การดำเนินการตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 24, 2010 15:59 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การดำเนินการตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียนญี่ปุ่น

คณะรัฐมนตรีรับทราบการดำเนินการตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาความ ตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน — ญี่ปุ่น ตามที่กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศเสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป

ข้อเท็จจริง

1. กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอผลการดำเนินการตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ กรณีควรให้มีหน่วยงานรับผิดชอบกำกับดูแลการเยียวยา (อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ) ในภาพรวม รวมทั้งให้มีการบูรณาการการบริหารจัดการกองทุนของหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและไม่ซ้ำซ้อน มาเพื่อดำเนินการ

2. กระทรวงการต่างประเทศได้เสนอผลการดำเนินการตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ ตามมติคณะรัฐมนตรี (23 มิถุนายน 2552) กรณีให้มีคณะทำงานระดับรัฐบาลศึกษาแนวทางและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นในด้านอื่นๆ นอกเหนือจากด้านการค้า มาเพื่อดำเนินการ

สาระสำคัญของเรื่อง

1) ผลการดำเนินการของกระทรวงพาณิชย์ตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ ในข้อ 1 สรุปได้ดังนี้

1.1 การจัดตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากความตกลงเขตการค้าเสรี มีหลายหน่วยงานดำเนินการอยู่ ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกองทุนของแต่ละหน่วยงาน มีข้อแตกต่างกันทั้งวัตถุประสงค์ หลักเกณฑ์ และที่มาของงบประมาณในการดำเนินการให้ความช่วยเหลือ

1.2 กระทรวงพาณิชย์ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลโครงการช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าได้จัดประชุมหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อ 1.1 แล้วมีความเห็นร่วมกันดังนี้

1.2.1 การบูรณาการกองทุนของหน่วยงานต่าง ๆ จะเป็นประโยชน์ โดยเป็นการรวมศูนย์ที่องค์กรเดียว ทำให้สะดวกในการเข้าถึงข้อมูลและยื่นขอโครงการฯ การบริหารจัดการงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม กองทุนต่างๆ มีวัตถุประสงค์และกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน ดังนั้น การพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบของแต่ละกองทุน จึงสนับสนุนและรองรับภารกิจหลักของหน่วยงาน ต้นสังกัดเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดในการวางแผนจัดการ ตลอดจนการใช้ทรัพยากรและบุคลากรในหน่วยงานกลาง ตลอดจนมีข้อจำกัดในการดำเนินงานและติดตามประเมินผล เนื่องจากไม่ใช่สายการบังคับบัญชา

1.2.2 ในขณะที่ยังไม่สามารถบูรณาการกองทุนของทั้ง 3 หน่วยงานได้ จึงเห็นชอบให้แต่ละกองทุนดำเนินงานให้ความช่วยเหลือฯ โดยแยกความรับผิดชอบดูแลสินค้าให้ชัดเจนตามภารกิจหลักของแต่ละหน่วยงาน

1.2.3 กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการจัดจ้างศึกษาวิจัย เพื่อบูรณาการกองทุนให้ความช่วยเหลือเป็นภาพรวมของประเทศ โดยให้มีกฎหมายรองรับที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบได้รับการเยียวยาอย่างทั่วถึงเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2553

2) ผลการดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ ในข้อ 2. สรุปได้ดังนี้

2.1 ภายหลังที่คณะกรรมาธิการฯ ได้ให้ข้อสังเกตแล้ว อาเซียนได้บรรลุข้อตกลงจัดตั้งเขตการค้าเสรีกับจีนและสาธารณรัฐเกาหลีด้วย เช่นกัน ดังนั้น เพื่อให้การหารือเกี่ยวกับแนวทางและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาความร่วมมือในด้านอื่นๆ นอกเหนือจากด้านการค้าครอบคลุมทั้งในส่วนของจีนและสาธารณรัฐเกาหลีด้วย จึงควรศึกษาภาพรวมของการพัฒนาความร่วมมือกับทั้ง 3 ประเทศ เพื่อจะได้ทราบถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการจัดทำความตกลงทางเศรษฐกิจกับประเทศดังกล่าว รวมถึงแนวทางแก้ไขได้อย่างครอบคลุม

2.2 ที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศได้จัดการประชุมหารือกับหน่วยงานไทยเกี่ยวกับท่าทีของไทยและประเด็นที่ไทยประสงค์จะผลักดันในกรอบความร่วมมือต่าง ๆ เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาเป็นประจำอยู่แล้ว ดังนั้น จึงเห็นควรใช้กลไกดังกล่าวหารือเกี่ยวกับแนวทางและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี โดยกระทรวงการต่างประเทศจะเสนอให้ประเด็นดังกล่าวเป็นวาระประจำในการประชุมหารือกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าการจัดตั้งคณะทำงานฯ ขึ้นใหม่และ มีขอบเขตการศึกษาจำกัดเฉพาะกับความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน- ญี่ปุ่นเท่านั้น ซึ่งอาจจะไม่ครอบคลุมทำให้เกิดการทำงานที่ซ้ำซ้อน และเป็นการเพิ่มภาระให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 มีนาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ