รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้าอิตาลี ระหว่างวันที่ ๑๖-๓๑ มีนาคม ๒๕๕๔

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 8, 2011 15:06 —กรมส่งเสริมการส่งออก

๑. ภาวะเศรษฐกิจในช่วง ๒ สัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคม ๒๕๕๔ ยังคงทรงตัว โดยรายงานจาก ISTAT ปรากฎว่ามียอดจำหน่ายปลีกในเดือนมกราคม ๒๕๕๔ ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อน -๑.๒% และ -๐.๓% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (เป็นสินค้าอาหาร -๐.๕% ซึ่งสูงสุดนับแต่ พค. ๒๕๕๓ และสินค้าไม่ใช่อาหาร -๐.๒%)

มูลค่าการค้าด้านอุตสาหกรรม (Industrial Turnover) ในเดือนมกราคม ๒๕๕๔ เพิ่มขึ้น ๘% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น ๑% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

คำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรม (Industrial orders) ในเดือนมกราคม ๒๕๕๔ เพิ่มขึ้น ๑๗.๕% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน แต่ลดลง ๐.๓% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

ดัชนีราคาผู้ผลิต ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ เพิ่มขึ้น +๐.๕% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (เพิ่มขึ้น +๐.๖% ในตลาดภายในประเทศและ +๐.๕% ในตลาดภายนอกประเทศ) และเพิ่มขึ้น +๕.๓% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (เพิ่มขึ้น +๕.๗% ในตลาดภายในประเทศ และ +๔.๕% ในตลาดภายนอกประเทศ)

อุตสาหกกรรมการก่อสร้าง ในเดือนมกราคม ๒๕๕๔ การผลิตในอุตสาหกรรมก่อสร้างของอิตาลีลดลง -๑.๐% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยในช่วงพฤศจิกายน ๒๕๕๓-มกราคม ๒๕๕๔ การผลิตลดลง -๓.๔% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสก่อนหน้า (สิงหาคม - ตุลาคม ๒๕๕๓)

ดัชนีราคาผู้บริโภค ISTAT ได้ประมาณว่าในเดือนมีนาคม ๒๕๕๔ ดัชนีราคาผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้น +๐.๔% จากเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น+๒.๕% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

๒. กระทรวงพลังงานแห่งอิตาลีได้เปิดเผยว่า ตั้งแต่ ๑ เมษายน ๒๕๕๔ เป็นต้นไปอัตราค่าไฟฟ์าและแกซจะเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น ๓.๙% และ ๒% ตามลำดับ ซึ่งมีผลให้ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อปีของครัวเรือนอิตาลีเพิ่มขึ้น ๓๗.๕ ยูโร

๓. ISTAT ได้รายงานว่าการเพิ่มสูงขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ส่งผลให้ในเดือนมกราคม ๒๕๕๔ อิตาลีขาดดุลการค้าถึง ๖.๖ พันล้านยูโร โดยอิตาลีส่งออกเพิ่มขึ้น ๔.๓% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น ๒๕.๑% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ในขณะที่อิตาลีนำเข้าเพิ่มขึ้น ๒.๘% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น ๓๑.๓% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน

๔. กระทรวงสาธารณสุขอิตาลีได้เปิดเผยว่า อิตาลีจะทำการตรวจเข้มสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่น เช่น ปลา ไข่ปลาคาเวียร์ สาหร่าย ซอสถั่วเหลือง และชาเขียว เนื่องจากเกรงว่าสินค้าจากญี่ปุ่นดังกล่าวจะมีการปนเปื้อนจากกัมมันตรังสี และเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวจะไม่กระทบต่อการนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากสินค้าปลา และผักซึ่งมีแหล่งกำเนิดจากญี่ปุ่นคิดเป็น ๐.๑% ของการนำเข้าปลาและผักทั้งหมดเท่านั้น โดยอิตาลีจะทำการสุ่มตรวจสินค้านำเข้าดังกล่าว แต่ไม่รวมสินค้าที่ผลิตก่อนวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นวันที่เกิดแผ่นดินไหว นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขอิตาลียังได้กล่าวย้ำให้ประชาชนอิตาลีที่นิยมทานอาหารญี่ปุ่นเกิดความมั่นใจว่าร้านอาหารญี่ปุ่นในอิตาลีมิได้ใช้ปลาจากญี่ปุ่นแต่ใช้ปลาที่ได้จากท้องถิ่นเอง

๕. นาย Sergio Marchionne ผู้บริหารของบริษัทเฟี๊ยตซึ่งผลิตรถยนต์รายใหญ่ในอิตาลีได้เปิดเผยว่าวิกฤตปัญหาจากแผ่นดินไหวในญี่ปุ่นส่งผลกระทบต่อความต้องการในตลาดต่างประเทศน้อยมากและเป็นผลกระทบทางด้านจิตใจมากกว่า นอกจากนี้ยังเห็นว่าปัญหาจากญี่ปุ่นดังกล่าว ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากปัญหาความไม่มั่นคงในแถบแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลางอาจทำให้ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปบางประเทศเกิดความกลัวบ้าง แต่ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

๖. สมาคมผู้ผลิตรถรถยนต์แห่งสหภาพยุโรป (The European Carmakers' Association) ได้เปิดเผยว่ายอดจำหน่ายรถยนต์เฟี๊ยตในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ได้ลดลงอย่างมากและติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน คือ ลดลง ๑๖.๗% โดยในเดือนมกราคม ๒๕๕๔ ปรากฎว่ายอดขายรถใหม่จากฐานการผลิตใหญ่ที่เมืองตูรินเท่ากับ ๗๖,๘๐๘ คัน ลดลงจากปีก่อนซึ่งมียอดขาย ๙๒,๒๑๒ คัน ซึ่งเป็นผลจาการที่มาตรการให้เงินช่วยเหลือเพื่อการซื้อรถใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลหลายๆประเทศที่ได้ออกมาใช้ ได้หมดอายุลงเมื่อปีที่แล้วนั่นเอง ทั้งนี้การลดลงของยอดจำหน่ายรถยนต์ดังกล่าว ทำให้ในกุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ สัดส่วนตลาดของเฟี๊ยตในสหภาพยุโรปลดลงเหลือ ๗.๖% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ที่มีสัดส่วนตลาด ๙.๒%

๗. สายการบินแห่งชาติอิตาลี Alitalia ได้เปิดเผยว่าบริษัทจะต้องปลดพนักงานออก ๗๐๐ คน หลังจากที่สามารถเจรจาตกลงกับสหภาพแรงงานในการตัดลดค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอเพื่อให้บริษัทสามารถกลับไปมีผลกำไรได้ โดยสหภาพฯ แจ้งว่าการปลดพนักงานดังกล่าวใช้วิธีสมัครใจ และจะมาจากพนักงานต้อนรับ ลูกเรือและเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดิน อนึง Alitalia ได้ประกาศผลการดำเนินงานทางการเงินซึ่งมีการพัฒนาและแสดงให้เห็นหนทางที่บริษัทจะกลับไปสู่สภาวะที่ดีขึ้น โดยในปี ๒๕๕๓ บริษัทมีรายได้ ๓,๒๒๕ พันล้านยูโร เพิ่มขึ้น ๑๔.๑% และมีผลขาดทุนด้านปฏิบัติการ ๑๐๗ ล้านยูโร ดีขึ้นจากปี ๒๕๕๒ จำนวน ๑๖๗ ล้านยูโร ทั้งนี้ Alitalia ได้ปรับเปลี่ยนสถานะเป็นบริษัทเอกชนตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ หลังจากที่ต้องประสบการล้มละลายเมื่อปี ๒๕๕๑

๘. ผู้ว่าการธนาคารแห่งอิตาลีได้เปิดเผยว่า การเพิ่มภาษีเพื่อลดการขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะของอิตาลีไม่ใช่ทางเลือกที่ถูกต้อง ถึงแม้ว่าอาจจะช่วยให้เศรษฐกิจมีความเจริญเติบโตได้ตามเป์าหมาย แต่ก็เป็นการเพิ่มภาระที่หนักหน่วงให้แก่ผู้เสียภาษีที่มีความซื่อสัตย์ และเห็นว่าแนวทางที่ดีที่สุดคือควรลดภาษีลง เพิ่มรายได้จากการต่อสู้และหลบเลี่ยงภาษีและควบคุมการใช้จ่าย โดยรัฐบาลต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่างการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ และการใช้จ่ายที่เป็นอุปสรรค

ทั้งนี้ในปี ๒๕๕๓ รัฐบาลอิตาลีได้ดำเนินมาตรการเข้มงวดด้านงบประมาณและการตัดลดการใช้จ่าย เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณลง (ปี ๕๓ ขาดดุล ๕.๙% ของ GDP) ให้ได้ตามเป์าหมายตามที่สหภาพยุโรปกำหนดคือ ไม่เกิน ๓%ของ GDP ในปี ๒๐๑๒ แม้ว่าอิตาลียังคงมีปัญหาหนี้สาธารณะที่สูงก็ตาม โดยในเดือนมกราคม ๒๕๕๔ อิตาลีมีหนี้สาธารณะ ๑,๘๗๙.๙ พันล้านยูโร สูงขึ้นเป็นเดือนที่ ๗ ติดต่อกันตั้งแต่กรกฎาคม ๒๕๕๓ เป็นต้นมา

๙. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำมันลิเบียได้ออกมายืนยันว่า ลิเบียจะรักษาสัญญาที่มีกับองค์การพลังงานแห่งอิตาลี (ENI) ซึ่งเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดที่เข้าไปร่วมลงทุนกับ Libya's National Oil Corporation (NOC) ในด้านพลังงานและน้ำมันในลิเบียมูลค่ากว่าพันล้านยูโร โดยอิตาลีนำเข้าน้ำมันจากลิเบียถึง ๕๐๐,๐๐๐ บาร์เรลต่อวัน (หรือประมาณ ๒๐% ของปริมาณน้ำมันทั้งหมด) รวมทั้งกาซธรรมชาติจำนวนประมาณล้านคิวบิกเมตรอีกด้วย ทั้งนี้ปัญหาความไม่สงบในลิเบียรวมทั้งปัญหาในการขนส่ง ส่งผลกระทบทำให้ ENI ต้องหยุดการผลิตน้ำมัน แต่ยังคงผลิตกาซธรรมชาติเพื่อการบริโภคภายในประเทศ และจัดส่งให้โรงไฟฟ์าในอิตาลีจำนวน ๓ โรงอยู่

๑๑. การส่งออก, การนำเข้า และการดุลการค้าของอิตาลี เดือนมีนาคม ๒๕๕๔

       การค้ารวม                                                   % เปลี่ยนแปลง
                      ปี ๒๕๕๓        มกราคม ๒๕๕๔          ปี ๒๕๕๓/๒๕๕๒       มกราคม ๒๕๕๔/

ธันวาคม ๒๕๕๓

การส่งออก             ๑๔๔,๓๓๔             ๓๑,๓๑๒              ๑๖.๗               ๔.๓
การนำเข้า             ๑๖๔,๕๖๒             ๓๔,๓๔๘              ๒๙.๘               ๒.๘
ดุลการค้า              -๒๐,๒๒๘             -๓,๐๓๖

การค้ากับประเทศในสหภาพยุโรป

          การส่งออก                 ๑๗,๔๙๑           ๐.๙
          การนำเข้า                 ๑๗,๙๙๓           ๑.๔
          ดุลการค้า                    -๕๐๒

การค้ากับต่างประเทศนอกประเทศยุโรป

          การส่งออก                 ๑๓,๘๒๑           ๘.๙
          การนำเข้า                 ๑๖,๓๕๕           ๔.๔
          ดุลการค้า                  -๒,๕๓๔

การส่งออก-นำเข้า- ดุลการค้า แยกตามอุตสาหกรรมเดือนมกราคม ๒๕๕๔

         รายการ                  การส่งออก                       การนำเข้า                    การดุลการค้า
                          สัดส่วน            %             สัดส่วน              %              มกราคม ๒๕๕๔
                                       เปลี่ยนแปลง                      เปลี่ยนแปลง
                                        มกราคม                           มกราคม
                                         ๒๕๕๔/                            ๒๕๕๔/
                                        มกราคม                           มกราคม
                                         ๒๕๕๓                             ๒๕๕๓
๑.สินค้าโภคภัณฑ์              ๒๙.๔           ๑๔.๔             ๒๕.๒             ๑๔.๐                - ๑๗๐
-โภคภัณฑ์คงทน                ๖.๓           ๑๒.๙              ๓.๕              ๒.๔                  ๔๔๒
-โภคภัณฑ์ไม่คงทน             ๒๓.๑           ๑๔.๘             ๒๑.๘             ๑๕.๘                - ๖๑๒
๒.สินค้าทุน                  ๓๒.๔           ๒๘.๘             ๒๒.๑              ๘.๖                ๑,๗๑๔
๓.สินค้าชั้นกลาง              ๓๓.๔           ๒๗.๐             ๓๔.๑             ๕๒.๖              - ๒,๒๙๕
(Intermediate goods)
๔.พลังงาน                   ๔.๘           ๕๙.๐             ๑๘.๕             ๕๐.๒              - ๕,๘๐๒
รวม (ยกว้นพลังงาน)          ๙๕.๒           ๒๓.๔             ๘๑.๕             ๒๖.๖                - ๗๕๒
รวมทั้งสิ้น                  ๑๐๐.๐           ๒๕.๑            ๑๐๐.๐             ๓๑.๓              - ๖,๕๕๔
หมายเหตุ : ข้อมูลจากรายงานประจำเดือนมีนาคม ๒๕๕๔ ของ ISTAT

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโรม

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ