เก็บตกจากต่างแดน: กระแสการท่องเที่ยวโลกในปี 2559

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 4, 2016 13:28 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามพฤติกรรมและรสนิยมของนักท่องเที่ยว ประกอบกับปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่มีส่วนกำหนดการตัดสินใจท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจ ค่าเดินทาง และความเสี่ยงจากภัยต่างๆ อาทิ ภัยธรรมชาติและภัยก่อการร้าย สถานการณ์การท่องเที่ยวในแต่ละภูมิภาคและประเทศจึงมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญและพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่น่าสนใจในปี 2559 มีดังนี้

ปัจจัยกำหนดการท่องเที่ยวโลกในปี 2559

ปัจจัยกำหนดการท่องเที่ยวโลกในปี 2559 จะยังเป็นปัจจัยเดิมที่เกิดขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา และยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องเฝ้าติดตามต่อเนื่อง ได้แก่

  • ภัยก่อการร้าย กลุ่มผู้ก่อการร้ายมุ่งเป้าไปยังประเทศที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญมากขึ้น โดยเหตุวินาศกรรมในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 จากกลุ่มรัฐอิสลาม (Islamic State : IS) สร้างความกังวลถึงเหตุก่อการร้ายที่มุ่งเป้าไปที่แหล่งท่องเที่ยวเมืองใหญ่เพื่อหวังผลให้เกิดความเสียหายต่อผู้บริสุทธิ์ ซึ่งมีผลกระทบค่อนข้างรุนแรงต่อประเทศที่เกิดเหตุ ปัจจุบันหลายประเทศในยุโรปถือเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงในการเป็นเป้าหมายของกลุ่ม IS เช่นเดียวกัน ก่อนที่ถัดมาจะเกิดเหตุระเบิดต่อเนื่องหลายจุดในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ในเดือนมกราคม 2559 ส่วนกรณีของไทยที่เกิดเหตุระเบิดที่ย่านราชประสงค์ในเดือนสิงหาคม 2558 ก็ถือเป็นภัยก่อการร้ายที่มุ่งเน้นสถานที่ท่องเที่ยว สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ความเสี่ยงของแหล่งท่องเที่ยวจากภัยก่อการร้ายกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่นักท่องเที่ยวนำมาพิจารณาเลือกวางแผนท่องเที่ยวมากขึ้น และถือเป็นความเสี่ยงสำคัญที่สร้างความผันผวนให้กับประเทศที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ
  • ภาวะเศรษฐกิจ ภาวะเศรษฐกิจของแต่ละประเทศถือเป็นตัวชี้วัดความสามารถในการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวประเทศนั้น ซึ่งรวมถึงการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว โดยภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังรักษาอัตราการขยายตัวไว้ได้เล็กน้อย เฉลี่ยราวร้อยละ 3.5 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของโลก (International Arrivals) ยังคงขยายตัวได้เฉลี่ยร้อยละ 4.5 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,184 ล้านคน ในปี 2558 โดยนักท่องเที่ยวจากจีน สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ยังขยายตัวดี ขณะที่นักท่องเที่ยวเยอรมนี อิตาลี และออสเตรเลีย ขยายตัวเพียงเล็กน้อย สำหรับแนวโน้มการท่องเที่ยวในปี 2559 The World Tourism Organization คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของโลกจะขยายตัวร้อยละ 4 สอดคล้องกับที่ International Monetary Fund (IMF) คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวเหลือร้อยละ 3.4 ในปี 2559
  • ต้นทุนการเดินทางระหว่างประเทศ ราคาเฉลี่ยค่าโดยสารทางอากาศของโลกในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2558 ลดลงร้อยละ 13 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็นผลจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลง และภาวะการแข่งขันของสายการบินที่ค่อนข้างรุนแรง ต้นทุนการเดินทางที่ลดลงดังกล่าวเป็นปัจจัยดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปท่องเที่ยวยังต่างประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ค่าโดยสารทางอากาศในปี 2559 คาดว่าจะไม่ปรับลดลงเช่นปีก่อน เนื่องจากราคาน้ำมันในปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับต่ำมากแล้ว
กระแสการท่องเที่ยวในปี 2559
  • การท่องเที่ยวแบบ Bleisure นิตยสาร Fortune คาดการณ์ว่าการท่องเที่ยวแบบ Bleisure จะได้รับความนิยมมากขึ้นในปี 2559 โดย “Bleisure” มาจากคำว่า “Business” (ธุรกิจ) ผสมกับ “Leisure” (พักผ่อน) นั่นคือการผสมผสานการเดินทางทางธุรกิจเข้ากับการท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อน โดยผู้ที่จำเป็นต้องเดินทางเพื่อการทำงานใช้เวลาส่วนหนึ่งหรือยอมที่จะใช้เวลาเพิ่มขึ้นเพื่อรวมโปรแกรมท่องเที่ยวไว้ด้วย โดยอาจเป็นการท่องเที่ยวเพียงลำพังหรือพาครอบครัวเดินทางไปด้วย ส่วนหนึ่งที่การท่องเที่ยวแบบ Bleisure ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น มาจากการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคมที่ทำให้การติดต่อสื่อสารและการส่งผ่านข้อมูลระยะทางไกลทำได้สะดวกรวดเร็วและง่ายดาย รวมถึงความสามารถของโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตที่ทำงานได้หลากหลายและรวดเร็ว อาทิ การทำงานเอกสาร การส่งข้อความ และการส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ จึงทำให้การทำงานกับการท่องเที่ยวสามารถกลมกลืนไปด้วยกันมากขึ้น
  • โทรศัพท์มือถือมีบทบาทมากขึ้นในการเดินทางท่องเที่ยว จากอดีตที่โทรศัพท์มือถือเป็นเพียงเครื่องมือสื่อสารระหว่างบุคคลเท่านั้น ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือแบบ Smartphone มีความสามารถหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว ข้อมูลพยากรณ์อากาศ ตารางเวลารถไฟและเครื่องบิน อีกทั้งปัจจุบันแอปพลิเคชันอย่าง Uber ก็สามารถใช้เรียกรถแท็กซี่ได้ในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงแอพพลิเคชั่นสำหรับจองโรงแรม เช่น Booking.com และ Tripadvisor นอกจากนี้ โทรศัพท์มือถือยังสามารถเป็นแผนที่นำทาง กล้องถ่ายภาพ และเครื่องบันเทิงยามว่าง อาทิ เล่นเกม และดูภาพยนตร์ ซึ่งความสามารถที่หลากหลายดังกล่าวทำให้ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือกลายเป็นอุปกรณ์สำคัญในการเดินทางท่องเที่ยวไปโดยปริยาย
  • กลุ่มนักท่องเที่ยวรวมคนหลายรุ่น (Multigeneration) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กลุ่มนักท่องเที่ยวที่รวมคนหลากหลายรุ่น อาทิ รุ่นปู่ย่า รุ่นพ่อแม่ และรุ่นลูก ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่แนวโน้มผู้สูงอายุมีชีวิตยืนยาวมากขึ้น ทำให้การท่องเที่ยวที่รวมคนหลายรุ่นมีแนวโน้มพบเห็นได้มากขึ้นอย่างไม่น่าแปลกใจ
  • การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Travel) ยังมีแนวโน้มขยายตัว Global Wellness Summit สำรวจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ พบว่ายังมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าการท่องเที่ยวแบบธรรมดาถึงราวร้อยละ 50 อย่างไรก็ตาม สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากมุมมองของนักท่องเที่ยวต่อการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนั้นมีความหมายกว้างขึ้น จากเดิมที่ส่วนใหญ่หมายถึงนักท่องเที่ยวที่เน้นเดินทางไปใช้บริการสปาเป็นหลัก ปัจจุบันนักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งอาจรวมการเดินทางไปฝึกหรือบำบัดร่างกายด้วยโยคะ และการท่องเที่ยวเดินป่าเพื่อสุขภาพ เข้าไปด้วย
  • แนวโน้มการท่องเที่ยวด้วยรถยนต์มีเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงทำให้การท่องเที่ยวด้วยรถยนต์เป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น อาทิ การเช่ารถยนต์ในประเทศปลายทางเพื่อใช้ท่องเที่ยว และการขับรถยนต์ท่องเที่ยวข้ามประเทศ ซึ่งการที่ราคาน้ำมันปรับลดลงทำให้การใช้รถยนต์มีความคุ้มค่ามากขึ้นเมื่อเทียบกับการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ประกอบกับความสะดวกจากการใช้โทรศัพท์เพื่อเป็นแผนที่นำทาง ธุรกิจบริการเช่ารถที่ขยายตัว และความจำเป็นในการใช้รถยนต์สำหรับการท่องเที่ยวแบบ Multigeneration ยังมีส่วนสนับสนุนความนิยมท่องเที่ยวด้วยรถยนต์เพิ่มขึ้น

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมีนาคม 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ