เม็กซิโก...สปริงบอร์ดของการส่งออกจากไทยไปสหรัฐฯ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday September 24, 2015 13:39 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

"Mexico is becoming the new China" คำกล่าวหนึ่งของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ จุดประกายให้ผู้เขียนหันมาสนใจประเทศเม็กซิโกในฐานะดาวรุ่งทางเศรษฐกิจดวงใหม่ของโลก และเมื่อหยิบตัวเลขขึ้นมาดู ก็พบว่ามูลค่าส่งออกของไทยไปเม็กซิโกในช่วงปี 2555-2557 ขยายตัวเฉลี่ยถึง 16.5% ต่อปี และในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ขยายตัวถึง 40.7% สวนทางกับตลาดส่งออกหลายแห่งที่กำลังย่ำแย่ ซึ่งทำให้ผู้เขียนเริ่มเห็นเค้าลางว่าเม็กซิโกอาจก้าวมาเป็นความหวังใหม่ของการส่งออกไทยก็เป็นได้

เม็กซิโกเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม OECD มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 15 ของโลก และขยายตัวเฉลี่ย 3% ต่อปี ปัจจุบันมีจำนวนประชากรราว 123 ล้านคน มากเป็นอันดับที่ 11 ของโลก มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงถึง 10,361 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (เทียบกับไทยที่ 5,561 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี) เม็กซิโกมีความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนอย่างใกล้ชิดกับสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของเม็กซิโก มีสัดส่วนถึง 80% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด ขณะเดียวกันสหรัฐฯ ยังเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในเม็กซิโกมีสัดส่วนถึง 50% ของมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติทั้งหมด

จะเห็นได้ว่าสหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจเม็กซิโก โดยเฉพาะการย้ายฐานการผลิตไปเม็กซิโกของบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ อาทิ Ford Motor, General Motors, IBM และ Hewlett Packard ส่งผลให้ปัจจุบันเม็กซิโกก้าวขึ้นเป็นฐานการผลิตสำคัญของสหรัฐฯ ก่อนขยับสู่ฐานการผลิตแห่งใหม่ของโลกต่อไป ทั้งนี้ ปัจจัยดึงดูดการลงทุนของเม็กซิโกมาจาก (1) ที่ตั้งของเม็กซิโกที่ติดกับสหรัฐฯ ทำให้ขนส่งสินค้าไปสหรัฐฯ ได้สะดวกและมีต้นทุนขนส่งไม่สูงนัก รวมถึงยังมีพรมแดนติดกับภูมิภาคลาตินอเมริกา เป็นโอกาสในการกระจายสินค้าสู่ตลาดเกิดใหม่อีกทางหนึ่ง (2) ค่าจ้างแรงงานในเม็กซิโกต่ำกว่าสหรัฐฯ ถึง 7 เท่า และต่ำกว่าจีน 30% รวมถึงมีกำลังแรงงานสูงเกือบ 60% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ และ (3) มีสิทธิประโยชน์ทางการค้าการลงทุนจำนวนมาก โดยเฉพาะข้อตกลงการค้าเสรีที่มีมากกว่า 40 ฉบับ ครอบคลุมประเทศคู่สัญญาที่มี GDP รวมกันสูงถึง 60% ของ GDP โลก ตัวอย่างของข้อตกลงการค้าที่สำคัญ อาทิ ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ที่ประกอบด้วยสหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโก ข้อตกลงนี้ทำให้ภาษีนำเข้าส่วนใหญ่ของประเทศสมาชิกถูกยกเลิก ซึ่งทำให้เม็กซิโกในฐานะที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ กลายเป็นฐานการผลิตสำคัญในการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ และแคนาดา ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) มี 12 ประเทศเข้าร่วม ที่สำคัญ อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจา คาดว่าจะแล้วเสร็จและเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2559 ซึ่งจะยิ่งเพิ่มโอกาสให้เม็กซิโกกลายเป็นฐานการผลิตเพื่อกระจายสินค้าสู่ประเทศสมาชิก TPP ซึ่งครอบคลุมหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก นอกจากนี้ เม็กซิโกเองก็มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ "Maquiladora" ซึ่งถือเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ประสบความสำเร็จแห่งหนึ่งของโลก มีนักลงทุนสหรัฐฯ มากกว่า 2,000 รายเข้าไปตั้งโรงงานบริเวณเมือง Laredo ของเม็กซิโก ซึ่งอยู่ติดกับเมือง Nuero รัฐเท็กซัสของสหรัฐฯ เพื่อผลิตและส่งสินค้ากลับไปสหรัฐฯ โดยใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางภาษีในการนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักร รวมถึงต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่อยู่ในระดับต่ำ

ภายใต้โอกาสด้านการค้าการลงทุนและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างเม็กซิโกกับสหรัฐฯ ข้างต้น ผู้เขียนมีความเห็นว่าจะเป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ส่งออกไทยในการใช้เม็กซิโกเป็นสปริงบอร์ดสู่ตลาดสหรัฐฯ โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าประเภทวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางไปเม็กซิโก เพื่อผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปและส่งออกไปสหรัฐฯ ต่อไป ปัจจุบันแม้มูลค่าส่งออกของไทยไปเม็กซิโกยังมีสัดส่วนเพียง 1.2% ของมูลค่าส่งออกรวมของไทย แต่มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีสัดส่วนสูงราวครึ่งหนึ่งของมูลค่าส่งออกรวมของไทยไปเม็กซิโก เป็นที่คาดว่าในอนาคตหากผู้ประกอบการสหรัฐฯ ยังคงขยายฐานการผลิตในเม็กซิโกอย่างต่อเนื่อง เม็กซิโกก็อาจเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกที่จะช่วยชดเชยบทบาทของตลาดหลักอื่นๆ ของไทยที่ชะลอลง รวมถึงเป็นช่องทางการส่งออกทางอ้อมของไทยไปสหรัฐฯ อีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ผู้ประกอบการไทยจะเริ่มทำการค้ากับเม็กซิโก ควรศึกษาข้อมูลคู่ค้าอย่างรอบคอบ รวมถึงควรพิจารณาเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน เพราะในอดีตเม็กซิโกเคยประสบวิกฤตค่าเงินถึง 2 ครั้ง เพื่อสร้างความมั่นใจและเพิ่มโอกาสในการทำการค้าให้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น

Disclaimer : คอลัมน์นี้เผยแพร่เพื่อให้ความรู้ด้านเศรษฐกิจมหภาค เศรษฐกิจต่างประเทศ รวมถึงภาวะธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ