การจัดเก็บภาษีสำหรับสินค้านำเข้า-ส่งออกของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 25, 2010 11:22 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ดังเป็นที่ทราบดีแล้วว่า ประเทศจีนเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญรายหนึ่งของประเทศไทย โดยเฉพาะมณฑลกวางตุ้งซึ่งเป็นตลาดหลักในการนำเข้าสินค้าเกษตรไทย เช่น ข้าว ผลไม้เมืองร้อน อาหารแปรรูป เป็นต้น จากสถิติข้อมูลตัวเลขมูลค่าการค้าระหว่างไทยและมณฑลกวางตุ้ง ของสำนักงานศุลกากร มณฑลกวางตุ้งรายงานว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 (มกราคม — กันยายน 2553) มูลค่าการค้าระหว่างไทยและมณฑลกวางตุ้งมีมูลค่าทั้งสิ้น 12,408 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 36.8% โดยแยกเป็นการนำเข้าจากไทยรวม 8,688 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 57.5% การส่งออกไปไทยรวม 3,720 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 29.5% โดยไทยได้ดุลการค้า 4,968 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปี 2552

ในการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเข้าสู่ประเทศจีนจะต้องมีการเสียภาษีตามกฎหมายและระเบียบที่จีนกำหนด โดยสามารถสรุปสาระได้ ดังนี้

(1.) การจัดเก็บตามผู้มีหน้าที่เสียภาษี สามารถแบ่งเป็นภาษีปกติและภาษีพิเศษ

1. 1 ภาษีปกติ ได้แก่ ภาษีนำเข้า ภาษีส่งออกและภาษีผ่านแดน ( transit tax )

  • ภาษีนำเข้า

คือภาษีที่ศุลกากรจีนเรียกเก็บจากผู้นำเข้าสินค้าและสิ่งของเข้ามาในประเทศจีน โดยแบ่งเป็นการเสียภาษีตามอัตราที่กฎหมายกำหนดและอัตราที่ต้องจ่ายเพิ่มเติมสำหรับสินค้าบางชนิด ปัจจุบันมีสินค้า 7,316 ชนิดที่ต้องเสียภาษีและในจำนวนนี้มีสินค้า 5,332 ชนิด ที่มีการลดลงของภาษี อัตราและระดับที่ต่างกัน

  • ภาษีส่งออก

คือภาษีที่ศุลกากรจีนเรียกเก็บจากผู้ส่งออกสินค้าและสิ่งของไปยังตลาดต่างประเทศ ปัจจุบันมีสินค้าเพียง 23 ชนิด ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนที่จะต้องเสียภาษีส่งออก

  • ภาษีสินค้าผ่านแดน ( transit tax )

คือภาษีที่เรียกเก็บจากสินค้าที่ส่งผ่านประเทศจีนเพื่อส่งต่อไปยังประเทศที่สามปัจจุบันประเทศจีนไม่เรียกเก็บภาษีดังกล่าว

1.2 ภาษีพิเศษ คือภาษีที่เรียกเก็บตามวัตถุประสงค์และข้อตกลงพิเศษ ได้แก่Anti-dumping Duties และAnti-Subsidy Duties โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดเก็บเป็นรายได้ของรัฐและคุ้มครองธุรกิจของผู้ประกอบการในประเทศจีน

(2.) การจัดเก็บภาษีตามมาตรฐานวิธีการคิด สามารถแบ่งเป็น Ad Valorem tariff Specifictariff และ Mixed tariff

2.1 Ad Valorem tariff คือภาษีที่เรียกเก็บตามอัตราส่วนร้อยละของมูลค่าสินค้าที่นำเข้า เช่น สินค้ามูล่า 100 หยวน เสียภาษีร้อยละ 10 จะถูกเก็บภาษี 10 หยวน ตัวอย่างของภาษีดังกล่าว ได้แก่ ภาษีสินค้า ภาษีVAT ภาษีดำเนินธุรกิจ ภาษีอสังหาริมทรัพย์ ภาษีการใช้ที่ดิน เป็นต้น

2.2 Specific tariff คือภาษีที่เรียกเก็บตามหน่วยและปริมาตรของสินค้านำเข้า เช่น สินค้า A กำหนดเก็บภาษี 10 หยวนต่อ 1 ตัน นำเข้าสินค้า 100 ตัน จะต้องเสียภาษี 1,000 หยวน เป็นต้น

2.3 Mixed tariff คือภาษีที่เก็บตามอัตราส่วนร้อยละของมูลค่าสินค้าและตามหน่วยหรือปริมาตรของสินค้านำเข้ามารวมกัน

2.4 Sliding Duties คือภาษีนำเข้าประเภทหนึ่งที่เคิดคำนวณจากการเปลี่ยนแปลงของราคาหรือปริมาณของสินค้าในตลาด กล่าวคือยิ่งราคาสินค้านำเข้าสูงการเสียภาษีก็จะยิ่งต่ำในทางกลับกันหากราคาสินค้านำเข้ายิ่งต่ำการเสียภาษีก็จะยิ่งสูง วัตถุประสงค์การเก็บภาษีดังกล่าวก็ เพื่อรักษาระดับราคาสินค้านำเข้าให้มีระดับราคาเดียวกับสินค้าที่ผลิตในประเทศจีน ปัจจุบันมีเพียงกระดาษหนังสือพิมพ์ชนิดเดียวที่เสียภาษีดังกล่าว

(3) การจัดเก็บตามแหล่งประเทศผู้ส่งออกสินค้าและตามกฎเกณฑ์ข้อตกลง สามารถแบ่งเป็น Most Favoured Nation tariff , Agreement tariff , Special PreferenceและOrdinary Customs Duties

3.1 Most Favoured Nation tariff คือภาษีที่เก็บตามเงื่อนไขของประเทศกลุ่มสมาชิก WTO

3.2 Agreement tariff คือภาษีที่เก็บตามข้อตกลงและเงื่อนไขที่ประเทศจีนทำร่วมกับประเทศต่าง ๆ เช่น ตามกรอบข้อตกลง China-ASEAN Free Trade Area

3.3 Special Preference คือภาษีที่เก็บตามข้อตกลงและเงื่อนไขที่ประเทศจีนทำเป็นพิเศษกับประเทศใดประเทศหนึ่งหรือภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง เช่น ภาษีการค้าชายแดน เป็นต้น

3.4 Ordinary Customs Duties คือภาษีที่เก็บจากประเทศหรือภูมิภาคอื่นๆ ที่มิได้มีข้อตกลงหรือเงื่อนไขทางการค้าใด ๆกับประเทศจีน

ปัจจุบัน ไทยและจีนได้มีความร่วมมือทางการค้าภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรี (FTA) อาเซียน-จีน คือ

  • ความตกลงการค้าสินค้าได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 20 กรกฎาคม 2548
  • ข้อผูกพันการเปิดตลาดด้านการค้าบริการชุดที่ 1 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2550
  • ความตกลงด้านการลงทุนมีผลบังคับใช้เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ผ่านมา

ดังนั้น ผู้ส่งออกและผู้ประกอบการไทยสามารถที่จะใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงการค้าเสรี (FTA) อาเซียน-จีนดังกล่าวในการทำการค้ากับประเทศจีนได้ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยที่ต้องการทำการค้ากับประเทศจีนก็ควรศึกษากฎระเบียบ รายละเอียดขั้นตอนการนำเข้า การเสียภาษีและกฎระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจการค้า การส่งออกได้อย่างคล่องตัวอันจะบังเกิดผลประโยชน์ทางการค้าต่อผู้ส่งออกและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป

สคร.กวางโจว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ