เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ: ส่องทิศทาง Digital-only Bank...คลื่นลูกใหม่ในวงการธนาคาร

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 4, 2021 14:08 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

การทำธุรกรรมทางการเงินในปัจจุบันกำลังก้าวเข้าสู่โลกออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบและสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่ธุรกิจทั่วโลก โดยเฉพาะหลังวิกฤต COVID-19 ซึ่งเป็นตัวเร่งให้ผู้บริโภคหันมาทำธุรกรรมทางการเงินผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น ขณะที่ภาคธุรกิจก็ต้องปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลให้รวดเร็วยิ่งขึ้นเพื่อให้ทันกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เช่นเดียวกับภาครัฐที่มักสนับสนุนโลกดิจิทัลเพราะเป็นกลไกสำคัญในการลดช่องว่างและเพิ่มโอกาสให้ SMEs ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการสำคัญที่มีส่วนในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ Digital-only Bank เป็นหนึ่งในคลื่นดิจิทัลลูกใหม่ที่หลายประเทศเตรียมออกกฎระเบียบเฉพาะในการดูแลการจัดตั้ง Digital-only Bank เนื่องจากเล็งเห็นว่า Digital-only Bank เป็นตัวเลือกใหม่ที่สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้บริการได้ดีกว่าธนาคารรูปแบบเดิม (Traditional Bank)

Digital-only Bank?ตอบโจทย์บริการทางการเงินด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล

Digital-only Bank เป็นธนาคารที่ให้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก และส่วนใหญ่ไม่มีสาขาจริงให้บริการ ซึ่งแตกต่างจากธนาคารรูปแบบเดิมที่ให้บริการผ่านสาขาของธนาคารเป็นหลัก และมีช่องทางให้บริการเสริม เช่น ATM และ Internet Banking ปัจจุบัน Digital-only Bank กำลังได้รับความนิยมจากผู้ใช้บริการในหลายประเทศทั่วโลกทั้งสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร เยอรมนี ตลอดจนประเทศกำลังพัฒนาอย่างแอฟริกาใต้ บราซิล และจีน เนื่องจาก Digital-only Bank ให้บริการได้ใกล้เคียงกับธนาคารแบบเดิม เช่น การฝาก-ถอนเงิน การโอนเงิน การชำระค่าสินค้าและบริการ และการกู้เงิน แต่เหนือกว่าที่สามารถตอบโจทย์บริการทางการเงินด้วยประสิทธิภาพที่สูงกว่า ทั้งการให้บริการที่รวดเร็วแบบ Real-time ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่จูงใจทั้งด้านอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม รวมถึงเงื่อนไขการให้บริการและการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อที่ยืดหยุ่น ซึ่งศักยภาพดังกล่าวเป็นผลจากการใช้ระบบการทำงานบนเทคโนโลยียุคดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูล Big Data บนระบบ Cloud Computing และการใช้เทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI) ทำให้สามารถให้บริการด้วยต้นทุนการดำเนินการที่ต่ำลง อีกทั้งยังทำให้สามารถออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินแบบเฉพาะราย (Tailor-made) ได้ดีกว่าธนาคารรูปแบบเดิม ซึ่งเป็นจุดเด่นในการให้บริการลูกค้ารายย่อย และ SMEs ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีจำนวนมากและมีความหลากหลายสูง

เกร็ดน่ารู้

Digital-only Bank มีชื่อเรียกอีกหลายชื่อด้วยกัน เช่น Neobank, Challenger Bank และ Virtual Bank โดยชื่อที่มีการใช้ค่อนข้างมาก คือ NeoBank เพื่อสื่อถึงการเป็นธนาคารยุคใหม่ที่เน้นการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งนอกจากบริการทางการเงินแบบทั่วไปแล้ว Neobank บางราย ยังนำเสนอบริการรูปแบบใหม่ ๆ เช่น การซื้อขาย Bitcoin รวมถึงการรับฝาก และการให้ดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับ Bitcoin เป็นต้น

ตัวอย่างผู้ประกอบการ Digital-only Bank

Revolut
  • Revolut เป็น Neobank ในสหราชอาณาจักร มีจุดเด่นด้านความง่ายและรวดเร็วในการใช้งาน มีบริการหลากหลายสำหรับลูกค้าบุคคลและลูกค้าธุรกิจ รวมทั้งบริการธุรกรรมด้านเงิน Cryptocurrency
  • ปัจจุบัน Revolut มีลูกค้าราว 10 ล้านคนในยุโรปและเอเชีย และเป็น Fintech รายแรกของสหราชอาณาจักรที่เป็นยูนิคอร์น ด้วยมูลค่าบริษัทราว 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
เอเชียแปซิฟิก... ภูมิภาคที่พร้อมเปิดรับบริการ Digital-only Bank

รายงาน Fintech and Digital Banking 2025 ที่จัดทำโดย IDC Financial Insights สำรวจพบว่า ประชากรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกราว 63% ของกลุ่มตัวอย่างพร้อมเปลี่ยนมาใช้บริการของ Digital-only Bank รวมถึงบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ ๆ ภายใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งทำให้คาดว่าจะมี Digital-only Bank รายใหม่เกิดขึ้นอีกกว่า 100 ราย ทั้งนี้ กลุ่มประเทศในเอเชียแปซิฟิกที่ถือได้ว่ามี Digital-only Bank เกิดขึ้นและมีการพัฒนาไปแล้วค่อนข้างมาก ได้แก่ จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ไต้หวัน และออสเตรเลีย สำหรับประเทศในอาเซียน มีทั้งการตั้ง Digital-only Bank และการขยายการให้บริการทางการเงินแบบดิจิทัลจากธนาคารพาณิชย์เดิม โดยในหลายประเทศเริ่มมีการร่างกฎหมายการจัดตั้ง Digital-only Bank โดยเฉพาะ

จีน : Digital-only Bank ที่มีพัฒนาการจากบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่

จีนเป็นประเทศในเอเชียแปซิฟิกที่ Digital-only Bank มีพัฒนาการที่น่าจับตามอง เนื่องจากมูลค่าการทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ขยายตัวสูงถึง 155% จาก 2.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2558 เป็น 6.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันจีนมีผู้ให้บริการ Digital-only Bank เพียง 4 ราย นับตั้งแต่เริ่มอนุมัติการให้บริการรูปแบบดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2557 เนื่องจากจีนกำหนดเงินทุนชำระแล้วขั้นต่ำ (Minimun Paid-up Capital) สำหรับ Digital-only Bank ไว้ค่อนข้างสูงถึง 2 ล้านล้านหยวน (ราว 285 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า Digital-only Bank ทั้งหมดของจีนเป็นผู้เล่นที่พัฒนามาจากบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของจีน เช่น WeBank ผู้ให้บริการ Digital-only Bank รายแรกและรายใหญ่ที่สุดของจีน มีบริษัท Tencent เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ปัจจุบันมีลูกค้ากว่า 200 ล้านราย และ MYBank มีบริษัท Alibaba เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดย MYBank เน้นการเจาะตลาดสินเชื่อ SMEs เพื่อปิดช่องว่างจากปัญหาการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน

อาเซียน : ตลาดที่มีศักยภาพสูงในการเติบโต

Digital-only Bank ของอาเซียนมีศักยภาพในการเติบโตด้วยปัจจัยสนับสนุนสำคัญทั้งจากจำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวจาก 100 ล้านคนเป็นกว่า 400 ล้านคนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ UOB ระบุว่า ราว 60% ของประชากรในอาเซียนมีอายุต่ำกว่า 35 ปี ซึ่งครอบคลุมกลุ่ม Gen-Y และ Gen-Z ที่เป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายสำคัญของ Digital-only Bank เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความกระตือรือร้นในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและมีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน Digital-only Bank ในอาเซียนถือว่ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยผู้เล่นส่วนใหญ่เป็นสถาบันการเงินที่ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์มาให้บริการในรูปแบบ Digital-only Bank ด้วย และอยู่ภายใต้กฎระเบียบเดิมที่ใช้กำกับและดูแลธนาคารพาณิชย์แบบทั่วไป ทั้งนี้ ความคืบหน้าของ Digital-only Bank สำคัญในอาเซียน มีดังนี้

สิงคโปร์ : ออกใบอนุญาต Digital-only Bank จำนวน 4 รายจากผู้ยื่นขออนุมัติกว่า 20 ราย โดยใบอนุญาตแบ่งเป็น

  • Digital Full Bank (DFB) 2 ราย (สามารถให้บริการลูกค้าได้ทุกกลุ่ม) ได้แก่ 1) บริษัทร่วมทุนระหว่าง Grab Holding Inc. และ Singapore Telecommunications Ltd. และ 2) Sea Ltd. ซึ่งดำเนินธุรกิจ IT และ E-commerce (Shopee)
  • Digital Wholesale Bank (DWB) 2 ราย (ไม่สามารถให้บริการกลุ่มลูกค้ารายย่อยได้) ได้แก่ 1) Ant Group Co. Ltd. และ 2) บริษัทร่วมทุนระหว่าง Greenland Financial Holdings Group Co. Ltd., Linklogis Hong Kong Ltd., และ Beijing Co-operative Equity Investment Fund Management Co. Ltd.

โดยทางการสิงคโปร์คาดว่าบริษัทที่ได้รับอนุมัติใบอนุญาตจะเปิดดำเนินการได้ในช่วงต้นปี 2565 ทั้งนี้ สิงคโปร์กำหนดให้ DFB และ DWB ต้องมีเงินทุนชำระแล้วขั้นต่ำ 15 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (10.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และ 100 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (71.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตามลำดับ

มาเลเซีย : เตรียมออกใบอนุญาต Digital-only Bank จำนวน 5 ราย โดยในช่วงแรกกำหนดให้ต้องมีเงินทุนชำระแล้วขั้นต่ำ 100 ล้านริงกิต (24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และต้องเพิ่มเป็น 300 ล้านริงกิต (71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปีที่ 5 ของการดำเนินกิจการ

ฟิลิปปินส์ : อยู่ระหว่างร่างข้อกำหนดฉบับใหม่สำหรับการจัดตั้ง Digital-only Bank เพื่อเดินหน้าขยายการให้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลและเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท โดยกำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำอย่างน้อย 1 พันล้านเปโซ (20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) รวมทั้งกำหนดให้สำนักงานใหญ่ต้องตั้งอยู่ในฟิลิปปินส์เท่านั้น และไม่อนุญาตให้มีการจัดตั้งสาขาจริง

ไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม : ยังไม่มีการออกใบอนุญาต Digital-only Bank แต่มีการให้บริการแบบ Digital-only Bank บางส่วนของธนาคารพาณิชย์เดิมในประเทศ ตัวอย่างเช่น บริการ ME โดยธนาคาร TMB ของไทย และบริการ TMRW โดยธนาคาร UOB ในไทยและอินโดนีเซีย เป็นต้น

การเติบโตของ Digital-only Bank จะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยยกระดับการเข้าถึงบริการทางการเงินโดยรวม และส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในภาคธุรกิจต่าง ๆ ที่สำคัญ คือ

1. ธุรกิจ SMEs จะได้ประโยชน์จากการแข่งขันในภาคการเงินที่สูงขึ้นจากการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่หลากหลาย ทำให้เข้าถึงสินเชื่อและบริการทางการเงินได้มากขึ้น รวมทั้งช่วยลดต้นทุนทางการเงินจากอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่ต่ำลง ซึ่งล้วนมีส่วนช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น กรณีของฟิลิปปินส์ ซึ่งมีงานศึกษาพบว่า SMEs ราว 50% ของทั้งหมดยังไม่สามารถกู้เงินในระบบได้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทางการฟิลิปปินส์เร่งออกกฎระเบียบในการจัดตั้ง Digital-only Bank เพื่อปิดช่องว่างดังกล่าว

2. ภาคธนาคาร ที่จำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อเตรียมรับการแข่งขันจาก Digital-only Bank เช่น ธนาคารในไทยที่ปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลทั้งระบบ Big Data และ Machine Learning มาใช้ปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการ นอกจากนี้ ธนาคารบางรายยังมีการปรับกลยุทธ์มาให้บริการ Digital-only Bank อีกด้วย

ทั้งนี้แม้ว่าประเทศไทยยังไม่มีกฎระเบียบเฉพาะในการออกใบอนุญาตแก่ Digital-only Bank แต่ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจต่าง ๆ ควรติดตามความเคลื่อนไหวดังกล่าวเพื่อปรับตัวให้ทันต่อกระแสการเข้าสู่โลกการเงินออนไลน์ที่ปัจจุบันทุกฝ่ายต่างกำลังก้าวสู่การดำเนินธุรกิจและการทำธุรกรรมทางการเงินบนแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างรอบด้าน

Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนธันวาคม 2563

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ