Share โลกเศรษฐกิจ: พลิกธุรกิจ SMEs ไทย มองหาตลาดใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 4, 2021 13:12 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

จากหลายวิกฤตที่ผ่านมาพบว่าผู้ประกอบการ SMEs มักเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะวิกฤตที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศเป็นเวลานาน อย่างวิกฤต COVID-19 ที่เกิดขึ้น เพราะราว 99% ของ SMEs ยังคงพึ่งพาตลาดในประเทศเพียงตลาดเดียว และ SMEs ส่วนใหญ่มีเงินทุนสำรองไม่มากพอจะประคองธุรกิจได้นานจนตลาดฟื้นตัว การปรับตัวของ SMEs เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ จึงควรเป็นการมองหาตลาดใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม

ปัจจุบันนับเป็นจังหวะดีที่ SMEs จะขยับออกจากตลาดเดิม ๆ ไปแสวงหาโอกาสในตลาดโลก เพราะแม้เศรษฐกิจโลกรวมถึงไทย จะผ่านพ้นจุดต่ำสุดจากวิกฤต COVID-19 แล้วตั้งแต่ปีที่ผ่านมา แต่การฟื้นตัวกลับสู่ระดับปกติของไทยมีแนวโน้มว่าจะใช้เวลาอีกพอสมควร ส่งผลให้ SMEs ที่พึ่งพาตลาดในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลักยังต้องเหนื่อยยากกับการหารายได้เพื่อประคองธุรกิจ ทั้งนี้ จากคาดการณ์เศรษฐกิจล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 เหลือขยายตัว 1.8% จากคาดการณ์เดิมขยายตัว 3.0% เช่นเดียวกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หลายฝ่ายคาดว่าจะลดลงเหลือเพียงหลักแสนคน จากปกติที่ราว 30-40 ล้านคน ขณะที่ภาคส่งออกจะกลายเป็นเครื่องยนต์หลักที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยในปี 2564 โดยหลายหน่วยงานคาดว่าจะขยายตัวในระดับสองหลัก จากอุปสงค์ในต่างประเทศที่อั้นมาจากในช่วงก่อนหน้า และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในตลาดส่งออกสำคัญของไทยหลายแห่งที่เริ่มฟื้นตัวหลังมีการฉีดวัคซีนมากขึ้น

นอกจากนี้ การมุ่งตลาดในประเทศเพียงอย่างเดียวก็อาจทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลตอบแทนลดลงเรื่อย ๆ จากขนาดตลาดที่เล็กลง เนื่องจากประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (มีประชากรอายุเกิน 60 ปี มากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด) แล้วในปี 2564 และอีกราว 20 ปีข้างหน้าผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ อีกทั้งยังต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากการเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดของคู่แข่ง โดยอาศัยเทคโนโลยีที่เพิ่มความสะดวกในการสั่งซื้อและนำเข้าสินค้า

ทั้งนี้ ตลาดส่งออกที่น่าสนใจเป็นลำดับแรก ๆ ของ SMEs คือ CLMV เนื่องจากผู้บริโภครู้จักและคุ้นเคยกับสินค้าของไทยเป็นอย่างดี การทำตลาดและการติดต่อธุรกิจจึงทำได้ไม่ยากนัก ขณะที่การขนส่งสินค้าและข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนจะเป็นแต้มต่อสำคัญสำหรับสินค้าไทยในการบุกตลาด CLMV นอกจากนี้ การที่รัฐสภาไทยเห็นชอบให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก (ประกอบด้วยประเทศกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และคาดว่าจะเริ่มใช้บังคับต้นปี 2565 จะเป็นอีกโอกาสสำคัญของ SMEs ไทยในการขยายตลาดไปให้ไกลกว่าเดิม เพราะนอกจาก RCEP จะทำให้สินค้าของไทยหลายรายการ อาทิ สินค้าเกษตร อาหารแปรรูป และเครื่องแต่งกาย ได้ประโยชน์เพิ่มเติมจาก FTA ก่อนหน้านี้แล้ว RCEP ยังช่วยลดความยุ่งยากของการปฏิบัติตามกฎถิ่นกำเนิดสินค้าลง และทำให้การส่งออกสะดวกรวดเร็วขึ้นอีกด้วย

นอกจากตลาด CLMV แล้ว ปัจจุบันยังเป็นจังหวะที่ดีในการรุกตลาดที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และฟื้นตัวเร็วเช่นสหรัฐฯ เนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนยังไม่ยุติ โดยทั้งสองประเทศยังเรียกเก็บภาษีระหว่างกันในอัตราสูง SMEs ไทยจึงมีโอกาสในการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ แทนที่จีน ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องประดับ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า บรรยากาศเศรษฐกิจและการค้าโลกที่เริ่มคลี่คลายในปัจจุบันถือเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่ SMEs ไทยจะลองปรับเปลี่ยนมุมมอง (Mindset) และกล้าที่จะออกไปรุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ และลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดในประเทศเพียงตลาดเดียว

Disclaimer: ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกรกฎาคม 2564


แท็ก SME  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ