งานศึกษาค้นคว้า: กรณีศึกษา-การป้องกันจากการกัดกร่อน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 25, 2013 17:25 —กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

บรรจุภัณฑ์โลหะ นับได้ว่าเป็นวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เก่าแก่วัสดุหนึ่ง จากอดีตจนถึงปัจจุบันบรรจุภัณฑ์โลหะก็ยังเป็นที่นิยมเนื่องด้วย จุดเด่นของบรรจุภัณฑ์โลหะ ที่มีราคาสมเหตุสมผล แข็งแรง ผลิตและบรรจุสินค้าได้ง่าย รวดเร็ว สามารถเก็บกลับมาผลิตใหม่หรือรีไซเคิลได้ และด้วยคุณสมบัติเฉพาะตัวที่สามารถสกัดกั้น การซึมผ่านของอากาศและความชื้นได้ 100 เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้บรรจุภัณฑ์ โลหะเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร หรือแม้กระทั่งบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในวงการอุตสาหกรรม

วัสดุหลักที่สำคัญที่ใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์โลหะ คือ แผ่นโลหะชนิดต่างๆ ได้แก่

1. แผ่นเหล็ก เคลือบดีบุก (Tinplate) เป็นแผ่นเหล็กดำ (black— plate) ที่มีความหนาระหว่าง 0.15—0.5 มิลลิเมตร นำมาเคลือบผิวหน้าเดียวหรือทั้งสองหน้าด้วยดีบุก เพื่อให้ทนทานต่อการผุกร่อน และไม่เป็นพิษ

2. แผ่นเหล็กไม่เคลือบดีบุก (Tin Free Steel,TFS) เป็นแผ่นเหล็กดำ ที่นำมาเคลือบด้วยสารอื่นแทนดีบุก เพื่อลดต้นทุนการผลิต ในปัจจุบันมีการเคลือบอยู่ 3 แบบคือ

2.1 เคลือบด้วยสารผสมฟอสเฟตและโครเมต เป็นฟิล์มบางๆ ใช้ทำกระป๋องบรรจุเบียร์ น้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว และทำถังโลหะชนิดต่างๆ

2.2 เคลือบด้วยอะลูมิเนียม มีความทนทานต่อการกัดกร่อน เนื่องจากความชื้นได้ดี แต่ไม่สามารถใช้กับอาหารที่มีความเป็นกรดหรือด่างสูง

2.3 เคลือบด้วยโครเมียมและโครเมียมออกไซด์ เพื่อให้สามารถป้องกันการกัดกร่อนได้ดี นิยมใช้ทำกระป๋องบรรจุอาหารทะเลนมข้นหวาน เป็นต้น

3. อะลูมิเนียมและโลหะผสมของอะลูมิเนียม มีคุณสมบัติเด่นคือ น้ำหนักเบา ทนทานต่อการกัดกร่อนสูง นิยมใช้ทำกระป๋อง 2 ชิ้น (2 Piece Can) สำหรับบรรจุน้ำอัดลมและเบียร์ กระป๋องฉีดพ่น(Aerosol) สำหรับบรรจุสเปรย์ฉีดผมหรือเครื่องสำอางต่างๆ และฝาชนิดที่มีห่วงเพื่อให้เปิดง่าย เช่น ฝากระป๋องน้ำอัดลมหรือขวดน้ำดื่ม นอกจากวัตถุดิบหลักดังกล่าวแล้ว ในกรณีที่ต้องการบรรจุอาหารหรือเครื่องดื่มที่กัดกร่อนสูง เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างโลหะและอาหาร อันส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสีและรสชาติของอาหารหรือกระป๋องเกิดกัดกร่อนได้ กระป๋องจะต้องถูกเคลือบแล็กเกอร์ ก่อนการใช้งาน อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค วัตถุดิบทั้งสองชนิดจะต้องเลือกใช้ชั้นคุณภาพที่สัมผัสอาหารได้ โดยปลอดภัยและมีคุณภาพได้มาตรฐานตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เท่านั้น

อนึ่ง สำหรับแผ่นเหล็กเคลือบสังกะสีหรือแผ่นเหล็กกัลวาไนซ์ (Galvanized Plate) ที่เรานิยมเรียกกันทั่วไปว่า “แผ่นสังกะสี” นั้นจะไม่ใช้ทำกระป๋องบรรจุอาหารอย่างเด็ดขาด เพราะมีโลหะหนัก พวกสังกะสีและตะกั่ว ซึ่งเป็นพิษต่อร่างกาย แต่ใช้กระป๋องและถังบรรจุผลิตภัณฑ์ที่มิใช่ อาหารได้ดี เนื่องจากมีราคาถูกกว่าแผ่นเหล็กเคลือบดีบุก

การป้องกันโลหะจากการกัดกร่อน

โลหะที่ใช้แปรรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ที่นิยมใช้ดังที่กล่าวมา จึงมีทั้งเหล็กและอะลูมิเนียม วัสดุโลหะเองก็มีโอกาสที่จะเกิดการกัดกร่อนจากบรรยากาศ สิ่งแวดล้อม และสินค้าบางประเภทที่บรรจุภายใน บรรจุภัณฑ์โลหะเมื่อถูกกัดกร่อนเป็นสนิม 1% ความแข็งแรงจะลดลง 5% ถึง 10% ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้ถึงกระบวนการกัดกร่อนที่อาจเกิดขึ้น พร้อมทั้งวิธีป้องกันการกัดกร่อน การทำปฏิกิริยาของบรรจุภัณฑ์โลหะอาจเกิดขึ้นได้ 3 กรณี

  • ตัวบรรจุภัณฑ์ทำปฏิกิริยากับสินค้าที่บรรจุภายใน
  • ตัวสินค้าทำการดูดซึม (Absorb) โลหะจากบรรจุภัณฑ์
  • บรรจุภัณฑ์ที่บรรจุสินค้าแล้วถูกกัดกร่อนภายใต้สภาวะแวดล้อมต่างๆ

การกัดกร่อนหมายถึงผลจากปฏิกิริยาเคมีระหว่างโลหะกับสภาวะแวดล้อมแล้วทำให้เกิดสารประกอบ (Compound) ขึ้น การกัดกร่อนเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดกับกระป๋องและสามารถกัดกร่อนทั้งชั้นของดีบุกและเนื้อเหล็ก ปฏิกิริยากัดกร่อนเริ่มเกิดขึ้นบริเวณผิวของกระป๋องก่อน ดังนั้นโอกาสที่เกิดและอัตราความเร็วของการกัดกร่อนจะสามารถควบคุมได้จากการปรับสภาพผิวของบรรจุภัณฑ์โลหะให้พอเหมาะ

โดยปกติบรรจุภัณฑ์โลหะมีคุณสมบัติพื้นฐานเกี่ยวข้องกับการกัดกร่อน ดังนี้

1) การกัดกร่อนที่เกิดกับโลหะ สารที่ทำการกัดกร่อนโลหะง่ายที่สุดคือ สารที่เป็นกรด และสารที่เป็นด่าง ผลิตภัณฑ์ที่บรรจุมีสภาวะเป็นด่างนั้นมีค่อนข้างน้อย ผลิตภัณฑ์อาหารส่วนใหญ่มีสภาวะเป็นกรดที่มีระดับ PH น้อยกว่า 7.0 การกัดกร่อนโลหะส่วนใหญ่เป็น ปรากฏการณ์ละลายโลหะออกมาด้วยสารเคมีที่อยู่ในสินค้า และมักเกิดขึ้นภายในกระป๋อง การกัดกร่อนที่เกิดขึ้นกับเหล็กด้านนอกกระป๋องมักจะเกิดเป็นสนิม (Rust) กลายเป็นจุด (Dot) หรือฟอง (Bubble) สีแดง สนิมที่เกิดขึ้นมากอาจมีผลทำให้กัดกร่อนจนกลายเป็น รูพรุน (Perforate)เหมือน รูเข็ม (Pinholes) แล้วเปิดโอกาสให้จุลชีวะเล็ดลอดเข้าไปในกระป๋องได้หรือปล่อยให้สินค้ารั่วซึมออกมาภายนอกกระป๋องทำให้ปนเปื้อนกระป๋องอื่นๆ

กระป๋องอะลูมิเนียมมีโอกาสเกิดการกัดกร่อนได้ถ้าบรรจุสินค้าที่เป็นกรดมากและสภาวะอากาศภายในกระป๋องมีปริมาณออกซิเจน ลดลง นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการบรรจุสินค้าที่มีน้ำเกลือเป็นส่วนผสม เพราะการกัดกร่อนจากน้ำเกลือสามารถทำให้กระป๋องอะลูมิเนียมเกิดรูพรุนได้ ส่วนเหล็กประเภทชุบด้วยโครเมียม (ECCS) ที่นำมาแปรรูปเป็นกระป๋องก็มีปฏิกิริยากับสภาวะกรดได้ง่าย

2) การเคลือบชั้นป้องกันให้เหมาะสมกับการใช้งาน สารเคลือบอินทรีย์ที่เคลือบแผ่นโลหะก่อนการแปรรูปจะแบ่งเป็นสารเคลือบผิวภายนอกและภายในของบรรจุภัณฑ์โลหะ นอกเหนือจากมีหน้าที่ป้องกันผิวของโลหะแล้ว สารเคลือบนี้ยังมีหน้าที่อื่นๆ แปรตามประเภทบรรจุภัณฑ์โลหะ เช่น ช่วยในการขึ้นรูปกระป๋อง หรือช่วยลดปฏิกิริยาที่เกิดภายในกระป๋อง เช่น ในกรณียับยั้งการละลายดีบุกออกจากเนื้อเหล็ก (Tin Dissolution) เป็นต้น

3) บรรจุภัณฑ์ที่บรรจุสินค้าแล้วถูกกัดกร่อนภายใต้สภาวะบรรยากาศ ปฏิกิริยาการกัดกร่อนนอกเหนือจากการแปรตามประเภทสินค้าที่บรรจุแล้วยังแปรตามสภาวะบรรยากาศ ปัจจัยหลักของสภาวะบรรยากาศที่มีอิทธิพลต่อการกัดกร่อนมากที่สุดคืออุณหภูมิ การเก็บในคลังสินค้าที่อุณหภูมิสูงกว่า24 ซ เป็นเวลานาน ทำให้ความชื้นที่หลงเหลืออยู่ในบริเวณผิวกระป๋องสร้างสนิม ปัจจัยอื่นคือ การเปลี่ยนแปลงความชื้นของสภาวะบรรยากาศอย่างเฉียบพลันหรือที่รู้จักกันในนามของกระบวนการออกเหงื่อ (Process of Sweating)

ข้อแนะนำเพื่อลดโอกาสเกิดการกัดกร่อน

เมื่อพิจารณาตำแหน่งที่เกิดการกัดกร่อนของบรรจุภัณฑ์โลหะ สามารถแยกได้เป็นการกัดกร่อนที่เกิดภายในและภายนอกกระป๋อง ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการกัดกร่อนทั้ง 2 แห่งมีส่วนที่เหมือนกันและแตกต่างกัน สถาบันผู้ผลิตกระป๋องแห่งสหรัฐอเมริกา (The American Can Manufacturing Institute) ได้ตีพิมพ์ข้อแนะนำเพื่อลดโอกาสเกิดการกัดกร่อนและการขึ้นสนิมของกระป๋องไว้ดังนี้

วิธีลดโอกาสเกิดการกัดกร่อนภายในกระป๋อง

1) ระดับการบรรจุในกระป๋อง ระดับการบรรจุในกระป๋องจะเป็นตัวกำหนดปริมาตรช่องว่างภายในกระป๋อง (Headspace) และมีผลโดยตรงต่อการยับยั้งการเกิดก๊าซไฮโดรเจนที่เป็นสาเหตุหลักของการกัดกร่อนและการบวม เนื่องจากการควบคุมระดับการบรรจุทำได้ไม่ง่ายนักสำหรับสายงานการบรรจุที่มีความเร็วสูง การควบคุมปริมาตรช่องว่างภายในบรรจุภัณฑ์เพื่อลดโอกาสกัดกร่อนจึงกระทำโดยการดึงอากาศภายในกระป๋องออกก่อนการปิดกระป๋องเพื่อให้เกิดสภาวะกึ่งสูญญากาศ ในทางปฏิบัติที่ตรงกันข้ามกับการบรรจุให้มีปริมาตรช่องว่างเหลืออยู่ในกระป๋อง คือการบรรจุสินค้าให้ล้นกระป๋อง (Over Filling) เมื่อทำการฆ่าเชื้ออาหารกระป๋องที่บรรจุจนเต็มนี้ แม้ว่าจะเป็นการลดช่องว่างภายในกระป๋องแต่จะเกิดการขยายตัวของอาหารภายในทำให้ตัวกระป๋องอย่างน้อยเกิดความเครียดขึ้น และมีผลทำให้เกิดการโก่งโค้งของฝากระป๋อง (Flipping) หรือทำให้ฝากระป่องมีลักษะคล้ายสปริง (Springing) กระป๋องที่เปลี่ยนรูปทรงเหล่านี้ย่อมต้องขายลดราคา เพื่อช่วยระบายสินค้า ณ จุดขาย

2) การกำจัดอากาศภายในบรรจุภัณฑ์ วิธีการลดปริมาตรของอากาศที่ค้างอยู่ (Entrapped) ภายในกระป๋องเริ่มขึ้นจากการตระเตรียมส่วนผสมของสินค้า เช่น การอุ่นตัวกลางบรรจุของสินค้าที่เป็นน้ำเชื่อมหรือน้ำเกลือและบรรจุในขณะที่ยังร้อนอยู่หรือมีการฉีดไอร้อนเพื่อไล่อากาศภายในบรรจุภัณฑ์หรือการดูดสูญญากาศก่อนการปิดกระป๋อง วิธีเหล่านี้ล้วนเป็นวิธีช่วยกำจัดอากาศภายในบรรจุภัณฑ์

3) การให้ความเย็นอย่างเพียงพอและแห้งสนิท หลังจากการฆ่าเชื้อด้วยความร้อน กระป๋องจำต้องถูกทำให้เย็นลงอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งระดับความร้อนที่เหลืออยู่ในกระป๋องสามารถทำให้ผิวกระป๋องแห้งได้เองเพื่อป้องกันน้ำติดค้างบนกระป๋อง วิธีการให้ความเย็นที่นิยม คือ ใช้น้ำเย็นที่มีอุณหภูมิประมาณ 35-40 องศาเซลเซียสและทำให้ผิวกระป๋องแห้งก่อนบรรจุใส่กล่องลูกฟูกเพื่อการขนส่ง โดยปกติกระป่องที่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อเสร็จแล้ว ไม่ควรบรรจุใส่กล่องลูกฟูกที่อุณหภูมิสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส

4) อุณหภูมิการเก็บคงคลัง ปฏิกิริยาการกัดกร่อนจะเร่งเร็วขึ้นเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น อายุของอาหารกระป๋องเก็บที่อุณหภูมิ 38 องศาเซลเซียส จะเหลือเพียงเศษหนึ่งส่วนเจ็ดถึงเศษหนึ่งส่วนสามของอาหารกระป๋องเก็บที่ 21 องศาเซลเซียส ซึ่งย่อมแปรตามประเภทของอาหาร* การเก็บที่อุณหภูมิต่ำและมีลมระบายจะช่วยยับยั้งการกัดกร่อนและรักษาคุณภาพของอาหารภายในกระป๋อง

5) สารเร่งปฏิกิริยาการกัดกร่อน (Corrosion Accelerators) สารต่างๆที่เป็นส่วนผสมของสินค้าที่บรรจุอยู่ภายในหรือสารที่ตกค้าง อยู่บนผิวกระป่องมีโอกาสที่จะเร่งปฏิกิริยาการกัดกร่อนได้ ตัวอย่างเช่น สารประกอบจำพวกไนไตรด์ สารประกอบของซัลเฟอร์ หรือโลหะจำพวกทองแดงและสารตกค้างจากการทำความสะอาด เป็นต้น ล้วนเป็นสารที่มีโอกาสเร่งปฏิกิริยาการกัดกร่อน สารเร่งปฏิกิริยาเหล่านี้มีโอกาสลดอายุขัยของอาหารกระป๋องลงมาเหลือเพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ของอายุขัยที่กำหนดไว้

วิธีลดโอกาสเกิดการกัดกร่อนบริเวณผิวภายนอกของกระป๋อง

1) พยายามลดการขัดถู (Abrasion) การขัดถูบริเวณผิวภายนอกของกระป๋องและบริเวณตะเข็บสองชั้นบนฝากระป๋องอาจ ทำให้เกิดเป็นรอยทาง (Tracks) และรอยขีดข่วน (Scratches) ซึ่งมีโอกาสเกิดระหว่างการลำเลียงผ่านขั้นตอนการผลิตหรือการขนย้ายไปยังจุดขาย รอยต่างๆเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการกัดกร่อนและจำต้องลดโอกาสที่ทำให้เกิดรอยต่างๆ บนผิวภายนอกทั้งหมดของตัวกระป๋อง โดยทำให้กระป๋องเคลื่อนตัวเองน้อยที่สุดระหว่างการขนส่งเช่น การใช้ฟิล์มหดหรือฟิล์มยึดรัดให้แน่น เป็นต้น

2) เน้นความสมบูรณ์ของการปิดตะเข็บสองชั้น การปิดตะเข็บสองชั้นมีโอกาสทำให้บริเวณฝาเกิดการดุนนูน (Emboss) จนเกิดปลายขอบที่แหลมคมหรือร่องลึก (Deep Code) บริเวณฝา ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เกิดการกัดกร่อนบริเวณฝาได้ง่าย

ประโยชน์ของการมีฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์

ผู้บริโภค : เป็นการสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่ต้องการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำกว่า เพื่อลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคบริโภค อีกทั้งยังเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ผลิตผลิตสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย ทำให้มีส่วนร่วมในการช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน

ผู้ผลิต : ลดต้นทุนการผลิตจากการพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ลดการใช้พลังงานฟอสซิล (Fossil fuel) เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนและแสดงเจตนารมณ์ในการรับผิดชอบต่อสังคมและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่บริษัท ตลอดจนเป็นการตอบสนองต่อความต้องการของผู้ซื้อและการมีส่วนร่วมในการช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ข้อมูลโดย : สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC)

Cluster Info

คลัสเตอร์สิ่งทอ กรุงเทพ และปริมณฑล สำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม

โทร. 0-2202-4575

โทรสาร 0-2354-3151

--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม--


แท็ก รีไซเคิล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ