ถาม-ตอบ AEC: ก้าวย่างของธุรกิจการศึกษาไทยสู่ประตู AEC ที่เปิดกว้าง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 30, 2012 14:43 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ถาม : หลังจากการเปิดเสรีภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ในปี 2558 บทบาทของธุรกิจการศึกษาคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากการศึกษาเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการขยายการค้าและการลงทุนไปยังตลาดอาเซียน ก่อนเวลานั้นมาถึงอยากทราบว่าปัจจุบันวงการการศึกษาไทยอยู่ตรงไหนในอาเซียน?

ตอบ : เมื่อเทียบกับหลายประเทศในอาเซียนแล้ว วงการการศึกษาไทยนับว่ามีศักยภาพสูงเป็นอันดับต้นๆ โดยมีมหาวิทยาลัย 2 แห่งของไทยติดอันดับมหาวิทยาลัยดีที่สุด 400 อันดับแรกของโลกปี 2554 ซึ่งจัดอันดับพร้อมทั้งให้คะแนนโดย Quacquarelli Symonds (QS) นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยของไทยยังได้รับความนิยมในฐานะที่เป็นจุดหมายของการศึกษาต่อของนักศึกษาประเทศเพื่อนบ้านทั้ง สปป.ลาว กัมพูชา และพม่า ขณะที่ภาษาไทยเองก็เริ่มเป็นที่นิยมในการเรียนเช่นเดียวกัน เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านมองว่าภาษาไทยมีความสำคัญในการสื่อสารและการจ้างงาน จนมีนักวิเคราะห์บางรายมองว่าที่ตั้งของไทยซึ่งอยู่ใจกลางของอาเซียนเป็นปัจจัยเอื้อให้เมื่อเปิด AEC แล้ว ภาษาไทยอาจกลายเป็นภาษากลางของอาเซียนทัดเทียมภาษาอังกฤษเลยทีเดียว อันจะยิ่งดึงดูดให้นักศึกษาจากประเทศอื่นๆ ในอาเซียนเดินทางเข้ามาศึกษาต่อในไทยมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจด้านการศึกษาของไทย อย่างไรก็ตาม หลังจากการเปิด AEC วงการศึกษาไทยอาจต้องเผชิญคู่แข่งอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ซึ่งมีข้อได้เปรียบตรงที่เมื่อมองโดยภาพรวมแล้วทักษะการใช้ภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษากลางของโลกอยู่ในระดับดีกว่าไทย

ถาม : การปรับตัวด้านการศึกษาของไทยเพื่อรองรับการเปิด AEC จะส่งผลอย่างไรกับใครบ้าง?

ตอบ : สถาบันการศึกษาของไทยหลายแห่งเริ่มดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อรองรับการเปิด AEC ไม่ว่าจะเป็นการเปิดหลักสูตรนานาชาติเพื่อดึงดูดนักศึกษาในอาเซียนมาเรียนในไทยมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาไทยและประเทศอื่นๆ ในอาเซียน โดยจะจัดสรรทุนให้นักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาไทยไปศึกษาในสาขาวิชาต่างๆ ในสถาบันอุดมศึกษาของประเทศอื่นในอาเซียน และถ่ายโอนหน่วยกิตกลับมายังสถาบันอุดมศึกษาต้นสังกัดในไทย ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาในอาเซียนมีความรู้และความเข้าใจในวัฒนธรรมของประเทศในกลุ่มยิ่งขึ้น อันเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการขยายการทำธุรกิจไปยังตลาดอาเซียนซึ่งจะเปิดกว้างในอนาคต นอกจากนี้ ล่าสุดกระทรวงศึกษาธิการได้ตั้งโครงการ “พ.ศ. 2555 ปีแห่งการพูดภาษาอังกฤษ (English Speaking Year 2012)” ขึ้น ซึ่งกระทรวงฯ ได้ขอความร่วมมือสถานศึกษาในสังกัดให้กำหนดให้นักเรียนพูดภาษาอังกฤษกันในวันจันทร์ของทุกสัปดาห์ เพื่อฝึกฝนให้สามารถสื่อสารกับเพื่อนบ้านในอาเซียนรวมถึงทั่วโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีนโยบายเปลี่ยนแปลงเวลาเปิดเทอมของสถาบันการศึกษาในไทยให้ตรงกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน โดยภาคเรียนที่ 1 อยู่ระหว่างเดือนกันยายน-ธันวาคม และภาคเรียนที่ 2 อยู่ระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม เพื่อให้เอื้อต่อการถ่ายโอนหน่วยกิตของนักศึกษาที่ไปเรียนต่อต่างประเทศหรือนักศึกษาต่างชาติที่มาเรียนในไทย

ถาม : โอกาสและอุปสรรคของผู้ประกอบการธุรกิจการศึกษาที่ต้องการขยายตลาดไปยังประเทศอื่นในอาเซียนมีอะไรบ้าง?

ตอบ : ผู้ประกอบการธุรกิจการศึกษายังมีโอกาสขยายตลาดอีกมากหากพิจารณาจากความต้องการทางการศึกษาที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรอาเซียน โดยหลังจากเปิด AEC แล้ว ผู้ประกอบการไทยสามารถดำเนินกิจการหลากหลายรูปแบบได้ง่ายขึ้น อาทิ การให้บริการการศึกษาแบบออนไลน์ การตั้งสถาบันการศึกษาหรือวิทยาเขตในอาเซียน รวมทั้งการส่งบุคลากรครูไปสอนยังประเทศต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการบริการด้านการศึกษาที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การเปิดเสรีภายใต้ AEC ด้านการศึกษาอาจต้องเผชิญกับข้อจำกัดด้านกฎหมายของประเทศต่างๆ อาทิ การจำกัดจำนวนผู้ให้บริการด้านการศึกษา สิทธิในการถือครองที่ดินของนักลงทุนต่างชาติ มาตรการด้านภาษีที่ไม่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจดังกล่าวของนักลงทุนต่างชาติ และการขอใบอนุญาตด้านการให้บริการ ทั้งนี้ การเปิดเสรีด้านการให้บริการการศึกษาจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากประเทศสมาชิกในการแก้ไขกฎหมายบางข้อให้เอื้อต่อการลงทุนของต่างชาติมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการก็ควรให้ความสำคัญกับความหลากหลายของวัฒนธรรมของประเทศในอาเซียนที่ต้องการขยายตลาด เพื่อประกอบการวางนโยบายด้านต่างๆ ของสถานศึกษา อาทิ คอร์สที่เปิดสอน รวมทั้งกฎระเบียบต่างๆ

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย มกราคม 2555--

-พห-

แท็ก community   อาเซียน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ