งานศึกษาค้นคว้า: กรณีศึกษา-การพัฒนาผลิตภัณฑ์ลำไยอินทรีย์ กรณีศึกษาไร่พรมกังวาน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 22, 2013 15:32 —กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

ในปัจจุบันกระแสอาหารอินทรีย์( Organic Food ) ได้แพร่หลายและมีความนิยมสูงขึ้นในประเทศไทย ทั้งในเรื่องของการบริโภค
และด้านการผลิต เนื่องจากผู้คนให้ความสำคัญในเรื่องของสุขภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งมีความจำเป็นที่จะต้องห่วงใยในการเลือกสินค้าที่ปลอดภัยแก่ตนเองอีกด้วย ฉะนั้น อุตสาหกรรมอาหารอินทรีย์จะต้องเพิ่มบทบาทในการสร้างผลผลิตให้เป็นไปตามระเบียบมาตรฐานอาหารปลอดภัย จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับเกษตรกรไทยที่จะนำนวัตกรรมใหม่นี้มาผสมผสานกับผลผลิตภายในประเทศจนกลายเป็นสินค้าที่สามารถส่งออกและทำรายได้เพิ่มขึ้นได้อีกด้วย ซึ่งจะสามารถเปลี่ยนจากการเป็นเกษตรกรธรรมดาเป็นนักธุรกิจส่งออกได้เพียงในเวลาไม่กี่ปี ตัวอย่างเช่น ไร่พรมกังวาน ที่ยกขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาของการผลิตผลิตผลทางการเกษตรจากลำไยให้กลายเป็นอาหารอินทรีย์ โดยใช้เทคโนโลยีต่างๆบนพื้นที่ซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงแค่ผืนนาที่ได้รับมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ และนำมาดัดแปลงให้เป็นพื้นที่เพาะปลูกหรือแปลงเกษตรผสมผสาน จนได้รับคัดเลือกเป็นแปลงเกษตรกรผสมผสานดีเด่น ของกรมส่งเสริมการเกษตร โดยเฉพาะไร่ลำไยที่ริเริ่มจากการปลูกเพียงไม่กี่ต้น จนปัจจุบันมีถึงกว่า 50 ไร่ ทั้งยังนำมาพัฒนาอย่างต่อเนื่องและไม่หยุดยั้งจนกลายเป็นอุตสาหกรรมลำไยอบแห้ง และแปรรูปลำไยส่งออกขายในต่างประเทศจนประสบความสำเร็จ

ไร่พรมกังวาน ภายใต้การบริหารของ คุณปรกชล พรมกังวาน สมาชิกคลัสเตอร์ลำไย จ.เชียงใหม่ ได้นำพัฒนาการจัดการสวน ลำไยโดยนำระบบ “เกษตรดีที่เหมาะสม” มาใช้ และหลังจากได้มีโอกาสไปดูงานด้านการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ ที่ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และถูกชักชวนให้เข้าร่วมโครงการเกษตรอินทรีย์กับ GTZ ซึ่งเป็นองค์กรด้านวิชาการของเยอรมนีจึงหันมาพัฒนาการผลิตจากระบบเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP)เป็น “เกษตรอินทรีย์” โดยดูแลตั้งแต่พื้นที่เพาะปลูก แหล่งน้ำการใช้ปัจจัยการผลิตต่างๆ ตลอดจนการเก็บเกี่ยว การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว และการบันทึกข้อมูล ดังนี้

พื้นที่เพาะปลูก ลักษณะเดินภายในสวน เป็นดินเหนียวระบายน้ำไม่ดี จึงทำการขุดดิน ยกร่อง แบ่งเป็นแปลงเพื่อระบายน้ำและขุดบ่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งจัดการสวนให้ถูกสุขลักษณะ โดยมีโรงเรือนสำหรับเก็บเครื่องมือทางการเกษตร โรงเรือนผลิตปุ๋ยหมักไว้เป็นสัดส่วน

แหล่งน้ำ น้ำที่ใช้ในสวนเป็นน้ำชลประทานแม่ปิงส่วนใหญ่ โดยนำน้ำเข้ามาเก็บไว้ในร่องสวน พักน้ำโดยการปลูกพืชน้ำ เช่น ผักตบชวา เพื่อบำบัดน้ำก่อนนำไปใช้ อีกส่วนหนึ่งเป็นน้ำจากบ่อที่ขุดขึ้นมาเก็บน้ำฝนไว้ใช้ น้ำทั้งสองแหล่งดังกล่าวมีเพียงพอใช้ตลอดปี การให้น้ำในสวนใช้ระบบการให้น้ำแบบมินิสปริงเกลอร์

ปัจจัยการผลิต เนื่องจาก ไร่พรมกังวาน มุ่งเน้นการผลิตลำไยในระบบเกษตรอินทรีย์ ภายในสวนแห่งนี้จึงไม่มีการใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมี แต่จะใช้ปุ๋ยหมักทำเองโดยใช้มูลสัตว์ (ไก่ หมู วัว นกกระทา) ปุ๋ยน้ำหมักจากหอยเชอรี่รวมทั้งผลิตสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชจากพืชสมุนไพร และผลิตฮอร์โมนจากผลไม้สำหรับเป็นอาหารเสริมให้พืช

มีโรงเรือนผลิตและเก็บรักษาปุ๋ยหมัก และสารธรรมชาติป้องกันกำจัดแมลงที่ผลิตเองไว้เป็นสัดส่วนแยกจากที่พักอาศัย มีป้ายระบุชนิดของสารป้องกันกำจัดแมลงอย่างชัดเจน และเก็บในที่ปลอดภัย

การป้องกันแมลงศัตรูพืชอีกวิธีการหนึ่ง คือ การทำแนวกันชน โดยใช้ต้นลำไยรอบนอกของสวนเป็นแนวกันชน ขณะเดียวกันก็ใช้กับดักแมลงที่ใช้ฟีโรโมน เป็นกลิ่นที่ล่อแมลงมาติดกับดัก

ความสะอาดสวน มีการดูแลความสะอาดสวนตลอดเวลามีการตัดแต่งกิ่งช่อผลที่ไม่สมบูรณ์ออกเพื่อให้ช่อผลที่สมบูรณ์เจริญเติบโตเต็มที่ กำจัดวัชพืชโดยการใช้เครื่องตัดหญ้าร่วมกับการใช้แรงงานคน มีการจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ในการทำสวนอย่างเพียงพอ จัดเก็บไว้เป็นสัดส่วน มีการทำความสะอาดหลังการใช้งานซ่อมแซมให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ และให้ความรู้ในการใช้เครื่องมืออย่างถูกต้องแก่คนงาน

การเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยวลำไยภายในสวนใช้วิธีตัดกิ่งช่อผล รวบรวมใส่ตะกร้าไม่ให้ผลผลิตสัมผัสดิน มีสถานที่รวบรวมและคัดแยกผลผลิตเพื่อรวบรวมส่งโรงงานคัดบรรจุ โดยคัดแยกตามขนาดผลบรรจุในตะกร้าพลาสติกขนาดของผลผลิตมี 5 ขนาด คือขนาด AA A B C และตกเกรด

การบันทึกข้อมูล ในการควบคุมดูแลและการจัดการสวน มีการบันทึกข้อมูลต่างๆ ประกอบด้วย การระบาดของโรคแมลงที่ตรวจพบ การใช้และระยะเวลาที่ใช้ปัจจัยการผลิต (ปุ๋ยหมักสารป้องกันกำจัดโรค-แมลง) แหล่งที่มาของปัจจัยการผลิต การเก็บเกี่ยว รายรับ-รายจ่าย

ผลผลิตลำไยจากสวนปรกชล ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์ จากกรมวิชาการเกษตร เมื่อเดือนกันยายน 2552 โดยมีขอบข่ายการรับรอง 3 ลักษณะคือ แหล่งผลิตพืชอินทรีย์ การคัดบรรจุผักและผลไม้อินทรีย์ และการแปรรูปพืชอินทรีย์

ผลผลิตลำไยอินทรีย์

ในแต่ละปีผลผลิตลำไยจากสวนของไร่พรมกังวานมีปริมาณมากน้อยแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากการผลิตลำไยอินทรีย์จะเป็นการผลิตเฉพาะในฤดูเท่านั้นไม่สามารถผลิตนอกฤดูได้ เพราะไม่สามารถใช้สารเคมีในการบังคับการออกดอกลำไย เหมือนสวนลำไยอื่นๆ ที่นิยมการราดสารโพแทสเซียมคลอเรด เพื่อผลิตลำไยนอกฤดู

ในปี 2551 ไร่พรมกังวาน ได้ผลผลิตลำไยอินทรีย์รวม 19.5 ต้น ในปี 2552 ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 3 เท่า เป็น 61.2 ต้น และในปี 2553 ที่ผ่านมาต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติ คือ สภาพอากาศผิดปกติทำให้ผลผลิตลำไยลดลงเหลือเพียง 19.4 ต้น

ปริมาณผลผลิตขนาดต่างๆ ในปี 2551 ส่วนใหญ่เป็นผลผลิตเกรด A กว่า 30% เกรด AA เกือบ 20% ส่วนปี 2552 ได้ผลผลิต AA มากที่สุดถึง 41% รองลงมาคือเกรด A 35% ในปี 2553 ที่ผ่านมาได้ผลผลิตเกรด A มากที่สด 38% รองลงมาคือเกรด B 30% และเกรด AA 25%

ราคาที่จำหน่ายได้ในแต่ละปีจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อยกล่าวคือ ในปี 2551 ราคาเกรด AA เฉลี่ยกิโลกรัมละ 23 บาท เกรด A กิโลกรัมละ 17 บาท เกรด B กิโลกรัมละ 8 บาท เกรด C กิโลกรัมละ 2 บาท รวมรายได้จากการจำหน่ายลำไยสดในปี 2551 กว่า 2 แสนบาท

ในปี 2552 แม้ผลผลิตลำไยในตลาดจะมีมากแต่ราคามิได้ตกต่ำมากนัก ผลผลิตลำไยเกรด AA ราคากิโลกรัมละ 25 บาท เกรด A กิโลกรัมละ 15 บาท เกรด B กิโลกรัมละ 4 บาท รวมรายได้จากการจำหน่ายลำไยสดในปี 2552 สูงกว่า 1 ล้านบาท

ในปี 2553 ราคาผลผลิตลำไยเกรด AA สูงถึงกิโลกรัมละ 30 บาท เกรด A กิโลกรัมละ 23 บาท เกรด B กิโลกรัมละ 14 บาท และเกรด C กิโลกรัมละ 4 บาท รวมรายได้จากการจำหน่ายลำไยสดประมาณ 3.9 แสนบาท

การผลิตลำไยอบแห้งที่สามารถลดต้นทุนเชื้อเพลิงได้ 15-20%

นอกจากจำหน่ายผลลำไยสดแล้ว ไร่พรมกังวานยังผลิตลำไยอบแห้ง โดยเริ่มต้นด้วยการลงทุนซื้อเตาอบลำไยมา 5 เครื่อง ปรากฏ ว่าได้รับการตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดี ในปี 2541 ได้ขยายตลาดลำไยอบแห้งทั้งเปลือกไปสู่ตลาดต่างประเทศ โดยจำหน่ายให้กับพ่อค้าคนจีนในตลาดสิงคโปร์ จึงลงทุนเตาอบเพิ่มอีก 5 เครื่อง ผลผลิตลำไยอบแห้งของคุณปรกชลเป็นที่รู้จักดีในหมู่พ่อค้าชาวจีน เพราะเป็นผลผลิตที่มีคุณภาพ และได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ พร้อมๆ กับการศึกษาค้นคว้าเพื่อหาเทคโนโลยีการผลิตลำไยอินทรีย์ที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ยังได้ศึกษาหาความรู้ทางด้านการผลิตลำไยอบแห้งด้วยและสิ่งที่เขาทำการศึกษา คือ เตาอบลำไย

ในปี 2545 ไร่พรมกังวาน ได้สร้างโรงงานผลิตลำไยอบแห้งขึ้นโดยใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งภายในบริเวณสวนพร้อมกับซื้อเตาอบลำไยเพิ่ม อีก 21 เครื่องรวมกับของเดิมเป็น 31 เครื่อง ทำการปรับปรุงเตาอบลำไยแบบกระบะ ซึ่งใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมันดีเซลล์มาเป็นใช้เชื้อเพลิง จากก๊าซธรรมชาติ เขาคิดค้นระบบการจ่ายเชื้อเพลิงแบบท่อส่งรวมซึ่งง่ายและสะดวกต่อการควบคุมการทำงานของเตาอบทำให้ได้ลำไยอบแห้งที่มีคุณภาพขายได้ราคาสูงกว่าตลาดทั่วไป นอกจากนี้ยังลดต้นทุนค้าเชื้อเพลิงลง 15-20 %

ในปี 2549 ไร่พรมกังวานได้จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดพรมกังวาน ด้วยเงินลงทุน 5 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อจำหน่าย และผลิตลำไยอบแห้ง ขณะเดียวกันก็พัฒนาผลิตภัณฑ์ลำไยแปรรูปอื่นๆ เพิ่มขึ้นมา เช่น การผลิตลำไยอบแห้งเนื้อทอง ลำไยผง

ปัจจุบันขณะนี้ ไร่พรมกังวาน กำลังดำเนินการศึกษาและทดสอบการผลิตสารสกัดจากเมล็ดลำไย เพื่อนำมาทำสารตั้งต้นในการผลิต เครื่องสำอางต่างๆ เช่น ครีมชลอริ้วรอย บอดี้-โลชั่น หรือนำไปผลิตอาหารเสริม เป็นต้น ซึ่งคาดว่าความสำเร็จดังกล่าวคงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม เพราะด้วยความมุ่งมั่นและมีวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของเจ้าของไร่ลำยแห่งนี้ นามปรกชล พรมกังวาน

แหล่งข้อมูล :

น.ส.พ. กสิกร ปีที่ 84 ฉบับที่ 2 มีนาคม-เมษายน 2554

Cluster Info

คลัสเตอร์ ลำไย จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 1

โทร. 0-5324-5361-2

โทรสาร 0-5324-8315

--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ