เรื่องเล่าจาก CLMV: รถไฟฟ้า "New Backbone" ของคนเมืองในเวียดนาม

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 8, 2021 14:25 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

เป็นเวลากว่า 10 ปีในการผลักดันการก่อสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายแรกของเวียดนาม จนกระทั่งมาถึงผลสำเร็จที่เวียดนามได้ปฐมฤกษ์เปิดเดินรถไฟฟ้าขบวนแรก สาย Cat Linh-Ha Dong เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 ซึ่งมีระยะทางประมาณ 13 กม. โดยเป็นการเชื่อมระหว่างสถานีรถไฟฟ้าในกรุงฮานอยเข้ากับสถานีรถไฟข้ามจังหวัด สำหรับราคาตั๋วโดยสารจะคำนวณตามระยะทางที่ผู้โดยสารเดินทาง ซึ่งราคาสูงสุดอยู่ที่ 15,000 ด่องต่อเที่ยวหรือประมาณ 18 บาทต่อเที่ยว ตลอดเส้นทาง และต่ำสุด 8,000 ด่องต่อเที่ยวหรือประมาณ 9.6 บาทต่อเที่ยว สำหรับระยะทางที่สั้นที่สุด ราคาตั๋วโดยสารประเภทรายวันอยู่ที่ 30,000 ด่องต่อคนหรือประมาณ 36 บาทต่อคน (ไม่จำกัดจำนวนเที่ยวในเส้นทางต่อวัน) และค่าตั๋วโดยสารรายเดือนอยู่ที่ 200,000 ด่องต่อคน หรือประมาณ 240 บาทต่อคน

รถไฟฟ้าสายนี้นอกจากจะเป็นระบบขนส่งสาธารณะที่ตอบสนองต่อการเติบโตของชุมชนเมืองในกรุงฮานอยแล้วยังถือเป็นกระดูก

สันหลังในการพัฒนาความเจริญให้ชาวฮานอย ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการลดความแออัดของการจราจร การลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงยังเป็นกลไกนำไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจอีกมากมาย อาทิ การพัฒนาและใช้ประโยชน์ของพื้นที่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจห้างสรรพสินค้าและค้าปลีก ตลอดจนธุรกิจโฆษณาต่าง ๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดการค้าการลงทุนและการจ้างงานตลอด 2 แนวฝั่งของทางรถไฟ

จากข้อมูลตามแผนการก่อสร้างฉบับที่ 1259/QD-TTg กรุงฮานอยมีแผนสร้างรถไฟฟ้าจำนวน 9 สาย ระยะทางรวมกันประมาณ 318 กม. ประกอบด้วยรถไฟสาย Cat Linh-Ha Dong และส่วนต่อขยายอีก 8 สาย ได้แก่

1. รถไฟสายที่ 1 ประกอบด้วย 2 สายย่อย ได้แก่ Ngoc Hoi-Yen Vien และ Gia Lam-Duong Xa (Phu Thuy) ระยะทางรวมประมาณ 36 กม. ปัจจุบันได้รับอนุมัติแผนก่อสร้างแล้วแต่ยังไม่เริ่มการก่อสร้างและยังไม่กำหนดวันแล้วเสร็จ

2. รถไฟสายที่ 2 เริ่มจากสนามบิน Noi Bai-Tran Hung Dao ระยะทาง 11.5 กม. คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2570

3. รถไฟสายที่ 3 มีเส้นทางผ่านสถานี Troi-Nhon ถึงสถานี Ha Noi-Hoang Mai ระยะทางประมาณ 26 กม. เริ่มก่อสร้างเดือนกันยายน 2553 ปัจจุบันเสร็จแล้ว 50% คาดว่าจะเสร็จสิ้นปี 2568 โดยหลังจากปี 2568 จะพัฒนาสายที่ 3 ไปยัง Son Tay รวมระยะทางประมาณ 48 กม.

4. รถไฟสายที่ 4 มีเส้นทางผ่าน Dong Anh-Me Linh มีระยะทางยาวที่สุด 54 กม. สายนี้ออกแบบเป็นวงกลมเชื่อมกับเส้นทาง

1, 2, 3 และ 5 ทั้งนี้ ยังไม่มีแผนการก่อสร้าง แต่ได้รับการอนุมัติเส้นทางแล้ว

5. รถไฟสายที่ 5 มีเส้นทางผ่าน Ba Dinh, Dong Da, Cau Giay และ Nam Tu Liem มีความยาวรวมประมาณ 40 กม. โดยแบ่งเป็นรถไฟใต้ดินระยะทาง 6.5 กม. มีแผนเริ่มก่อสร้างปี 2565 และคาดว่าจะเสร็จสิ้นปี 2569

6. รถไฟสายที่ 6 มีเส้นทางจาก Noi Bai ไปยังเขตเมืองใหม่ทางทิศตะวันตกของ Ngoc Hoi และเชื่อมต่อกับสายที่ 4 ที่ Co Nhue และสายที่ 7 ที่ Duong Noi มีระยะทางรวม 43 กม. ทั้งนี้ ยังไม่ระบุแผนการก่อสร้าง แต่ได้รับการอนุมัติเส้นทางแล้ว

7. รถไฟสายที่ 7 มีเส้นทางผ่าน Me Linh-Nhon New Urban Area-Van Canh-Duong Noi มีระยะทางประมาณ 28 กม. โดยมีส่วนต่อขยายเชื่อมต่อกับสาย 4 และตัดกับสาย 6 ที่ Duong Noi รวมระยะทางทั้งหมดประมาณ 35 กม. ทั้งนี้ ยังไม่ระบุแผนการก่อสร้าง แต่ได้รับการอนุมัติเส้นทางแล้ว

8. รถไฟสายที่ 8 มีเส้นทางจาก Son Dong-Mai Dich (ตัดกับสายที่ 2)-Duong Xa มีระยะทางประมาณ 37 กม. ทั้งนี้ ยังไม่ระบุแผนการก่อสร้าง แต่ได้รับการอนุมัติเส้นทางแล้ว การพัฒนารถไฟฟ้าทั้ง 9 สาย นอกจากจะมีประโยชน์ต่อการช่วยแก้ปัญหาการจราจรในเมืองแล้ว ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนเวียดนาม เพิ่มการจ้างงาน ซึ่งส่งผลถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาทางสังคม โดยเน้นการสร้างและใช้ประโยชน์จากศูนย์การค้า และอสังหาริมทรัพย์ประเภทคอนโดมิเนียมบริเวณรอบสถานีรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ รวมถึงยังมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจชานเมือง ทั้งนี้ จากรายงานของ American Public Transit Association ได้ประเมินมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ตามเส้นทางรถไฟ โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 42% เมื่อเปิดดำเนินการแล้ว

สำหรับผู้ประกอบการไทย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเวียดนามนั้น ถือเป็นโอกาสต่อยอดทางธุรกิจที่สำคัญ ซึ่งนับจากนี้ไปจนถึงปี 2573 รถไฟฟ้าอีก 8 ขบวน คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จ จึงถือเป็นโอกาสสำคัญและมีความท้าทาย โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมห้างสรรพสินค้าและค้าปลีก กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง และกลุ่มสื่อสาร ในการเข้ามาดำเนินธุรกิจและส่งเสริมการค้าการลงทุนบริเวณโดยรอบทางรถไฟฟ้าสถานีใหญ่ และชานเมือง อีกทั้งยังเป็นโอกาสของผู้ประกอบการ SMEs ที่จะเข้าไปเป็น Supply Chain ของนักลงทุนรายใหญ่ซึ่งโอกาสเหล่านี้จะตอกย้ำให้รถไฟฟ้าเป็นกระดูกสันหลังชิ้นใหม่ของชาวเมืองเวียดนาม และจะนำไปสู่ความก้าวหน้าของประเทศเวียดนามในอนาคตอันใกล้

ทั้งนี้ หากมีข้อสอบถามหรือต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในนครโฮจิมินห์ อีเมล hcmcoffice@exim.go.th

เขียนและเรียบเรียงข้อมูลโดย

นายจักรกริช ปิยะศิริกุล

หัวหน้าสำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในนครโฮจิมินห์

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนพฤศจิกายน 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ