อิตาลีออกระเบียบห้ามใช้ถุงพลาสติกใส่ของ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 20, 2011 13:34 —กรมส่งเสริมการส่งออก

อิตาลีได้ออกระเบียบห้ามใช้ถุงพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ (nonbiodegradable plastic bags) โดยมีผลเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2554 (ระเบียบ EU regulation no. EN 13432) ผู้ซื้อจะได้รับถุงกระดาษ/ถุงที่ย่อยสลายได้แทนถุงพลาสติกแบบเดิม ซึ่งสมาคม Farmers' Union Coldiretti เรียกว่าเป็นการปฏิวัติแนวทางการซื้อสินค้าที่ทำให้การค้นพบพลาสติกมากว่า 100 ปีต้องสูญสิ้นไป

อย่างไรก็ดี อิตาลียังไม่มีความพร้อมในการเริ่มใช้ระเบียบนี้ ทำให้รัฐบาลได้ผ่อนผันให้ยังคงใช้ถุงพลาสติกได้จนกว่าสต๊อกสินค้าที่มีอยู่จะหมดไป (โดยผ่อนผันให้สำหรับซุปเปอร์มาเก็ตจนถึง 30 เมษายน 2554, สำหรับห้างสรรพสินค้า (Department Store) จนถึง 31 สิงหาคม 2554 และร้านค้าย่อยจนถึง 31 ธันวาคม 2554) ทั้งนี้จะมีคณะกรรมการที่ได้รับมอบอำนาจตรวจสอบการปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามระเบียบที่วางไว้ โดยรัฐบาลได้เริ่มวางแผนการห้ามใช้ถุงพลาสติกมาตั้งแต่ปี 2550 และกำหนดให้เริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2554 และขยายเวลาออกไปอีก 1 ปี

คนอิตาเลี่ยนบริโภคถุงพลาสติก 20 พันล้านถุงต่อปี จากผลการวิจัยพบว่า ถุงพลาสติกจะยังคงไม่ย่อยสลายไปอย่างน้อย 15 ปี และอย่างมากถึง 1,000 ปี ทำให้เกิดมลพิษต่ออากาศ ทะเล แม่น้ำและป่า ในส่วนของผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนพบว่า 73% ยินดีที่จะใช้ถุงทางเลือกอื่นในการซื้อของแทนถุงพลาสติก ซึ่งรวมถึงถุงที่ย่อยสลายได้ ถุงผ้าที่ทำจากใยธรรมชาติ เช่น ฝ้าย ปอ และวัสดุอื่นๆ

ทั้งนี้รัฐบาลได้ออกแคมเปญทางทีวีประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบล่วงหน้าแล้วและมีการรณรงค์ห้ามใช้ถุงพลาสติก โดยรัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมได้ให้ความเห็นว่า การห้ามใช้ถุงพลาสติกนี้จะส่งผลในด้านบวกโดยทาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยต่อการใช้ชีวิตและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รวมถึงทำให้เกิดการอนุรักษ์โลกด้วย

ในทางกลับกันสมาคมผู้ผลิตพลาสติก (Unionplast) เห็นว่า ทางสหภาพยุโรปไม่ได้ออกระเบียบห้ามใช้พลาสติกอย่างชัดเจนและถุงพลาสติกก็ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสามารถนากลับไปรีไซเคิลได้ส่วนถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้ก็ไม่แข็งแรงฉีกขาดได้ง่ายและมีต้นทุนที่สูงกว่าถึง 3 เท่า ทั้งนี้ ผู้ผลิตถุงพลาสติกอิตาลีหลายรายได้ร้องขอให้รัฐบาลเลื่อนการบังคับใช้ระเบียบนี้ออกไปก่อนโดยอ้างว่าหากบังคับใช้จะส่งผลให้การจ้างงานลดลงและอาจทำให้บริษัทต้องปิดกิจการ

อย่างไรก็ดี ผลจากการออกระเบียบทำให้ซุปเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ตขานรับนโยบายและเริ่มปฏิบัติตามระเบียบแล้วดังนี้

Conad เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตที่มีส่วนร่วมในการริเริ่มนำถุงที่ย่อยสลายได้มาใช้ในมิลานและแคว้น Piedmonte และยุติการใช้ถุงพลาสติกแบบดั้งเดิม

          Despar (Despar, Eurospar และ Interspar) ที่ตั้งอยู่ในแคว้น Veneto และเมืองเฟอร์รารา ได้เริ่มโครงการ           Ecorispetto เพื่อนำเสนอลูกค้าที่ใช้ถุงพลาสติกแบบดั้งเดิมเปลี่ยนมาใช้กระเป๋าผ้าฝ้ายมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2552

Esselunga ในแคว้นที่มีซูเปอร์มาร์เก็ต Esselunga จะให้ถุงช้อปปิ้งที่ทำจากผ้าฝ้าย Il Gigante เริ่มใช้ถุงที่ย่อยสลายได้

Pam เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตที่มีส่วนร่วมในการริเริ่มนำถุงที่ย่อยสลายได้มาใช้ในมิลานและแคว้น

Piedmont และยุติการใช้ถุงพลาสติกแบบดั้งเดิม

Sma - Simply ได้เริ่มทำให้ลูกค้ามีความรู้สึกที่จะไม่ใช้ถุงพลาสติกแบบดั้งเดิม

Unes เริ่มรณรงค์ในร้าน (55 แห่ง) เพื่อยุติการใช้ถุงพลาสติกไปตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2553

Hyper สนับสนุนให้ลูกค้าซื้อถุงย่อยสลายได้โดยขายในราคาเดียวกันกับถุงพลาสติก

Selex ในบางร้านค้าได้เปิดตัวถุงผ้าแบบ Nonwoven และถุงไนล่อน

Auchan ลูกค้าสามารถเลือกถุงพลาติกที่นำมาใช้ใหม่หรือทำจากกระดาษแข็งหรือถุงกระดาษได้

คาร์ฟูร์ (GS และ DiperDi) ได้ทดแทนการใช้ถุงพลาสติกแบบดั้งเดิมเป็นชนิดที่ย่อยสลายได้ตั้งแต่กรกฎาคม 2552 โดยคาร์ฟูร์เสนอทางเลือกคือ ถุงกระดาษ กล่องกระดาษแข็ง กระเป๋า Cabas ซึ่งสามารถนำมาแลกคืนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในกรณีที่มีการแตกหัก

Coop ได้ยุติการใช้ถุงพลาสติกแบบดั้งเดิมไปแล้ว

Unicoop Florence ได้ยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกแบบดั้งเดิมแล้วตั้งแต่พฤษภาคม 2552

Coop Adriatica ได้เปลี่ยนการใช้ถุงพลาสติกแบบดั้งเดิมเป็นถุงแบบย่อยสลายได้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2552 ในซุปเปอร์มาร์เก็ตในเครือของบริษัท ในแคว้น Emilia แคว้น Veneto แคว้น Marche และแคว้น Abruzzo

Coop Central Italy อิตาลีกลาง ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2553 Coop Central Italy ได้ให้คำแนะนำแก่ลูกค้าในการใช้ถุงแบบนำกลับมาใช้ซ้ำที่ทำจากวัสดุคงทน (เช่น ทำจาก polypropylene ฝ้ายและปอกระเจา( โดยสมาชิกจะได้รับถุงแบบนำกลับมาใช้ซ้ำได้ฟรี (หนึ่งใบต่อ 1 บัตรสมาชิก( ทั้งนี้ได้ยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกแบบดั้งเดิมไปตั้งแต่เดือนมีนาคม 2553

Coop Estense (ตั้งอยู่ในแคว้น Emilia แคว้น Puglia และแคว้น Abruzzo) ได้เริ่มเปลี่ยนเอาถุงพลาสติกออกไปจากร้านทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 และแทนที่ด้วยถุงแบบย่อยสลายได้

Coop North East ได้เริ่มประชาสัมพันธ์การใช้ถุงแบบนำมาใช้ซ้ำและถุงแบบย่อยสลายได้มาตั้งแต่เดือนกันยายน 2552

Unicoop Tirreno ได้ใช้ถุงแบบย่อยสลายได้มาตั้งแต่ตุลาคม 2552 )113 จุดขายในสี่แคว้นทางภาคกลางและภาคใต้(Sait -- Trentino Coop ยกเลิกจำหน่ายถุงพลาสติกและแทนที่ด้วยถุงย่อยสลายได้หรือถุงที่นำมาใช้ใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

Crai ใช้ถุงแบบย่อยสลายได้ ถุงรีไซเคิลและถุงนำมาใช้ใหม่แทนถุงพลาสติก

Decathlon ได้ทดแทนถุงพลาสติกด้วยถุงย่อยสลายได้ในทุกสาขาแล้ว

IKEA ไม่ได้ใช้ถุงพลาสติกแบบดั้งเดิม ปรกติใช้ถุงกระดาษหรือถุงกันน้ำให้ลูกค้า

Leroy Merlin ยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกแล้วทุกสาขา (23 แห่ง) และใช้ถุงย่อยสลายได้แทนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

ข้อมูลผลิตภัณฑ์พลาสติกในอิตาลี (HS code 39 วัตถุดิบพลาสติก และ HS code 392321 ถุงพลาสติก)

1. การผลิต

คาดว่าในปี 2553 การผลิตวัสดุพลาสติกในประเทศอิตาลีจะมีมูลค่า 3.7 ล้านยูโร เพิ่มขึ้น 6% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของตลาดหุ้น และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างปี 2552 และปี 2551 พบว่ามีอัตราการขยายตัวลดลง -14% และ -9% ตามลำดับ และในปี 2554 คาดว่าจะมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้น +3%

ส่วนการผลิตสินค้าถุงพลาสติกคาดว่า ในปี 2553 มีจำนวน 260,000 ตัน มีจำนวนผู้ผลิตประมาณ 1,000 ราย และมีจำนวนคนงานประมาณ 4,000 คน

สำหรับต้นทุนการผลิตสินค้าถุงพลาสติกไบโอ (Biodegradable plastic bags) โดยทั่วไปแบ่งออกเป็น

  • ถุงพลาสติกไบโอที่ทำจากแป้งมัน มีต้นทุนสูงกว่าถุงพลาสติกธรรมดา 20% (เนื่องจากจะต้องมีความหนากว่าปรกติและใช้วัตถุดิบที่มีราคาแพงกว่า)
  • ถุงพลาสติกที่ทำจาก OXO degradable มีต้นทุนสูงกว่าถุงพลาสติกไบโอที่ทำจากแป้งมัน 10% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเร็วที่ลูกค้าต้องการให้มีอัตราการย่อยสลาย

2. การบริโภค

แบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมได้แก่

2.1 บรรจุภัณฑ์ มีสัดส่วนการใช้พลาสติก 47%

2.2 อุตสาหกรรมก่อสร้าง มีสัดส่วนการใช้พลาสติก 14%

2.3 อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องใช้อิเลคทรอนิคส์ มีสัดส่วนการใช้พลาสติก 9%

2.4 เฟอร์นิเจอร์ มีสัดส่วนการใช้พลาสติก 4%

2.5 การขนส่ง มีสัดส่วนการใช้พลาสติก 4%

2.6 รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถยนต์ใช้ในเชิงพาณิชย์ มีสัดส่วนการใช้พลาสติก 22%

3. แนวโน้มตลาด

ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตพลาสติกของอิตาลี (Plastic Consult) รายงานว่า ตลาดผลิตภัณฑ์พลาสติกของอิตาลีในช่วงปี 2553 ยังคงซบเซา การบริโภคพลาสติกในตลาดอิตาลีโดยรวมมีจำนวน 4.7 พันล้านตัน เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยคือ 0.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน

สำหรับผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด (ยกเว้น LD/LLDPE, PS และ PU ซึ่งใช้สำหรับของเด็กเล่นภาชนะ การเคลือบ ก๊าซและท่ออื่นๆ) ยังคงมีความต้องการต่ำเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2552 กล่าวคือ มีการบริโภคเพิ่มขึ้น ได้แก่ PET ใช้สำหรับขวด บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร (0.8%) พลาสติกพีวีซีใช้สำหรับทำพื้น กรอบหน้าต่าง (8.6%) โดยจะเห็นได้ว่าพลาสติกโพลิเมอร์ดังกล่าวมีอัตราการขยายตัวลดลงเมื่อเทียบกับปี 2552 (ยกเว้น PET ยังคงที่)

ทั้งนี้การบริโภคที่ลดลงเป็นผลอันเนื่องมาจากสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ทำให้ผู้บริโภคขาดกำลังซื้อทั้งในภาคก่อสร้างและภาคอุตสาหกรรมรถยนต์

4. การนำเข้า

อิตาลีนำเข้าถุงพลาสติก (พิกัด 392321 - sack, bag thylene) จากทั่วโลกมูลค่าเฉลี่ยปีละ 120 ล้านเหรีญสหรัฐฯ ปริมาณเฉลี่ยปีละ 47,000 ตัน โดยมีประเทศที่อิตาลีนำเข้าสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน เยอรมัน มาเลเซีย เวียดนาม และเนเธอร์แลนด์

การนำเข้าจากไทย อิตาลีนำเข้าถุงพลาสติกจากไทยเป็นอันดับที่ 12 มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 86.19% ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าพลาสติกทั้งหมดจากไทย และมีปริมาณเฉลี่ยปีละ 850 ตัน โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 (มค. - กย.) อิตาลีนำเข้าจากไทยมูลค่า 1.766 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปริมาณ 481 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งส่งออกปริมาณ 301 ตันคิดเป็นร้อยละ 59.80

5. ราคานำเข้า

ราคานำเข้าเฉลี่ย (FOB) สินค้าถุงพลาสติกจากจีนมีราคาค่อนข้างต่ำ (1,853 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน) โดยมีราคาเพียงครึ่งหนึ่งของราคาถุงพลาสติกนำเข้าจากไทย (3,670 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน) ในขณะที่ราคานำเข้าถุงพลาสติกจากเวียดนามต่ำกว่าจีนเล็กน้อย (1,800 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน) ส่วนมาเลเซียและไต้หวันมีราคานำเข้าอยู่ที่ประมาณ 2,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน

6. ภาษีนำเข้า

ภาษีนำเข้าถุงพลาสติก = 6.5%

(ประเทศที่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษี (GSP) เช่น จีน มาเลเซีย เวียดนาม ไทย ไต้หวัน มอรอคโค = 3% และ 0% สำหรับประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป)

7. ระเบียบการนำเข้า

การนำเข้าสินค้าถุงพลาสติกมาต้องมีเอกสารประกอบการนำเข้าดังนี้

1. ใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (FORM A)

2. ใบรับรอง BRC (ใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค)

3. ใบรับรองมาตรฐานสินค้า ISO2008-9001

8. โอกาสของสินค้าไทย

โอกาสของสินค้าถุงพลาสติกแบบย่อยสลายได้ของไทยมีแนวโน้มที่ดีในตลาดอิตาลี เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิตของอิตาลีราว 15% ในขณะที่สินค้าที่ผลิตได้มีคุณภาพได้มาตรฐานเดียวกัน ประกอบกับผู้ผลิตถุงพลาสติกในอิตาลีที่มีความพร้อมในการผลิตถุงพลาสติกแบบย่อยสลายได้ ยังมีเพียงไม่กี่ราย นอกจากนี้ผู้บริโภคอิตาลียังได้ตอบรับการออกระเบียบห้ามใช้ถุงพลาสติกนี้เป็นอย่างดีโดยการทดแทนการใช้ด้วยถุงที่ทำจากวัสดุอื่น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรวางแผนเจาะตลาดนี้โดยเร็ว โดยการใช้กลยุทธ์ต่างๆ เช่น การปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตสินค้าจากเดิมให้เป็นสินค้าที่สามารถย่อยสลายได้ง่าย หรือการร่วมทุนกับบริษัทอิตาลีในการผลิตและส่งออกมายังอิตาลี เพื่อให้ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีรวมถึงความรู้ด้านการออกแบบและเพิ่มมูลค่าสินค้า รวมทั้งการเจาะตลาดเฉพาะที่มีความต้องการใช้ถุงพลาสติกจำนวนมาก เช่น โรงพยาบาล สำนักงานเทศบาลของเมืองต่างๆ และสถานที่คุมขังนักโทษ นอกเหนือจากร้านค้าและซุปเปอร์มาเก็ตต่างๆ เป็นต้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโรม

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ