สถานการณ์น้ำท่วมและพายุไซโคลนรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 17, 2011 15:40 —กรมส่งเสริมการส่งออก

รัฐควีนส์แลนด์ ออสเตรเลียประสบกับภาวะพายุฝนและน้ำท่วมตั้งแต่ต้นธันวาคม 2553 โดยครอบคลุมประมาณ 3 ใน 4 ของพื้นที่รัฐควีนส์แลนด์ รวมทั้งบริสเบนซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐ และท่วมส่วนเหนือของรัฐนิวเซาท์เวลล์ นอกจากนั้น 1 ใน 3 ของพื้นที่รัฐวิกตอเรียก็ถูกน้ำท่วม ประมาณมากกว่าร้อยละ 30 ของพื้นที่การเกษตรปลูกผลไม้และผักของออสเตรเลียได้รับผลกระทบ ผลผลิตผักและผลไม้ของควีนส์แลนด์มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 28 ของผลผลิตทั้งหมดของประเทศ ผลิตผลธัญพืชของ ควีนส์แลนด์ เช่น ข้าวสาลี ข้าวฟ่าง ข้าวโพด และ chickpea เสียหายประมาณร้อยละ 40 สินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ บีทรูท ถั่วลิสง มันฝรั่งหวาน (sweet potatoes) zucchini ส้มแมนดาริน พริก ต้นหอม กระหล่ำ พริกหวาน ถั่วลันเตาและถั่วหวาน (sugarsnap peas) อโวคาโด ข้าวโพดหวาน มะเขือเทศ แตงโม และมะนาว (lemons)

ต่อมาเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2554 รัฐควีนสแลนด์ออสเตรเลียโดยเฉพาะทางตอนเหนือต้องประสบกับการทำลายของพายุไซโคลนยาซี รัฐบาลออสเตรเลียคาดว่าภาวะน้ำท่วมตั้งแต่เดือนธันวาคม กับพายุไซโคลนนาซี ก่อให้เกิดความเสียหายทั้ง ภาคเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ รวมเป็นมูลค่า 20 พันล้านเหรียญออสเตรเลีย

พื้นที่ที่ได้รับความเสียหายที่เกิดจากพายุในครั้งนี้ ในภาวะปกติสามารถก่อให้เกิดผลผลิตได้ประมาณ 1 พันล้านเหรียญออสเตรเลียต่อปี โดยแบ่งเป็นภาคการเกษตรเป็นมูลค่า 700 ล้านเหรียญ และภาคอื่นๆรวมถึงการท่องเที่ยวประมาณ 300 ล้านเหรียญ โดยสินค้าภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดและหนักที่สุดจากพายุนาซี ได้แก่ สวนกล้วยและไร่อ้อย โดยร้อยละ 85 ของผลผลิตกล้วย และ หนึ่งในสามของไร่อ้อยเพื่อผลิตน้ำตาลของประเทศออสเตรเลียได้รับความเสียหาย

รัฐควีนส์แลนด์เป็นรัฐหลักที่สามารถผลิตน้ำตาลส่งออก ออสเตรเลียเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลเป็นอันดับสามของโลกรองจากบราซิลและประเทศไทย โดยแหล่งผลิตที่สำคัญได้แก่รัฐควีนส์แลนด์ การทำลายของพายุไซโคลนกินพื้นที่ประมาณ 1 ใน 3 ของพื้นที่การผลิตทั้งหมดของออสเตรเลีย ส่งผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดนิวยอร์คสูงมากที่สุดในรอบ 30 ปีในราคาปอนด์ละ 36.08 เซนต์ และสูงที่สุดในตลาดลอนดอนในราคา 857 เหรียญ/ตัน นอกจากนี้โรงงานน้ำตาลอีกหนึ่งแห่งในควีนส์แลนด์ได้ปิดตัวลงหลังจากที่ผลผลิตอ้อยถูกทำลายเสียหายเกือบทั้งหมด

นักวิเคราะห์จาก Robobank คาดว่า ผลผลิตน้ำตาลของออสเตรเลียระหว่างเดือนมิถุนายน — ธันวาคม 2554 อยู่ที่ประมาณ 3.5 ล้านตัน น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 4.2-4.3 ล้านตัน ส่วนนักวิเคราะห์จากแหล่งอื่นๆคาดว่าผลผลิตน้ำตาลของเดือนมิถุนายน-ธันวาคมน่าจะอยู่ที่ 3.6-3.8 ล้านตัน โดยเมือง Tully ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญอาจมีปริมาณอ้อยประมาณ 1.4 —1.5 ล้านตันเท่านั้นในปีนี้ น้อยกว่าที่คาดว่าจะสามารถผลิตได้ที่ 1.8-2 ล้านตัน ทั้งนี้ บริษัท Queensland Sugar Limited คาดว่า ปริมาณการส่งออกน้ำตาลจากควีนสแลนด์ในปีนี้จะลดลงเหลือ 2.2 ล้านตันจากเดิมที่คาดว่าสามารถส่งออกได้ 3 ล้านตัน ทั้งนี้ ปกติออสเตรเลียมีปริมาณอ้อยประมาณ 32-35 ล้านตัน/ปี โดยสามารถผลิตน้ำตาลได้ประมาณ 4.4 ล้านตัน และส่งออกประมาณร้อยละ 80 ของผลผลิตทั้งหมด

รัฐมนตรีการค้าของออสเตรเลีย นาย Wayne Swan คาดว่าความเสียหายจากน้ำท่วมและพายุจะทำให้ออสเตรเลียมีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกลดลงร้อยละ 0.25 และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ขณะนี้ซุปเปอร์มาร์เกตใหญ่ของออสเตรเลียได้ขึ้นราคาผลไม้เพิ่มขึ้นอีกเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ และคาดว่าจะส่งผลต่อเนื่องไปอีกหลายเดือน นอกจากนี้ ราคากล้วยหอมอาจจะสูงขึ้นไปถึงกิโลละ 15 เหรียญเท่ากับราคาหลังจากที่พื้นที่เพาะปลูกกล้วยได้รับความเสียหายจากพายุ Larry เมื่อปี 2006 ส่วนสินค้าที่มีส่วนผสมของน้ำตาลก็อาจมีราคาเพิ่มขึ้นด้วย

ภาวะน้ำท่วมและพายุไซโคลนนอกจากจะสร้างความเสียหายให้กับสินค้าเกษตร ปศุสัตว์ การท่องเที่ยวแล้ว ยังส่งผลก่อให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐาน อาคารบ้านเรือน ยานพาหนะ สถานบริการและธุรกิจต่างๆ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย นาง Julia Gillard ได้ประกาศแผนฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายเพื่อทำการซ่อมแซมทางรถไฟ รถยนต์ สะพาน อุโมงค์ เป็นมูลค่า 5.6 พันล้านเหรียญออสเตรเลีย โดยแบ่งเป็น ฟื้นฟูพื้นที่ในรัฐควีนส์แลนด์ 3.9 พันล้านเหรียญฯ ฟื้นฟูพื้นที่ในรัฐอื่นๆที่ได้รับความเสียหาย 1 พันล้านเหรียญฯ เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย 600 ล้านเหรียญฯ และเงินช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กและเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ 120 ล้านเหรียญฯ โดยจะตัดจากเงินงบประมาณส่วนหนึ่ง และจัดเก็บภาษีจากประชาชนที่มีรายได้มากกว่า 50,000 เหรียญฯขึ้นไป

โอกาสต่อการส่งออกไทย

1. ราคาผัก-ผลไม้ในออสเตรเลียมีการปรับราคาสูงขึ้นเนื่องจากพืชผลได้รับความเสียหาย แต่ ออสเตรเลียยังไม่มีนโยบายที่จะผ่อนคลายมาตรการการนำเข้าที่เข้มงวดเพื่อชดเชย และผัก-ผลไม้ที่ได้รับความเสียหายไม่ได้เป็นผัก-ผลไม้ที่ไทยสามารถส่งออกได้.คาดว่า การนำเข้าผัก-ผลไม้จากไทยคงได้รับประโยชน์บ้างแต่ไม่มากนัก ปัจจุบัน ผัก-ผลไม้สำคัญที่ไทยสามารถส่งออกมายังออสเตรเลียได้ ได้แก่ ฝรั่งแช่แข็ง ส้มโอแกะเปลือกแช่เย็น ทุเรียนแกะเปลือกแช่เย็น/แช่แข็ง มังคุด มะพร้าวอ่อน ลิ้นจี่ ลำไย สับปะรด ข้าวโพดหวาน และหน่อไม้ฝรั่ง

2. ตามแผนฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานเป็นมูลค่า 5.6 พันล้านเหรียญ สินค้าไทยที่น่าจะมีโอกาสในการส่งออกมายังออสเตรเลียสูงได้แก่ วัสดุก่อสร้าง ประเภทต่างๆ อุปกรณ์ไฟฟ้า/โทรศัพท์ เครื่องขุด บดถนน ยานยนต์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รถปิกอัพ เป็นต้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครซิดนีย์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ