บทความ: แผนที่อุตสาหกรรมยางพาราไทย : ตอนที่ 3 (ตอนจบ)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 3, 2015 15:27 —กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

แผนที่อุตสาหกรรมยางพาราไทย

ตอนที่ 3 (ตอนจบ) : นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่ใช้ยางพารา...ใครได้ใครเสีย

แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราของไทยทั้งระบบที่รัฐบาลวางแผนดำเนินการไว้ มี 4 แนวทางคือ

1.เร่งรัดการใช้ยางภายในประเทศให้มากขึ้น โดยนำยางมาใช้สร้างถนน ทำอิฐบล็อก ทำพื้น ฝาย หรือผลิตภัณฑ์แปรรูป เป็นต้น พร้อมทั้งเร่งการโค่นต้นยางเก่าเพื่อลดอุปทานภายในประเทศ ทำให้ลดผลผลิตยาวในอนาคต

2.ผลักดันและเร่งรัดโครงการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ให้สถาบันเกษตรกรรับซื้อยางจากเกษตรกรในราคาที่สูงขึ้น และการปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการ นำเงินเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อใช้ในการแปรรูปยาง อีกทั้ง สนับสนุนให้มีการปล่อยเงินกู้ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อเข้าถึงเกษตรกรมากขึ้น (แนวทางนี้เพื่อชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ 3% ให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ รัฐบาลได้อนุมัติโครงการแล้ว 2 โครงการ คือโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางเพื่อขยายกำลังการผลิต/ปรับเปลี่ยนเครื่องจักการผลิต วงเงินกู้ 15,000 ล้านบาท และโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยาง วงเงินกู้ 10,000 ล้านบาท หมายความว่ารัฐบาลยอมจ่ายเงิน 750 ล้านบาท แทนผู้ประกอบการที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยกู้เงินให้ธนาคารเจ้าหนี้ ในสองโครงการนี้)

3.สร้างตลาดการซื้อขายยางธรรมชาติ โดยเชื่อมโยงให้มีการทำสัญญาซื้อขายและส่งมอบสินค้าจริงระหว่างเกษตรกรชาวสวนยางกับผู้ซื้อ

4.ร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อกำหนดแนวทางจัดการเก็บสต็อกยางร่วมกันนั้น

ในแนวทางการ.เร่งรัดการใช้ยางภายในประเทศให้มากขึ้น โดยนำยางมาใช้สร้างถนน ทำอิฐบล็อก ทำพื้น ฝาย หรือผลิตภัณฑ์แปรรูป เป็นต้น พร้อมทั้งเร่งการโค่นต้นยางเก่าเพื่อลดอุปทานภายในประเทศ เพื่อให้ลดผลผลิตยางในอนาคต เป็นแนวคิดที่ถูกต้องเหมาะสมและมีมานานแล้ว แนวทางนี้จะไม่ถูกนำไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นอย่างเด็ดขาดหากเป็นห่วงเวลาในยุครัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งจะเป็นเพียงหมึกที่เปื้อนติดกระดาษแค่นั้น เพราะมีข้อขัดข้องบางอย่างที่ไม่แสดงออกมาให้เห็นอีกจำนวนมากเปรียบเหมือนก้อนน้ำแข็งที่ลอยน้ำมีส่วนของน้ำแข็งที่จมน้ำอยู่ก้อนใหญ่มากกว่าส่วนที่มองเห็น สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดในยุครัฐบาลที่มาจาก คสช. คือการสร้างอุปสงค์ยางพาราให้เกิดขึ้นด้วยการใช้การตลาดเป็นตัวขับเคลื่อน วิธีขับเคลื่อนที่ผู้มีอำนาจรัฐอยู่ในมือคือการออกเป็นนโยบายหรือข้อสั่งการให้หน่วยงานภาคราชการเป็นการเฉพาะ ใช้วัสดุอุปกรณ์หรือผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่มียางพาราเป็นวัสดุหรือส่วนประกอบเป็นลำดับแรก เพื่อให้สอดคล้องกับระเบียบราชการ ต้องนำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 มาปรับปรุง/แก้ไขใหม่ ให้สนอบตอบต่อนโยบายในการเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศให้มากขึ้นด้วย วิธีคิดแบบนี้จะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ของยางพาราโดยตรง ความคิดในการนำยางมาใช้ประโยชน์เป็นวัสดุแทนวัสดุอื่นสร้างถนน ทำอิฐบล็อก ทำพื้น ฝาย หรือผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ นั้นมีมานานแล้ว มีหลายๆ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ศึกษา วิจัยคิดค้นไว้แล้วระดับหนึ่ง แต่ยังไม่นำมาประยุกต์ใช้และต่อยอดให้เกิดเป็นรูปธรรมออกสู่สาธารณะแม้แต่เรื่องเดียว ลองมาช่วยกันวิเคราะห์ดูถึงเหตุต่างๆ ที่ผู้เกี่ยวข้องมีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องเหล่านี้ดูว่าเป็นเช่นไร เริ่มจากถ้าได้นำผลงานจากการศึกษา วิจัย คิดค้น การใช้ยางพาราเพื่อทดแทนวัสดุอื่นที่หน่วยงานต่างๆ ทำไว้มาทดลองทำเพื่อใช้งานจริงและรัฐบาลมีนโยบาย/ข้อสั่งการลงมาโดยอาจจะนำร่องทำในที่ใดๆ ก็ได้เช่น องค์การสวนยาง และหรือที่อื่นๆ เพื่อสร้าง/ปรับปรุงสิ่งปลูกสร้าง ถนน ลานกีฬา ฯลฯ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ที่ปรับปรุง/แก้ไขให้เอื้อต่อนโยบายการเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศแล้ว จะเท่ากับเป็นการดึงปริมาณยางพาราเข้าสู่ระบบการผลิตและผลิตภัณฑ์ในเชิงอุตสาหกรรมได้อย่างมากและทันที และต่อมาขยายผลการดำเนินงานรุกเข้าไปในพื้นที่ชุมชนที่อยู่ภายใต้การดูแลของ อบต. อบจ. ตามลำดับ ผู้มีส่วนได้โดยตรงคือเกษตรกรชาวสวนยางจะจำหน่ายผลผลิตได้ราคาที่สูงขึ้นคุ้มค่าเหมาะสมเพราะปริมาณการใช้ยางเป็นที่ต้องการมากขึ้นในภาคอุตสาหกรรม ส่งผลทางอ้อมให้ชีวิตความเป็นอยู่และสังคมดีขึ้น

ภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการอาจมีสองกลุ่มคือทั้งส่วนที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ในกลุ่มที่ได้ประโยชน์จะมีแนวคิดในการใช้ยางพาราทำนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ทดแทนวัสดุอื่น ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ในระยะแรกต้องมีต้นทุนการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และลงทุนด้านเทคโนโลยีการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถใช้งานได้เหมาะสมดียิ่งขึ้น (สร้างความก้าวหน้าภาคการแปรรูปในอุตสาหกรรมยางให้สูงขึ้น) ในกลุ่มที่เสียประโยชน์อาจจะเป็นกลุ่มทุนที่ไม่ต้องการให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สร้างผลิตภัณฑ์ใดๆ เข้ามาทดแทน ผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัสดุเดิมที่มีใช้อยู่แล้ว หากใช้ยางพาราเป็นวัสดุส่วนผสมในการสร้างถนนทดแทนวัสดุอื่นได้ คำถามที่ว่าวัสดุชนิดที่ใช้อยู่เดิมจะไปอยู่ที่ไหนในอุตสาหกรรม นี่เป็นเพียงหนึ่งเรื่องที่ชวนให้พิจารณา ผลประโยชน์ที่เคยได้รับกลับต้องเสียไปอย่างมหาศาลจะยอมรับได้หรือไม่ หากสถานการณ์เดินไปแบบนี้กลุ่มผู้เสียประโยชน์คงไม่นิ่งเฉยอย่างแน่นอนจะต้องมีกระบวนการอะไรบางอย่างออกมาเพื่อสกัดไม่ให้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะใช้ยางพาราเป็นวัสดุประกอบแทนวัสดุอื่นสร้างถนนออกมาได้อย่างง่ายๆ เห็นอะไรที่เป็นเรื่องที่ขัดแย้งกันอยู่บ้างหรือไม่ ด้วยการลงทุนทางด้านเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมที่ต้องใช้เม็ดเงินอย่างมาก จึงอาจมีบางสิ่งหรือแหล่งข้อมูลบางแห่งที่ส่งสัญญาณออกมาว่ามีความไม่คุ้มค่าในการลงทุน หรือศึกษาดูแล้วมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าการทำถนนแบบปัจจุบันมากเพื่อหวังผลเก็บโครงงานนี้ไว้ก่อน หากแนวคิดนี้เป็นจริงก็น่าเสียดายโอกาสในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอย่างมาก เมื่อพิจารณาว่าถ้านำเม็ดเงินที่จ่ายชดเชยแทนดอกเบี้ยเงินกู้ในสองโครงการนั้น จำนวน 750 ล้านบาท นำไปสร้างสิ่งปลูกสร้างหรือที่มียางพาราเป็นส่วนประกอบทดแทนวัสดุอื่น หรือให้หน่วยงาน/องค์กรต่างๆ นำไปวิจัย/ค้นคว้าและพัฒนาเทคโนโลยีการสร้างถนนด้วยยางพาราทดแทนวัสดุอื่น ผลการดำเนินงานถึงแม้จะเป็นการนำร่องและไม่ประสบผลสำเร็จอย่างสมบูรณ์ แต่ความคุ้มค่าได้มากกว่าเมื่อเปรียบเทียบเม็ดเงินจำนวนเดียวกันที่ภาครัฐต้องจ่ายชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ เพราะนำไปสร้าง/ปรับปรุงสิ่งปลูกสร้างที่มียางพาราเป็นส่วนประกอบทดแทนวัสดุอื่น ส่งผลโดยตรงถึงตัวเกษตรการชาวสวนยางพาราสามารถวัดค่าได้

การผลักดัดให้เกิดอุปสงค์ทำให้เกิดตลาดขนาดใหญ่นั้นรัฐบาลทำได้ด้วยการออกนโยบาย หรือข้อสั่งการ เช่น ให้ส่วนราชการท้องถิ่นสร้างหรือซ่อมถนนที่มียางพาราเป็นส่วนประกอบ หรือพื้นลานกีฬา อุปกรณ์การกีฬา วัสดุและผนังกันกระแทรก ฯลฯ ผลที่จะเกิดขึ้นก็คือเม็ดเงินจำนวน 750 ล้านบาท (เงินที่จะต้องนำไปชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการ) จะถูกนำไปซื้อยางพาราจากเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรง (เกษตรกรชาวสวนยางได้รับประโยชน์โดยตรงเต็มเม็ดเต็มหน่วย) เพื่อนำไปแปรรูปทำผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมภาคการผลิตที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบจะหันมาสนใจลงทุนใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการสร้างถนนด้วยยางพารามากขึ้นเพราะมีตลาดขนาดใหญ่รองรับแน่นอน จะส่งผลให้เกิดสองเรื่องคือ การปรับโครงสร้างปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศให้สูงขึ้น และส่งเสริมการพัฒนาวิทยาสาสตร์ นวัตกรรมและเทคโนโลยีการสร้างผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีส่วนประกอบของยางพาราทดแทนวัสดุอื่น ภาคอุตสาหกรรมก็จะยกระดับการพัฒนาให้สูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่งอย่างต่อเนื่องและนโยบายอย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นการกีดกันทางการค้าเพราะเป็นการสร้างสาธารณูปโภคของประเทศ มองในระยะยาวแล้วคุ้มค่ามาก เพียงแต่รัฐบาลในยุค คสช. มีความกล้าหาญเพียงพอที่จะออกมาตรการเพื่อให้ อบจ. และ อบต. นำไปปฏิบัติด้วยการให้สร้าง/ซ่อมสิ่งปลูกสร้าง ถนนและสาธารณูปโภคพื้นฐาน ในพื้นที่ที่ตนเองดูแลให้ใช้ยางพาราเป็นวัสดุประกอบ ผลที่เห็นชัดเจนคือยางพารามีช่องทางระบายออกสู่ตลาดที่ใหญ่มากๆ ลองเปรียบเทียบดูความคุ้มค่าผลที่คาดว่าจะได้รับกับเม็ดเงินที่ใส่ลงไปคงเห็นแนวทางที่ควรแล้วครับ

เรียบเรียง : สิทธิชนคน กสอ.

--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ