แผนแม่บทอุตสาหกรรมอาหาร พ.ศ. 2553 — 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 13, 2010 14:13 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการแผนแม่บทอุตสาหกรรมอาหาร พ.ศ. 2553 — 2557 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับหน่วยงานใช้ในการจัดทำแผนปฏิบัติการต่อไป และมอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในการจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plans) โดยผ่านกลไกคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ ในการจัดลำดับความสำคัญของโครงการที่จะดำเนินการในระยะเวลา 5 ปี พร้อมงบประมาณที่ใช้ และเป็นผู้ติดตามประเมินผล โดยให้สำนักงบประมาณใช้กรอบแผนแม่บทอุตสาหกรรมอาหาร ในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารของแต่ละกระทรวงต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

1. ความเป็นมา

กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้รับจัดสรรงบประมาณในการดำเนินโครงการจัดทำแผนแม่บทอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อศึกษาและกำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย ซึ่งการจัดทำแผนแม่บทอุตสาหกรรมอาหารในครั้งนี้ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ และแนวทางการดำเนินการ ภายใต้กรอบแนวคิดสำคัญ คือ การเร่งเครื่องประเทศไทยด้วยอุตสาหกรรมอาหาร (Thailand Food Forward) ที่มุ่งเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศอย่างก้าวกระโดดด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการแปรรูปสินค้าทางการเกษตรของไทย การเพิ่มผลผลิต การควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร รวมไปถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ควบคู่ไปกับการใช้ยุทธวิธีทางการตลาดเพื่อเร่งสร้างยอดขายด้วยการสร้างการรับรู้ การสร้างความมั่นใจ และความประทับใจให้แก่ผู้บริโภคที่มีความซับซ้อนต่อการเลือกซื้อสินค้ามากขึ้น ทั้งนี้ ประเด็นยุทธศาสตร์ที่นำเสนอภายใต้แผนแม่บทฯ ดังกล่าวได้มีการวิเคราะห์และพิจารณาร่วมกับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเห็นว่ามีความจำเป็นที่อุตสาหกรรมอาหารของไทยจะต้องได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

2. สาระสำคัญของแผนแม่บทอุตสาหกรรมอาหาร พ.ศ. 2553 - 2557

2.1 วิสัยทัศน์ “ประเทศไทยจะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอาหารของโลกที่เน้นการเพิ่มคุณค่าและความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค”

2.2 วัตถุประสงค์ เพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทย มีทิศทาง เป้าหมายที่ชัดเจน และมีแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารอย่างเป็นระบบและเป็นองค์รวม ที่สามารถปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกและการพัฒนาประเทศที่เปลี่ยนแปลงตามสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถกำหนดแนวนโยบายด้านอุตสาหกรรมอาหารเชิงบูรณาการร่วมกัน เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต และเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกสินค้าอาหารของไทย รวมถึงผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศจะมีความเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าอาหารไทย ซึ่งจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มและขยายส่วนแบ่งการตลาดของไทยในทุกกลุ่มสินค้าอาหารได้อย่างเป็นรูปธรรม

2.3 เป้าหมาย

2.3.1 มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารของไทยเพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี

2.3.2 สัดส่วนมูลค่าการส่งออกผลผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปเพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของยอดมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารรวม

2.3.3 โรงงานผลิตอาหารของไทยได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตในระดับสากล จำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของโรงงานทั้งหมด

2.3.4 สินค้าอาหารของไทยมีภาพลักษณ์ที่ชัดเจนด้านคุณภาพและดีต่อสุขภาพ

2.3.5 ประเทศไทยมีมาตรฐานอาหารภายในประเทศที่ทัดเทียมมาตรฐานสากล

2.4 สาระสำคัญของกรอบยุทธศาสตร์ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

2.4.1 ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารในระดับภาพรวม มี 4 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

  • ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างคุณค่า (Value Creation) ให้กับผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอาหาร
  • ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศทั้งระบบ
  • ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างการรับรู้ (Consumer Awareness) และการยกระดับภาพลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์อาหาร
  • ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถของการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมอาหาร

2.4.2 ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารในระดับกลุ่มสินค้า แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

(1) กลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปขั้นต้น มี 4 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

  • ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนามาตรฐานวัตถุดิบและระบบการผลิต
  • ยุทธศาสตร์ที่ 2 การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี/องค์ความรู้เพื่อสร้างความสามารถทางการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมแปรรูปขั้นต้น
  • ยุทธศาสตร์ที่ 3 การปรับปรุงและพัฒนาระบบการขนส่งสินค้า
  • ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างภาพลักษณ์สำหรับสินค้าอาหารแปรรูปขั้นต้นของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก

(2) กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป มี 3 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

  • ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างนวัตกรรมและนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต
  • ยุทธศาสตร์ที่ 2 การส่งเสริม พัฒนาคุณภาพ และความปลอดภัยของอาหารแปรรูปของไทย
  • ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปของไทย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 มกราคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ