เศรษฐกิจอินเดีย...ในวันที่จีนอ่อนแรง

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 27, 2015 13:33 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

เศรษฐกิจจีนที่ชะลอความร้อนแรงลงเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจโลกยังต้องเผชิญภาวะยากลำบาก อยู่ในปัจจุบัน หลายฝ่ายจึงพยายามมองหาตัวแทนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นความหวังใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ หากมองไปที่ประเทศอื่นในกลุ่ม BRICS ที่เคยเติบโตควบคู่มากับจีนและมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการค้าโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าจะเหลือเพียง "อินเดีย" เท่านั้นที่อาจจะฝากความหวังไว้ได้ เนื่องจากเศรษฐกิจรัสเซีย บราซิล และแอฟริกาใต้ต่างได้รับผลกระทบรุนแรงจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำขณะที่ประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ของโลก

ประเด็นข้างต้นมีน้ำหนักมากขึ้นเมื่อ IMF คาดการณ์ว่าอัตราขยายตัวของเศรษฐกิจอินเดียปี 2558 จะแซงหน้าจีน เป็นครั้งแรกในรอบ 16 ปี และจะขยายตัวสูงกว่าจีนต่อเนื่องไปจนถึงปี 2563 เป็นอย่างน้อย จากนโยบายเศรษฐกิจใหม่ที่หันมาเน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ทำให้ปัจจุบันเริ่มมีผู้ประกอบการรายใหญ่ของโลกในอุตสาหกรรมรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อาหารกระป๋อง เป็นต้น เข้าไปลงทุนในอินเดียมากขึ้น นอกจากนี้ อินเดียยังเป็นประเทศที่ได้อานิสงส์จากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ ช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย

อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจอินเดียจะมีปัจจัยสนับสนุนหลายประการคล้ายกับจีนในอดีต แต่ยังไม่ง่ายนักที่อินเดีย จะก้าวขึ้นมาเป็นกำลังหลักแทนจีนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากข้อจำกัดต่างๆ อาทิ ขนาดเศรษฐกิจ แม้อัตราขยายตัวของเศรษฐกิจอินเดียจะแซงจีน แต่ในแง่ของขนาด GDP ของอินเดียยังเล็กกว่าจีน ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกถึง 5 เท่า จำนวนประชากร แม้ใกล้เคียงกับจีน แต่รายได้ต่อหัวของชาวอินเดียยังน้อยกว่าชาวจีนถึง 4.5 เท่า ทำให้การจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริโภคสินค้าและโภคภัณฑ์รายใหญ่ของโลกเฉกเช่นจีนยังเป็นเรื่องยาก แรงงาน แม้ค่าจ้างแรงงานถูกกว่าและมีจำนวนประชากรวัยทำงานมากกว่าจีน แต่เนื่องจากภาคการผลิตของอินเดียมีสัดส่วนเพียง 15% ต่อ GDP เล็กกว่าจีนถึง 9 เท่า ทำให้แรงงานชาวอินเดียส่วนใหญ่ยังขาดทักษะด้านการผลิตและต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งก่อนจะแทรกตัวเข้ามามีบทบาทในห่วงโซ่อุปทานโลกได้เช่นเดียวกับจีน โครงสร้างพื้นฐาน อินเดียยังขาดการพัฒนาระบบคมนาคมและสาธารณูปโภคอย่างมาก สะท้อนจากการจัดอันดับด้านโครงสร้างพื้นฐานโดย World Economic Forum อันดับของอินเดียลดลงต่อเนื่อง ปัจจุบันอยู่อันดับ 87 เทียบกับจีนที่อยู่อันดับ 46 ของโลกกฎระเบียบข้อบังคับ อินเดียยังมีข้อจำกัดมากในการทำธุรกิจ สะท้อนจากดัชนีความยากง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business Index) ของธนาคารโลก ซึ่งอินเดียอยู่อันดับ 142 จาก 189 ประเทศทั่วโลก

จากข้อจำกัดข้างต้น ทำให้แม้อินเดียเป็นประเทศขนาดใหญ่ที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวสูงที่สุดในโลก แต่ในระยะสั้นอินเดียยังเป็นได้เพียงกำลังเสริมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกและช่วยบรรเทาผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนได้เพียงบางส่วนเท่านั้น

ทั้งนี้ หากมองในแง่การส่งออกของไทย อินเดียถือเป็นตลาดที่ช่วยบรรเทาการชะลอตัวของตลาดจีนได้เป็นอย่างดี สังเกตได้จากสัดส่วนการส่งออกของไทยไปอินเดียที่เพิ่มขึ้นจาก 2.3% ในปี 2554 เป็น 2.6% ในปัจจุบัน ขณะที่สัดส่วนตลาดจีน ในช่วงเวลาเดียวกันลดลงจาก 11.8% เหลือ 10.8% นอกจากนี้ หากพิจารณาสินค้าส่งออกสำคัญ 15 อันดับแรกที่ไทยส่งออกไปอินเดีย (สัดส่วน 75% ของมูลค่าส่งออกของไทยไปอินเดียทั้งหมด) พบว่าเป็นสินค้าชนิดเดียวกับที่ไทยส่งออกไปจีนถึง 9 รายการ และการส่งออกสินค้า 8 ใน 9 รายการข้างต้นไปอินเดียในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 (เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรและส่วนประกอบ ยางพารา คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง) ขยายตัวได้ดีกว่ามูลค่าส่งออกไปจีน

สถานการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าในระยะสั้นผู้ส่งออกไทยสามารถลดผลกระทบจากการส่งออกไปจีนที่ซบเซาลง โดยหันไปรุกตลาดอินเดียมากขึ้น และในอนาคตหากอินเดียสามารถทำตามเป้าหมายที่จะเป็นหนึ่งใน Factory of the World ภายใต้แนวคิด Make in India ได้สำเร็จก็จะช่วยหนุนให้การส่งออกของไทยไปอินเดีย โดยเฉพาะสินค้าวัตถุดิบ กึ่งสำเร็จรูปและส่วนประกอบมีโอกาสเติบโตสูงและจะเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนการส่งออกของไทยที่สำคัญในระยะถัดไป

Disclaimer : คอลัมน์นี้เผยแพร่เพื่อให้ความรู้ด้านเศรษฐกิจมหภาค เศรษฐกิจต่างประเทศ รวมถึงภาวะธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ