รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 30, 2009 14:15 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2552 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 417 รายการครอบคลุม หมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปได้ผลดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2552 ในปี 2550 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนพฤศจิกายน 2552 เท่ากับ 105.8 (เดือนตุลาคม 2552 คือ 105.5 )

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2552 เมื่อเทียบกับ 1) เดือนตุลาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.3 2) เดือนพฤศจิกายน 2551 สูงขึ้นร้อยละ 1.9 3) เฉลี่ยระยะ 11 เดือน ( มกราคม - พฤศจิกายน ) ปี 2551 ลดลงร้อยละ 1.2

3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2552 เทียบกับ เดือนตุลาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.3 (เดือนตุลาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.2) เป็นภาวะที่ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าเดือนก่อนหน้า มีผลกระทบมาจากปัจจัยที่สำคัญ คือ ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยภายในประเทศซึ่งเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้ามีราคาสูงขึ้น รวมทั้งราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มและสินค้าขายปลีกบางชนิดที่ราคาเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าว ผักสด นมและผลิตภัณฑ์นม เครื่องประกอบอาหาร ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าของใช้ส่วนบุคคล และแบตเตอรี่รถยนต์ ในขณะที่สินค้าที่มีราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ผลไม้สด ไก่สด ไข่ไก่ ปลาและสัตว์น้ำ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ วัสดุก่อสร้าง ค่าอุปกรณ์การบันเทิงและสุรา เป็นต้น

3.1 ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง (เดือนตุลาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.6) สาเหตุสำคัญเนื่องจากราคาอาหารหลายชนิดมีการปรับตัวที่สูงขึ้นและลดลง สำหรับสินค้าที่ราคายังคงทรงตัวสูงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ได้แก่ ข้าว ร้อยละ 0.7 (ข้าวสารเจ้าและข้าวสารเหนียว ) เป็นผลกระทบจากความต้องการข้าวเพื่อส่งออกยังสูงและนโยบายการประกันรายได้ของรัฐบาล ผักสด ร้อยละ 0.1 ได้แก่ แตงกวา ถั่วฝักยาว ผักบุ้ง มะเขือเจ้าพระยา พริกสดและต้นหอม เนื่องจากสภาพอากาศที่เย็นลงมากส่งผลให้ผักบางชนิดได้รับความเสียหาย ทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง นมและผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 0.2 (นมสด นมผง นมถั่วเหลือง) เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 0.2 (ขนมหวาน น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสหอยนางรม) สำหรับสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ผลไม้สด ร้อยละ 2.5 ได้แก่ ส้มเขียวหวาน แอ๊ปเปิ้ล ชมพู่ ส้มโอ เป็นช่วงฤดูกาลของผลไม้บางชนิด ไก่สด , ไข่ไก่ ร้อยละ 0.3และ0.3 ตามลำดับ มีผลมาจากสภาพอากาศ ที่เย็นลงทำให้ไก่มีชีวิตเจิญเติบโตได้ดีและการให้ไข่สูง ปลาและสัตว์น้ำ ร้อยละ 0.3(ปลาดุก ปลานิล กุ้งขาว) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 0.1 ( เครื่องดื่มรสชอกโกแลต กาแฟผงสำเร็จรูป )

3.2 ดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.4 (เดือนตุลาคม ลดลงร้อยละ 0.1) เป็นการปรับตัวที่สูงขึ้นในอัตราที่ค่อนข้างมาก เป็นผลกระทบจากราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยภายในประเทศซึ่งเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้ามีราคาสูงขึ้น โดยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น ร้อยละ 4.1 ค่ายาและเวชภัณฑ์ ร้อยละ 0.1 ค่าของใช้ส่วนบุคคล ร้อยละ 0.2 (สบู่ถูตัว แชมพูสระผม ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว กระดาษชำระ) และแบตเตอรี่ รถยนต์ ร้อยละ 2.8 สำหรับสินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง ร้อยละ 0.9 ( ปูนซีเมนต์ อิฐ )ค่าอุปกรณ์การบันเทิง ร้อยละ 0.2 (เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องคอมพิวเตอร์)และสุรา ร้อยละ 0.1 เป็นต้น

4. ถ้าพิจารณาดัชนีเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2551 สูงขึ้นร้อยละ 1.9 เป็นอัตราที่สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง สาเหตุสำคัญมาจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.6 เป็นผลกระทบจากดัชนีหมวด ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 2.3 เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ ร้อยละ 3.9 ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 2.7 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.5 และอาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 0.5 รวมทั้งดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ได้แก่ หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ร้อยละ 4.2 (ยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิง) หมวดเคหสถาน ร้อยละ 3.6 ( ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 1.0 (ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาลและ ค่าของใช้ส่วนบุคคล) และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 13.6 (ผลิตภัณฑ์ยาสูบ และเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์) อย่างไรก็ตามยังมีดัชนีในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ปรับลดลง คือ ผักและผลไม้ ร้อยละ 0.8 และเครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 0.2 และดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ได้แก่ หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 3.4 และหมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ร้อยละ 10.1 เป็นต้น

5. ถ้าพิจารณาดัชนีเฉลี่ยเทียบกับระยะ 11 เดือน (มกราคม - พฤศจิกายน ) ปี 2551 ลดลงร้อยละ 1.2 สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงร้อยละ 16.4 (ค่ากระแสไฟฟ้า ร้อยละ 12.9 และค่าน้ำประปา ร้อยละ 14.6) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 2.1 (เครื่องแบบนักเรียนอนุบาลและมัธยมชาย,หญิง) หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา ร้อยละ 6.2 (ค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษา, หนังสือและอุปกรณ์การศึกษา) ส่งผลให้ดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 5.6 ในขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น ร้อยละ 4.7 เป็นผลจาก การสูงขึ้นของ ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 3.0 เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ ร้อยละ 6.1 ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 5.1 ผักและผลไม้ ร้อยละ 5.4 อาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 3.7 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ3.5 และเครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 2.3 เป็นสำคัญ

6. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 300 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานจำนวน 117 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2552 เท่ากับ 102.7 เมื่อเทียบกับ

6.1 เดือนตุลาคม 2552 โดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง

6.2 เดือนพฤศจิกายน 2551 สูงขึ้นร้อยละ 0.1

6.3 เฉลี่ยระยะ 11 เดือน ( มกราคม- พฤศจิกายน ) ปี 2551 สูงขึ้นร้อยละ 0.3

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือนพฤศจิกายน 2552 เมื่อเทียบกับเดือน ตุลาคม 2552 โดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง (เดือนตุลาคม สูงขึ้นร้อยละ 0.1) สาเหตุสำคัญ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าที่มีทั้งที่สูงขึ้นและลดลง โดยสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าของใช้ส่วนบุคคล และแบตเตอรี่รถยนต์ ขณะที่สินค้าที่มีราคาลดลง คือ วัสดุก่อสร้าง ค่าอุปกรณ์การบันเทิงและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์

7. ผลกระทบของการที่ภาวะเงินเฟ้อเริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติมี ดังนี้

7.1 ประชาชน

ค่าครองชีพของประชาชนในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมายังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก ถึงแม้ว่าราคาสินค้ากลุ่มอาหารโดยเฉลี่ยจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างมากจากปีที่ผ่านมาประกอบกับมาตรการช่วยค่าครองชีพของรัฐบาล (6 มาตรการ และค่าเล่าเรียน) ทำให้ค่าครองชีพของประชาชนลดลง

ด้านการจับจ่ายใช้สอย จากการที่ภาวะเงินเฟ้อเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติจะทำให้ภาวะการจ้างงานเริ่มปรับตัวดีขึ้น มีผลให้ประชาชนเริ่มมีความรู้สึกมั่นใจในรายได้ของตนเองมากขึ้น ส่งผลให้ประชาชนกล้าที่จะจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

7.2 ผู้ผลิต

เมื่อภาวะเงินเฟ้อเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติจะทำให้ผู้ผลิตมีแรงจูงใจที่จะผลิตสินค้าเข้าสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการจ้างงานหรือเพิ่มชั่วโมงการทำงานมากขึ้น

7.3 รัฐบาล

การที่ภาวะเงินเฟ้อและเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ชี้ให้เห็นการเริ่มฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รัฐบาลควรถือโอกาสนี้ใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลควรดูแลให้การเบิกจ่ายงบประมาณตามนโยบายไทยเข้มแข็งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างลื่นไหล ส่งผลให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ไม่สะดุดลงไป

7.4 ธนาคารแห่งประเทศไทย

ในช่วงจังหวะนี้ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่ต่ำ ซึ่งสอดคล้องกับการเกื้อหนุนให้ภาวะเศรษฐกิจมีการเติบโต คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะยังคงรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับนี้ไว้

สำหรับในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า เมื่อภาวะเงินเฟ้อเริ่มปรับตัวขึ้น แล้วธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 ธันวาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ