เรื่องเล่าจาก CLMV: สินค้าเกษตรเพื่อส่งออกของ สปป.ลาว และโอกาสของผู้ประกอบการไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 6, 2021 15:01 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ในปลายปี 2564 นี้ รถไฟลาว-จีน หนึ่งในโครงการ Belt and Road Initiative ของจีน จะเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นที่คาดหมายว่าจะเป็นปัจจัยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของ สปป.ลาว ทั้งในด้านบทบาทการเป็นจุดเชื่อมการขนส่งภายในภูมิภาค การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน สาเหตุหลักมาจากการที่ สปป.ลาว มีชายแดนด้านเหนือติดกับประเทศจีน และมีความสัมพันธ์ทางการการเมือง การค้าและการลงทุนที่แน่นแฟ้นระหว่างกัน โดยจีนเป็นประเทศที่มีมูลค่าการลงทุน FDI ในสปป.ลาวสูงเป็นอันดับหนึ่งต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อการจัดซื้อผลิตผลทางการเกษตรจาก สปป.ลาว ส่งไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนระหว่างบริษัทเอไอดีซี การค้า คู่สัญญาฝ่าย สปป.ลาว และบริษัทเสบียงอาหารจีน สาขาเมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน คู่สัญญาฝ่ายจีน โดยบริษัทเอไอดีซี การค้าของ สปป.ลาว จะต้องจัดหาและส่งออกผลผลิตทางการเกษตร 9 รายการ (ประกอบด้วย ทุเรียน กล้วย มะม่วง ถั่วเหลือง ถั่วลิสง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เนื้อวัวแช่แข็ง แป้งมันสำปะหลัง และน้ำตาล) ในจำนวนที่กำหนดใน MOU ที่มีมูลค่ารวมกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 46,890 ล้านบาท) ให้แก่บริษัทเสบียงอาหารจีน สาขาเมืองเจิ้งโจว ภายในกรอบระยะเวลา 5 ปี เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการตอบสนองการบริโภคของชาวจีนที่มีประชากรกว่า 1,300 ล้านคน โดยการขนส่งผ่านรถไฟลาว-จีนนี้จะเป็นช่องทางทำให้การขนส่งเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็วขึ้น

ทั้งนี้ จาก MOU ข้างต้น สปป.ลาว ต้องจัดหาผลผลิตทางการเกษตรเพื่อส่งออกให้แก่จีน ตามเงื่อนไขที่กำหนด แม้ สปป.ลาว จะมีพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ทุกภูมิภาคเหมาะแก่การเพาะปลูกพืชทางการเกษตร แต่ยังคงมีข้อจำกัดเรื่ององค์ความรู้การทำธุรกิจทางการเกษตรเพื่อการผลิตและส่งออก เนื่องจากการเพาะปลูกส่วนใหญ่ยังคงเป็นแนวทางเพื่อการทำกินในครัวเรือน จึงต้องมีการพึ่งพานักลงทุนจากต่างชาติที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญอยู่มาก โดยปัจจุบันกลุ่มผู้ลงทุนในธุรกิจทางการเกษตรใน สปป.ลาว ส่วนใหญ่ประกอบด้วยจีน เวียดนาม และไทย

โอกาสในการลงทุนในอุตสาหกรรมการเกษตรเพื่อการส่งออกของไทยนั้นยังมีอยู่มาก เนื่องจากนักลงทุนไทยมีความรู้ความชำนาญในการทำธุรกิจ ในขณะที่โอกาสสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยนั้น สามารถเติมเต็มในส่วนของสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการเกษตรใน สปป.ลาว อาทิ เครื่องจักรกลการเกษตร ยาฆ่าแมลงแบบอินทรีย์ อุปกรณ์เพาะปลูก เครื่องมือการเกษตร เมล็ดพันธุ์ ต้นกล้า/พันธุ์ไม้ ปุ๋ย และการให้คำปรึกษาทางธุรกิจต่าง ๆ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังสามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์/บริการด้วยการให้บริการหลังการขาย และการให้คำปรึกษาทางการเกษตร นอกจากนี้ ปัจจุบันผู้ประกอบการท้องถิ่นใน สปป.ลาว ทั่วประเทศมีการตื่นตัวเรื่องการปลูกพืชเพื่อการบริโภคและการส่งออก ทั้งพืชล้มลุกและพืชยืนต้น ทำให้มีความต้องการสินค้าทางการเกษตรเพื่อการขยายพื้นที่ปลูกทั่ว สปป.ลาว อยู่อีกมาก

ปัจจัยบวกและโอกาสของผู้ประกอบการไทย
  • ทำเลที่ตั้งอยู่กึ่งกลางของเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Corridor) ซึ่งเชื่อมโยงระหว่างจีน-สปป.ลาว-ไทย-สิงคโปร์ และระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Corridor) เชื่อมโยงระหว่างเวียดนาม-สปป.ลาว-ไทย-เมียนมา
  • สิทธิพิเศษทางด้านภาษีทั้งจากกรอบความตกลงระหว่างประเทศและสิทธิพิเศษจากการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาลโดยตรง
  • ต้นทุนการผลิตต่ำ อันเนื่องมาจากอัตราค่าแรง ค่าไฟฟ้า และค่าสัมปทานที่ดินมีราคาถูก เมื่อเทียบกับระยะเวลาของสัมปทานที่ให้อนุญาต
  • สปป.ลาว ยังมีความต้องการพัฒนาองค์ความรู้ทางการเกษตร มีความต้องการการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี
ข้อควรระวัง
  • ความแน่นอนของ MOU เนื่องจากเป็นการลงนามระหว่างเอกชน จึงต้องตรวจสอบความชัดเจนของข้อตกลง ก่อนตัดสินใจลงทุน
  • มาตรฐานผลิตภัณฑ์และขั้นตอนการกักกันโรค ตามเกณฑ์ของประเทศปลายทาง ที่อาจมีผลต่อต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น
  • มีต้นทุนการจัดการพื้นที่สัมปทาน เช่น การป้องกันการบุกรุกจากคนในพื้นที่ หรือสัตว์เลี้ยงในพื้นที่เข้ามาทำลายผลผลิตทางการเกษตร
  • ปัญหากฎหมายทับซ้อนอันเนื่องจากการตีความกฎหมายที่ต่างกันในแต่ละแขวง
  • รัฐบาลมีนโยบายในการควบคุมการโอนเงินตราออกนอกประเทศ
คำแนะนำจากสำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในเวียงจันทน์ สปป.ลาว
  • ศึกษาเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนการลงทุน รวมถึงพิจารณาใช้ที่ปรึกษาทางกฎหมายเพื่อลดความเสี่ยงการลงทุน
  • มีพันธมิตรท้องถิ่นเป็นคู่ร่วมลงทุน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการติดต่อกับหน่วยงานท้องถิ่นด้านกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ
  • ใช้บริการประกันความเสี่ยงการลงทุนกับ EXIM BANK ซึ่งมีความคุ้มครองครอบคลุมความเสี่ยงจากการจำกัดการโอนเงินหรือแลกเปลี่ยนสกุลเงิน ความเสี่ยงจากการเวนคืน หรือการเข้ายึด หรือการโอนทรัพย์สินหรือกิจการของผู้ลงทุนมาเป็นของรัฐบาล ความเสี่ยงจากการเกิดสงครามและเหตุการณ์รุนแรงทางการเมือง และความเสี่ยงจากการที่รัฐบาลของประเทศที่ผู้ลงทุนไปลงทุนไม่ปฏิบัติตามสัญญา ในกรณีที่คำพิพากษาของศาลหรือคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่สามารถนำไปใช้บังคับได้

โดยสรุปแล้ว บันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ได้จุดประกายความหวังใหม่ในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้แก่เกษตรกรใน สปป.ลาว อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่จะส่งเสริมความสำเร็จของบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ ต้องพึ่งพิงทั้งด้านองค์ความรู้ การบริหารผลผลิต การจัดการสินค้าเพื่อการส่งออก ตลอดจนถึงเงินทุนในการดำเนินการทั้งจากเจ้าของโครงการ และจากผู้สนใจร่วมลงทุนในโครงการทั้งภายในและภายนอก สปป.ลาว จึงต้องจับตามองความคืบหน้าของการดำเนินการในครั้งนี้ ว่า สปป.ลาว จะสามารถผลักดันให้เกิดการผลิตในประเทศเพื่อทำให้สินค้าเกษตรเป็นหัวหอกสำคัญเพิ่มเติมอีกอย่างหนึ่ง ในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้ตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่ ทั้งนี้หากมีข้อสอบถามหรือต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในเวียงจันทน์ อีเมล vientianeoffice@exim.go.th

เขียนและเรียบเรียงข้อมูลโดย

นางสาววีรนุช ธรรมศักดิ์

หัวหน้าสำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในเวียงจันทน์

แหล่งอ้างอิง

https://www.facebook.com/352620018716254/posts/818650705446514/

https://laotiantimes.com/2021/05/31/china-signs-usd-1-5-billion-deal-to-purchase-agricultural-products-from-laos/

https://mgronline.com/indochina/detail/9640000052137

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมิถุนายน 2564


แท็ก รถไฟ   ลาว  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ