การยุติใช้หลอดไฟไส้ร้อนแบบธรรมดา (Incandescent light bulbs)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 11, 2011 12:00 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การยุติใช้หลอดไฟไส้ร้อนแบบธรรมดา (Incandescent light bulbs) และการสนับสนุนการใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์หรือหลอดประหยัดไฟ (Compact fluorescent bulbs) ในประเทศแคนาดา

จาการรายงานข่าวของ CBC News, Vancouver ว่า ภายในปี พ.ศ. 2555 ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ไฟฟ้าทั่วประเทศแคนาดาจะยุติการจำหน่ายหลอดไฟไส้ร้อนแบบธรรมดา (Incandescent Light Bulbs) เนื่องจากได้มีการประกาศมาตรการต่อต้านตั้งแต่ปีพ.ศ. 2550 โดยสาเหตุการยกเลิกนี้เพื่อเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งวัดระดับได้จำนวน 6 ล้านตันต่อปี และยังเป็นการช่วยให้ประชาชนชาวแคนาดาประหยัดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 60 เหรียญดอลลาร์แคนาดาต่อปี โดยลักษณะของหลอดฟลูออเรสเซนต์หรือหลอดประหยัดไฟ (Compact fluorescent bulbs) นั้น เป็นหลอดไฟที่มีประสิทธิภาพการทำงานสูงที่สุดซึ่งใช้พลังงานน้อยกว่าหลอดไฟไส้ร้อนแบบธรรมดาถึงร้อยละ 70 ซึ่งหมายถึงการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ และที่สำคัญนั้นหลอดฟลูออเรสเซนต์สามารถให้พลังงานนานกว่าหลอดหลอดไฟไส้ร้อนแบบธรรมดา 10 เท่า

นอกจากนั้นสำนักข่าว Reuters ได้สัมภาษณ์นาย Gary Lunn รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติของแคนาดา ซึ่งได้รับการแจ้งว่าประเทศแคนาดาจะงดการจัดจำหน่ายหลอดไฟที่ไม่ได้มาตรฐานและหลอดไฟไส้ร้อนแบบธรรมดาอย่างเป็นทางการในปีพ.ศ.2555 นี้ เนื่องจากเป็นมาตรการการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยห้างจัดจำหน่ายสินค้าเฟอร์นิเจอร์ขายปลีกรายใหญ่ IKEA ซึ่งเป็นบริษัทและร้านจำหน่ายอุปกรณ์ตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์ได้หยุดจำหน่ายหลอดไฟไส้ร้อนแบบธรรมดาในประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว และกำลังมีนโยบายที่จะระงับการจัดจำหน่ายหลอดไฟไส้ร้อนแบบธรรมดาในประเทศแคนาดา รวมทั้งในประเทศออสเตรเลียและฝรั่งเศสอีกด้วย

การต่อต้านการใช้หลอดไฟไส้ร้อนแบบธรรมดาในแคนาดานั้นได้เริ่มต้นที่มลฑลบริติชโคลัมเบียเป็นมณฑลแรก ซึ่งในส่วนของมลฑลอื่นๆ ได้มีมาตรการในการรณรงค์ยุติการใช้หลอดสว่างนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2554 และจะมีมาตรการอย่างเป็นทางการในปีพ.ศ. 2555 โดยสาเหตุหลักในการยุติการใช้หลอดไฟไส้ร้อนแบบธรรมดานี้มาจากเหตุผลด้านเทคโนโลยีของหลอดไฟแต่ละประเภท ดังนี้

  • หลอดไฟไส้ร้อนแบบธรรมดานั้นทำงานโดยการเผาไส้หลอดภายในหลอดไฟจนกระทั่งความร้อนทำให้เกิดแสงสีขาว แต่ร้อยละ 90 ของพลังงานนั้นได้ปล่อยความร้อนออกมาด้วย
  • หลอดฟลูออเรสเซนต์นั้นใช้ปริมาณไฟฟ้าเป็นจำนวนน้อยเพื่อกระตุ้นไอปรอทภายในหลอดไฟซึ่งจะทำปฏิกริยากับรังสียูวีที่มองไม่เห็นและสารเรืองแสงภายในก่อนที่จะแปลงเป็นแสงไฟ ในขณะเดียวกันก็มีการโต้แย้งกันเกิดขึ้นสำหรับหลอดฟลูออเรสเซนต์ หลอดไฟชนิดนี้สามารถช่วยรณรงค์ เรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่หลอดไฟก็ก่อให้เกิดการปล่อยสารปรอทด้วยเช่นกัน
ตลาดหลอดไฟฟ้าในประเทศแคนาดา

จากข้อมูลการนำเข้าหลอดไฟฟ้าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2551 — 2553) แคนาดานำเข้าหลอดไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ 432.07 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ โดยในปี2553 นำเข้า (HS code 9405.10 โคมระย้าและโคมไฟฟ้าอื่นๆ สำหรับติดเพดานหรือผนัง ไม่รวมถึงของดังกล่าวชนิดที่ใช้สำหรับให้แสงสว่างแก่ที่สาธารณะกลางแจ้งหรือถนนหลวง) เป็นหลักจากจีน สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก อิตาลี และเยอรมนี โดยนำเข้าจากไทยเป็นลำดับที่ 36 ซึ่งมีมูลค่าคิดเป็น 26,000 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐ โดยเพิ่มขึ้นจาก 9,000 เหรียญดอลล่าสหรัฐในปี 2552

          ลำดับ           ชื่อประเทศ           2552                2553                2010
                                      (Million $ USD)     (Million $ USD)      (% ส่วนแบ่งตลาด)
                    ทั่วโลก                372.210             479.647              100.00
          1         จีน                   174.210             249.460               52.10
          2         สหรัฐอเมริกา           129.080             144.691               30.17
          3         เม็กซิโก                48.354              61.539               12.84
          4         อิตาลี                   6.154               6.472                1.35
          5         เยอรมนี                 3.608               3.480                0.73
          36        ไทย                    0.009               0.026                0.01

ข้อมูลจาก: World Trade Atlas

สรุป

การสนับสนุนการใช้หลอดประหยัดไฟดังกล่าว เป็นเพียงหนึ่งในมาตรการเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งแคนาดาเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญมากกับสิ่งแวดล้อมในลำดับต้นๆของโลก โดยประชากรแคนาดาส่วนใหญ่ได้รับการปลูกฝังค่านิยมดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนปัจจุบันแนวโน้มในการบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ขยายตัวอย่างกว้างขวาง ดังนั้นผู้ประกอบการ/ผู้ส่งออกไทย ควรตระหนักความสำคัญในการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อการขยายโอกาสทางการตลาดในแคนาดาและอื่นๆ ทั่วโลก

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ