Share โลกเศรษฐกิจ: จับจังหวะโอกาสธุรกิจในวิกฤต COVID-19

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 5, 2020 14:16 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

สถานการณ์การแพร่ระบาดไปทั่วโลกของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อทุกภาคส่วน โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจและภาคธุรกิจต่าง ๆ ล่าสุด UNCTAD ประเมินว่า COVID-19 อาจส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจโลกในปี 2563 ถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบกับ GDP ของไทยที่ราว 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) อย่างไรก็ตาม แม้ COVID-19 จะฉุดรั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจ แต่หากมองในอีกมุมหนึ่งกลับพบว่าสินค้า/ธุรกิจหลายกลุ่มมีความต้อง

การหรือคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างมาก และยังสร้างโอกาสให้แก่สินค้า/ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องใน Supply Chain ทั้งนี้ ความต้องการสินค้า/ธุรกิจจะแตกต่างกันตามระยะเวลาหรือวงจร (Cycle) ของการแพร่ระบาด ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องควรเกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิดพร้อมจับสัญญาณธุรกิจเพื่อเตรียมวางแผนการผลิตหรือการดำเนินธุรกิจให้ทัน และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดในแต่ละช่วงเวลา

ระยะเริ่มต้น (Pre-pandemic) เริ่มมีการระบาดในบางพื้นที่ ทำให้ประชาชนระมัดระวังและป้องกันตนเองมากขึ้น จึงมีความต้องการสินค้าที่เกี่ยวกับการดูแลสุขอนามัยและการรักษาสุขภาพ เช่น หน้ากากอนามัย อุปกรณ์ทำความสะอาด ถุงมือยาง อาหารเสริม เป็นต้น (ยอดขายผลิตภัณฑ์สุขอนามัยในร้าน Prime Supermarket ของสิงคโปร์ในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาด COVID-19 เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าจากปกติ)

ระยะที่การแพร่ระบาดขยายวงกว้าง (Pandemic) มีผู้ติดเชื้อมากขึ้น ประชาชนส่วนใหญ่ลดการเดินทาง การทำงานเปลี่ยนรูปแบบมาเป็น Work from Home มีความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตในการสื่อสารเพิ่มขึ้น รวมไปถึงอุปกรณ์สื่อสารด้วย ตลอดจนยังมีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคมากขึ้นกว่าปกติ โดยเฉพาะการใช้บริการ Delivery และ E-commerce เพื่อลดความถี่ในการออกไปจับจ่ายใช้สอยนอกบ้าน (ยอดขาย E-commerce ของจีนโต 154% ในช่วงวันที่ 24 มกราคม-2 กุมภาพันธ์ 2563 ยอดสั่งอาหารออนไลน์ผ่านเว็บไซต์/Application Deliveroo ของฮ่องกงในเดือนมกราคม 2563 โต 60% จากเดือนก่อนหน้า) นอกจากนี้ เครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ก็เป็นที่ต้องการอย่างมากเพื่อนำมาใช้รักษาผู้ป่วย

ระยะที่การระบาดลดลงและควบคุมได้ (Post-pandemic) จำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มลดลงและสถานการณ์ต่าง ๆ อยู่ภายใต้การควบคุมแล้ว ประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงกับภาวะปกติ การเดินทางทั้งเพื่อท่องเที่ยวและธุรกิจเริ่มฟื้นตัว อาจมีการทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคของสถานประกอบการหลังปิดดำเนินการไป ผู้ประกอบการควรวางแผนการผลิต การจัดการวัตถุดิบและ Supply Chain เพื่อรับมือกับความต้องการสินค้า/บริการที่จะกลับมาฟื้นตัวก่อนจะทยอยปรับเข้าสู่ภาวะปกติต่อไป (จากสถิติโดยเฉลี่ยพบว่าหลังจากวิกฤต SARS ปี 2545-2546 ภูเขาไฟระเบิดที่ไอซ์แลนด์ ปี 2553 สึนามิที่ญี่ปุ่น ปี 2554 และน้ำท่วมใหญ่ของไทยปี 2554 ภาคธุรกิจใช้เวลาฟื้นตัวหลังจากเหตุการณ์ยุติราว 3-4 เดือน) นอกจากนี้ ประเด็นด้านสุขอนามัยจะเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจในระยะถัดไปทั้งการผลิตสินค้าและบริการ อาจเกิดการลงทุนด้านระบบ ห้องปฏิบัติการ และกระบวนการผลิต/การบริการ เพื่อตรวจสอบสินค้า/บริการให้ได้มาตรฐานสุขอนามัยและป้องกันการติดเชื้อโรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค/ผู้ใช้บริการ รวมไปถึงคาดว่าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาสุขภาพ เช่น สมุนไพร อาหารเพื่อสุขภาพ อุปกรณ์กีฬา เป็นต้น จะเป็นที่ต้องการของตลาดภายใต้เทรนด์การให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและป้องกันโรคต่าง ๆ มากขึ้น

ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในแต่ละประเทศอยู่ในภาวะที่แตกต่างกัน ความต้องการสินค้าและบริการของแต่ละประเทศจึงแตกต่างกันไปตามระดับการแพร่ระบาด การจับสัญญาณและจังหวะทางธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์อย่างเหมาะสมจะเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญในการสร้างโอกาสธุรกิจในช่วงวิกกฤต COVID-19 รวมถึงควรติดตามมาตรการทางการค้าฉบับพิเศษต่าง ๆ ที่แต่ละประเทศจะประกาศในช่วงเวลานี้ เพื่อให้การส่งออกดำเนินการได้อย่างราบรื่นและไม่ติดขัดในกระบวนการต่าง ๆ นอกจากนี้ หลังจากวิกฤตการณ์รอบนี้บรรเทาลง ภาคธุรกิจควรให้ความสำคัญกับการปรับตัว การสร้างความยืดหยุ่น และการวางแผนสำรองในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการให้ความสำคัญกับสุขอนามัยต่าง ๆ ซึ่งคาดว่าจะเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญของการดำเนินธุรกิจในระยะถัดไป ท่ามกลางแนวโน้มโรคอุบัติใหม่ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้อีก

Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนเมษายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ