รู้ลึก AEC: ส่องโอกาสสินค้าไทยที่มีศักยภาพในตลาดฟิลิปปินส์

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 1, 2016 14:57 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ฟิลิปปินส์เป็นสมาชิกอาเซียนเดิมประเทศเดียวที่การส่งออกจากไทยยังขยายตัวได้ในปี 2558 ขณะที่การส่งออกไปมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และบรูไน ล้วนหดตัว อีกทั้งมูลค่าส่งออกของไทยไปฟิลิปปินส์ยังขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 7.4 ต่อปีในช่วงปี 2556-2558 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มูลค่าส่งออกโดยรวมของไทยหดตัวเฉลี่ยราวร้อยละ 2 ต่อปี ทั้งนี้ The Economist Intelligence Unit (EIU) คาดว่า เศรษฐกิจฟิลิปปินส์มีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 6 ต่อปีในช่วงปี 2559-2563 ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นการนำเข้าสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคในประเทศ นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ยังเป็นตลาดขนาดใหญ่ด้วยจำนวนประชากรกว่า 100 ล้านคน มากเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย ประกอบกับกำลังซื้อของชาวฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้นเป็นลำดับตามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้แรงหนุนจากเงินส่งกลับประเทศของแรงงานฟิลิปปินส์ที่ทำงานในต่างประเทศที่สูงถึง 24.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2557 (คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 8.5 ของ GDP) ฟิลิปปินส์จึงนับเป็นตลาดส่งออกที่มีศักยภาพซึ่งผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้าม

สถานการณ์การส่งออกของไทยไปฟิลิปปินส์

ในปี 2558 มูลค่าส่งออกของไทยไปฟิลิปปินส์ยังขยายตัว สวนทางกับมูลค่าส่งออกโดยรวมของประเทศที่หดตัวร้อยละ 5.8 ทั้งนี้ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นสินค้าที่ขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งและเป็นแรงหนุนสำคัญที่ทำให้มูลค่าส่งออกของไทยไปฟิลิปปินส์ยังคงขยายตัวต่อได้ นอกจากนี้ สินค้าอุปโภคบริโภคที่ฟิลิปปินส์นำเข้าจากไทยส่วนใหญ่ก็ยังขยายตัวดี อย่างไรก็ตาม สินค้าที่ฟิลิปปินส์นำเข้าจากไทยเพื่อการผลิตและส่งออก อาทิ แผงวงจรไฟฟ้า ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับ 2 ของไทยไปฟิลิปปินส์ มีมูลค่าลดลงราวร้อยละ 5.5 เนื่องจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของฟิลิปปินส์ (สัดส่วนราว 40% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของฟิลิปปินส์) ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน

สินค้าส่งออกไปฟิลิปปินส์ที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง
  • รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่องเกื้อหนุนให้รายได้ของชาวฟิลิปปินส์เติบโตอย่างแข็งแกร่ง รวมทั้งส่งผลให้ภาคการค้าและภาคการขนส่งขยายตัว ซึ่งกระตุ้นให้ความต้องการใช้รถยนต์ทั้งรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ขยายตัวตาม โดยในปี 2558 ยอดจำหน่ายรถยนต์ในฟิลิปปินส์อยู่ที่ 288,609 คัน ขยายตัวร้อยละ 21.9 แบ่งเป็นรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ จำนวน 172,228 คัน ขยายตัวร้อยละ 19.2 และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลจำนวน 116,381 คัน ขยายตัวร้อยละ 29 ทั้งนี้ หากเทียบกับไทยที่มียอดจำหน่ายรถยนต์กว่า 1 ล้านคัน จะเห็นว่าตลาดฟิลิปปินส์ยังมีช่องว่างในการเติบโตได้อีกมาก โดย Mitsubishi Motors Philippines Corp. คาดการณ์ว่าในปี 2563 ยอดจำหน่ายรถยนต์ในฟิลิปปินส์จะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเป็น 500,000 คัน ซึ่งจะกระตุ้นการนำเข้าสินค้าหมวดดังกล่าวจากไทย จากปัจจุบันที่ฟิลิปปินส์เป็นตลาดส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อันดับ 2 ของไทย (ก้าวขึ้นจากอันดับ 6 ในปี 2554) รองจากออสเตรเลีย สะท้อนอุปสงค์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ สินค้าประเภทอุปกรณ์ประดับยนต์ของไทย ก็เป็นสินค้าที่น่าสนใจขยายตลาดในฟิลิปปินส์ จากการเติบโตของตลาดรถยนต์ ประกอบกับผู้ประกอบการในฟิลิปปินส์ยังขาดทักษะความสามารถในการพัฒนาสินค้าดังกล่าวให้มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสมเทียบเท่ากับสินค้าไทย
  • อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ฟิลิปปินส์เป็นประเทศผู้นำเข้าอาหารสุทธิ โดยมีสัดส่วนการนำเข้าอาหารราวร้อยละ 10 ของมูลค่านำเข้าทั้งหมด เนื่องจากยังผลิตอาหารได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคของประชากรในประเทศ ซึ่งมีจำนวนกว่า 100 ล้านคน ประกอบกับฟิลิปปินส์ประสบปัญหาภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง ซึ่ง The United Nations Office for Disaster Risk Reduction (UNISDR) จัดให้ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ประสบภัยธรรมชาติมากเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากสหรัฐฯ จีน และอินเดีย โดยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาฟิลิปปินส์ประสบภัยธรรมชาติรุนแรงกว่า 270 ครั้ง โดยเฉพาะพายุไต้ฝุ่น ซึ่งมักสร้างความเสียหายให้แก่ผลิตผลทางการเกษตรที่ใช้บริโภคและเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปอาหาร ขณะที่ Philippines Statistics Authority (PSA) รายงานมูลค่าการบริโภคอาหารในฟิลิปปินส์ ซึ่งพิจารณาจากค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 8.8 ในช่วงปี 2553-2557 โดยมีมูลค่า 3.87 ล้านล้านเปโซ (ราว 87.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2557 ขณะที่ข้อมูลจาก Euromonitor International ระบุค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์มีสัดส่วนราวร้อยละ 40 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดของชาวฟิลิปปินส์ในปี 2556 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งอยู่ที่ราวร้อยละ 20 จึงเป็นโอกาสของสินค้าไทยในกลุ่มดังกล่าว อาทิ ข้าว ผลไม้กระป๋องและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป นมและผลิตภัณฑ์นม เครื่องดื่มประเภทชูกำลัง ซึ่งมีอัตราการขยายตัวในระดับสองหลักในปี 2558 และยังมีศักยภาพในการเติบโตต่อเนื่องตามจำนวนประชากรฟิลิปปินส์ที่จะเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 10 เป็น 110.4 ล้านคนในปี 2563 โดยกลุ่มสินค้าอาหารกระป๋องเป็นอาหารแปรรูปที่มีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้นเพราะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้บริโภคที่ยังมีรายได้ไม่สูงนัก
  • ปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งเกื้อหนุนการขยายตัวของภาคก่อสร้างจากความต้องการลงทุนในโครงการก่อสร้างต่างๆ ทั้งอาคารสำนักงาน ที่อยู่อาศัย โรงงานอุตสาหกรรม และสาธารณูปโภคพื้นฐาน อาทิ โครงข่ายถนน ท่าเรือ และสนามบิน ทั้งนี้ PSA รายงานว่าในปี 2557 ได้อนุมัติโครงการก่อสร้างจำนวน 126,875 โครงการ มูลค่า 366.6 พันล้านเปโซ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 จากปีก่อน ขณะที่ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 PSA อนุมัติโครงการก่อสร้างจำนวน 91,813 โครงการ มูลค่า 271.8 พันล้านเปโซ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนสะท้อนภาคก่อสร้างของฟิลิปปินส์ขยายตัวอย่างโดดเด่นและมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างภาครัฐ ในช่วงปี 2559-2560 รัฐบาลมีโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่งเปิดให้นักลงทุนเอกชนร่วมลงทุนด้วย 25 โครงการ อาทิ ถนน ท่าเรือ ทางรถไฟ และสนามบิน รวมมูลค่า 17.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงการก่อสร้างเพื่อซ่อมแซมสาธารณูปโภคพื้นฐานและฟื้นฟูสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ
  • อาหารสุนัขและแมว ปัจจุบันชาวฟิลิปปินส์นิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้จำนวนสุนัขและแมวในฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยในปี 2557 ฟิลิปปินส์มีสุนัขราว 13 ล้านตัว และแมวราว 1.78 ล้านตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 และร้อยละ 3.2 ตามลำดับ ขณะที่ทัศนคติของเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่มองสัตว์เลี้ยงเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกครอบครัว ประกอบกับเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง ทำให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาให้อาหารสำเร็จรูปมากขึ้นแทนการให้อาหารเหลือจากมื้ออาหาร เนื่องจากอาหารสัตว์เลี้ยงมีสารอาหารเฉพาะที่เหมาะกับสัตว์เลี้ยง ทำให้สัตว์เลี้ยงมีสุขภาพดีและมีอายุยืนยาวขึ้น พฤติกรรมดังกล่าวส่งผลให้การใช้จ่ายในการซื้ออาหารสัตว์เลี้ยงในฟิลิปปินส์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสของสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยที่มีความได้เปรียบจากความพร้อมด้านวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ เป็นที่น่าสังเกตว่า การส่งออกอาหารสุนัขและแมวของไทยไปฟิลิปปินส์มีอัตราขยายตัวเฉลี่ยกว่าร้อยละ 20 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ อาหารสุนัขและแมวที่จำหน่ายในฟิลิปปินส์ควรตั้งราคาในระดับปานกลางและไม่ควรสูงกว่าราคาจำหน่ายในประเทศไทย เนื่องจากแม้ว่ารายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีของชาวฟิลิปปินส์จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องราวร้อยละ 30 จากปี 2554 มาอยู่ที่ระดับ 3,043 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปีในปี 2558 แต่ยังต่ำกว่าไทย ซึ่งมีรายได้ 5,940 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี ทำให้ชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญกับราคาและความคุ้มค่าของสินค้า

แม้ว่าสินค้าไทยหลายกลุ่มยังมีโอกาสขยายตลาดในฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะสินค้าที่ฟิลิปปินส์นำเข้าเพื่ออุปโภคบริโภค ตลอดจนใช้เป็นวัตถุดิบในโครงการก่อสร้างและการลงทุนในประเทศ ขณะที่ชาวฟิลิปปินส์มองว่าสินค้าไทยมีคุณภาพดีในระดับราคาที่เหมาะสม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับฟิลิปปินส์อย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยที่สนใจเปิดตลาดในฟิลิปปินส์ควรทำความเข้าใจกับพฤติกรรมของผู้บริโภคฟิลิปปินส์ รวมทั้งศึกษากฎระเบียบการนำเข้าสินค้าอย่างรอบคอบ นอกจากนี้ ควรพิจารณาถึงข้อจำกัดด้านระบบขนส่งและการกระจายสินค้าในฟิลิปปินส์ ซึ่งยังมีอุปสรรคอยู่มากจากภูมิประเทศที่เป็นหมู่เกาะ รวมทั้งเกิดภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการจัดส่งสินค้าและการเจรจาธุรกิจในบางช่วงเวลา โดยอาจทำให้เกิดความล่าช้าได้ นอกจากนี้ การเดินทางไปเจรจาธุรกิจในบางพื้นที่ เช่น เกาะ Mindanao ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ ผู้ประกอบการต้องตระหนักถึงความปลอดภัยด้วย เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวยังมีปัญหาความไม่สงบอยู่บ้าง

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ