักเรียนได้ทำกิจกรรม เช่น กีฬา หรือการเข้าไปสัมผัสชุมชน เพราะการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบที่หลากหลายจะทำให้นักเรียนได้ฝึกฝนและเกิดการปฏิบัติจริงมากกว่าการเรียนรู้ในห้องเรียนหรือในโรงเรียน

7.2 การแก้ปัญหาเด็กติดเกมเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่จะต้องร่วมมือกัน โดยการสร้างให้เด็กรู้จักสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองสร้างวินัยให้ตัวเองและควรสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็ก

7.3 ปัญหาของนักเรียนที่มีความต้องการเป็นพิเศษควรสร้างความตื่นตัวให้กับการจัดการศึกษาพิเศษโดยการจัดหาบุคลากร ซึ่งต้องมีการพัฒนาหลักสูตรการผลิตครูที่สร้างคนให้มีความพร้อมมาทำหน้าที่

7.4 การจัดการศึกษาในภาคใต้จะจัดให้มีกลไกที่จะดูแลปัญหา ทั้งปัญหาความมั่นคง การศึกษา วัฒนธรรม โดยจัดให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและการจัดการศึกษาที่หลากหลาย กลมกลืน สอดคล้องกับวิถีชีวิตในพื้นที่

8. ศธ.เห็นว่าเพื่อสนองตอบต่อนโยบายของนายกรัฐมนตรีและส่งเสริมการดำเนินงานของสภานักเรียน จึงเห็นสมควรเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบและขอความสนับสนุนจากกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

8.1 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขอความร่วมมือหน่วยงานในพื้นที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของคณะสภานักเรียน

8.2 กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อขอความร่วมมือวัฒนธรรมจังหวัดในการให้ข้อมูล องค์ความรู้ ข้อเสนอแนะ และสนับสนุนการดำเนินงานของคณะสภานักเรียนในพื้นที่ และขอความร่วมมือให้มีการตรวจสอบและเฝ้าระวังร้านเกมที่เปิดอย่างผิดกฎหมายและไม่เหมาะสม

8.3 กระทรวงมหาดไทย ในการมอบหมายให้ส่วนราชการในระดับจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่งเสริมการจัดให้มีพื้นที่ลานวัฒนธรรมกระจายในทุกพื้นที่ และดูแลสนับสนุนการทำงานของสภานักเรียนและองค์กรเด็กต่างๆ ในพื้นที่

8.4 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อขอความร่วมมือให้หน่วยงานในพื้นที่ให้การดูแลและสนับสนุนการดำเนินงานของคณะสภานักเรียน รวมทั้งเป็นหน่วยงานประสานให้คณะสภานักเรียนสามารถดำเนินงานร่วมกับสภาเด็กและเยาวชน องค์กรเด็กและเยาวชนอื่นๆในพื้นที่

8.5 สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้การสนับสนุนร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สภานักเรียน และองค์กรเด็กอื่นๆ เพื่อให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างจริงจัง

8.6 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการตรวจสอบและป้องกับเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมและเป็นอันตรายต่อเด็กและเยาวชน

8.7 กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัดร่วมกันดำเนินการเกี่ยวกับโอกาสทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ รวมทั้งร่วมกับองค์กรที่รับผิดชอบเรื่องเด็กที่มีความต้องการพิเศษ (เด็กพิการ) ดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดหาบุคลากรเฉพาะทางและอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ยังไม่เพียงพอ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 มิถุนายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ