ทิศทางเศรษฐกิจอินเดียกับประเทศไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 3, 2011 14:04 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ในอดีตอินเดียใช้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมที่เน้นการพึ่งพาตนเอง โดยรัฐเป็นผู้ลงทุนในกิจการหลักๆ ของประเทศทั้งหมด ได้แก่ กิจการสาธารณูปโภคและสวัสดิการของประชาชน กิจการที่เป็นยุทธศาสตร์และความมั่นคงของประเทศ และอุตสาหกรรมหนัก แต่ก็ให้ความสำคัญในการสนับสนุนกิจการขนาดเล็กของเอกชน ในด้านการค้าอินเดียจำกัดและห้ามนำเข้าสินค้าด้วยมาตรการกฏหมายและกำแพงภาษี นอกจากนี้ ยังควบคุมการลงทุนอย่างเข้มงวดต่อมาอินเดียเริ่มผ่อนคลายมาตรการข้อจำกัดลงเนื่องจากผลกระทบจากวิกฤติการณ์น้ำมัน และสงครามอ่าวเปอร์เซียซึ่งทำให้ประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2534 ทำให้อินเดียต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตามเงื่อนไขการกู้เงินของ IMF โดยประกาศนโยบายเปิดเสรีทางเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป และกำหนดมาตรการที่สำคัญ เช่น ลดการขาดดุลงบประมาณของภาครัฐ การปฏิรูปอัตราแลกเปลี่ยน เพิ่มสัดส่วนถือหุ้นของต่างชาติ ลดการอุดหนุนส่งออกและข้อจำกัดการนำเข้า และตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและระบบขนส่งให้ทันสมัยเพื่อรองรับการลงทุนจากต่างชาติได้มากขึ้น

อินเดียเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเศรษฐกิจ นับตั้งแต่การทำเกษตรแบบโบราณ การเกษตรสมัยใหม่ การหัตถกรรม อุตสหกรรมยุคใหม่ ไปจนถึงธุรกิจบริการ (ซ๊อฟแวร์และการธนาคาร เป็นต้น ) ธุรกิจบริการเป็นแหล่งสร้างรายได้หลักให้กับประเทศอินเดีย โดยมีสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตของประเทศ .

สำหรับในด้านแรงงาน พบว่าประมาณ 1ใน 3 อยู่ในภาคบริการ ในขณะที่กว่าครึ่งหนึ่งในของแรงงานของประเทศอยู่ในภาคการเกษตร เป็นผลให้พรรคร่วมรัฐบาล UPA เน้นนโยบายส่งเสริมพัฒนาชนบทในด้านต่างๆ อาทิเช่น โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชนบทที่ยากจนและกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ห่างไกล ปัจจุบันรัฐบาลได้ผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการค้าการลงทุนลงของต่างชาติลง พร้อมทั้งเพิ่มสัดส่วนการเข้าไปลงทุนโดยตรงของต่างชาติในสาขาต่างๆ เช่น ในสาขาโทรคมนาคม เป็นต้น เพื่อเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การปกป้องในสาขาเกษตรยังคงมีอยู่สูงก่อให้เกิดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของสินค้าจากต่างประเทศ

แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะพบกับการชะลอตัว แต่อินเดียในปี 2551 ก็ยังมีการขยายตัวกว่าร้อยละ 7 เหตุผลสำคัญเบื้องหลังคืออินเดียมีตลาดภายในขนาดใหญ่ที่ช่วยพยุงให้เศรษฐกิจยังคงเดินหน้าต่อไปได้ นอกจากนั้นจุดแข็งประการสำคัญของอินเดียคือการมีประชาชนที่มีการศึกษาดีและพูดภาษาอังกฤษได้เป็นจำนวนมาก เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้อินเดียเป็นประเทศผู้ส่งออกซ๊อฟแวร์ชั้นนำรวมถึงแรงงานด้านซ๊อฟแวร์ด้วย

อินเดียมีความเจริญก้าวหน้าในด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นอย่างยิ่ง โดยเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา สร้างรายได้จากการส่งออกซอฟต์แวร์และบริการจาก 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2534 เป็น 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2553 และคาดว่าในปี 2554 จะมีการส่งออก 5.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว โดยมีบริษัทผู้ส่งออก ซอฟต์แวร์ที่สำคัญ ได้แก่ Infosys Technologies (INFY.BO), Tata Consultancy Services (TCS.BO) และ Wipro (WIPR.BO), ทั้งนี้ เพราะอินเดียมีประชากรร้อยละ 6 ที่มีความเป็นอยู่และการศึกษาดีในระดับนานาชาติ และมีสถาบันการศึกษาคุณภาพสูงที่เน้นการผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้ อินเดียยังเห็นว่าอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เป็นอุตสาหกรรมสะอาดปราศจากมลพิษ เป็นการสร้างทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมีการลงทุนต่ำและมีมูลค่าเพิ่มในการส่งออกสูงมาก ประกอบกับการสนับสนุนอย่างจริงจังของภาครัฐ ทั้งในระดับรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น มีการจัดตั้งองค์กรเฉพาะของภาครัฐ ที่ทำหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาการส่งออกซอฟต์แวร์ คือ Software Technology Parks of India (STPI)รัฐกรณาฏกะ (Karnataka) เป็นรัฐที่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสูงที่สุดของประเทศ โดยเฉพาะที่เมืองบังกาลอร์ (เปลี่ยนชื่อเป็นเบงกาลูลู) ซึ่งเป็นเมืองหลวง ได้ชื่อว่าเป็น Silicon Valley ของอินเดีย ซึ่งเป็นศูนย์รวมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก โดยมีบริษัทชั้นนำกว่า 30 บริษัท และเป็นเมืองที่ดีที่สุดสำหรับการเป็นศูนย์บริการตอบรับทางโทรศัพท์ (call centers) เป็นศูนย์รวมสำนักงานสาขานอกประเทศ (offshore offices) และศูนย์วิจัยและพัฒนาของบริษัทใหญ่ๆ หลายบริษัท อาทิ General Electric Intel และ General Motors ในขณะเดียวกันการเติบโตด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วไปยังเมืองอื่นๆ ด้วย เช่น เจนไน ในรัฐทมิฬนาฑู และ โกลกัตตาในรัฐเบงกอลตะวันตก รวมทั้ง ไฮเดอราบัดและปูเน เป็นต้น โดยรัฐเหล่านี้มีกำลังคนที่มีความสามารถในด้านเทคโนโลยีสูง กอปรกับรัฐบาลของรัฐต่างๆ ได้ทุ่มเทในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับความเติบโตด้านนี้อย่างเอาจริงเอาจังด้วยนอกจากนั้น ความเจริญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่เรียกว่า ITes (IT enabled services) ยังเป็นปัจจัยสำคัญให้เกิดการขยายตัวในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของอินเดีย (เนื่องจากบุคคลกรในสาขา IT มีกำลังซื้อสูง) ที่กำลังเติบโตในเมืองใหญ่ต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วอย่างมีนัยสำคัญ โดยในช่วง 6-8 ปีทีผ่านมา ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่โตเฉลี่ยร้อยละ 35 ต่อปี พบว่าร้อยละ 70 ของการขยายตัวของอาคารสำนักงานเป็นการเช่า/ซื้อของบริษัท IT และ ITes ทั้งของอินเดียและต่างชาติอาคารสำนักงานเป็นการเช่า/ซื้อของบริษัท IT และ ITes ทั้งของอินเดียและต่างชาติ

นับตั้งแต่วิกฤตการเงินในสหรัฐอเมริกาลามเข้าสู่เอเชียและอินเดีย รัฐบาลอินเดียกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอินเดียหลักในตลาดที่มีประชากรกว่า 1.2 พันล้านคนและเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจอินเดียชะลอตัวลงอย่างหนักโดยเฉพาะการลงทุนในประเทศทั้งภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสินเชื่อตึงตัวจากแหล่งเงินกู้ในต่างประเทศและตลาดหลักทรัพย์ของอินเดียเอง ทั้งนี้ในปี 2550 ตลาดหลักทรัพย์อินเดียเป็นแหล่งระดมทุนของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมของอินเดียถึงร้อยละ 40 ของเงินทุนทั้งหมด ประกอบกับประชาชนอินเดียที่มีรายได้จากการขายผลผลิตทางการเกษตรเป็นหลักได้รับผลกระทบจากภาวะสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกร่วงลงอย่างต่อเนื่องส่งผลให้กำลังซื้อของคนชนบทในอินเดียลดลงซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 60 ของประชากรทั้งประเทศ รัฐบาลอินเดียจึงออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 85 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งการสร้างการจ้างงานเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในชนบท การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ยังขาดแคลนอยู่มากในอินเดีย รวมถึงการลดภาษีในรูปแบบต่างๆ แม้ว่าเศรษฐกิจอินเดียจะเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศอินเดียปรับตัวสูงขึ้น)

แม้ว่าอินเดียจะพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย แต่แนวโน้มการพึ่งพาตลาดต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยสัดส่วนการค้าระหว่างประเทศต่อ GDP เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 24.2 ในปี 2545 เป็นร้อยละ 48 ในปี 2553 เศรษฐกิจอินเดียในปี 2553

เศรษฐกิจอินเดียยังคงร้อนแรงในปี 2553 โดย GDP ขยายตัวถึงร้อยละ 8.8 ปัจจัย สำคัญที่เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจอินเดีย ได้แก่ อุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่งเนื่องจากการขยายตัว ของการลงทุนและการผลิตภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งมีการขยายตัวของภาคการส่งออก อันเนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม อินเดียกำลังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากแรงกดดัน ด้านเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง โดยอยู่ที่ร้อยละ 8.4 ในเดือนธันวาคม 2553

ในปี 2553 การบริโภคของภาคเอกชนมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีดัชนีการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนอยู่ที่ระดับร้อยละ 57.6 อีกทั้ง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2553 ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา จากระดับ 68.8 ในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2552 มาอยู่ที่ระดับ 75 ในช่วงเดียวกันของปี 2553

นอกจากนั้น ผลจากการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอินเดียตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ทำให้การลงทุนของภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ สอดคล้องกับดัชนีความ เชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือนตุลาคม 2553 ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ระดับ 162.1 ทั้งนี้ในปี 2553 รัฐบาลอินเดียได้ทยอยปรับลดมาตรการทางการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่ง รวมถึงการชะลอการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ

ในส่วนของภาคการผลิต ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในปี 2553 ยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากช่วง ปลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี การผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสที่สี่ของปี 2553 มีความผันผวนค่อนข้าง สูง โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง จากร้อยละ 11.3 ในเดือนตุลาคม 2553 เป็น 2.7 ในเดือนพฤศจิกายน และ 1.6 ในเดือนธันวาคม 2553 ทั้งนี้เนื่องจากความต้องการสินค้าอินเดีย ในตลาดโลกปรับตัวลดลง ประกอบกับชาวอินเดียชะลอการใช้จ่าย

การขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินเดียยังมีข้อจำกัดเนื่องจากขาดแคลนสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เพียงพอ โดยเฉพาะการขนส่งทางบก ท่าเรือ และพลังงานไฟฟ้า กฎหมายแรงงานที่เข้มงวดในการกำหนดให้องค์กรที่มีลูกจ้างเกินกว่า 100 คนไม่สามารถปลดลูกจ้างออกจากงานได้เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาล ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการขยายกิจการ รวมทั้งระบบราชการที่ซ้ำซ้อน การทุจริต การควบคุมการลงทุนของต่างชาติ และการปกป้องอุตสาหกรรมขนาดย่อมในประเทศ ซึ่งรัฐบาลอินเดียได้เร่งปรับปรุงจุดออ่ นเหล่านี้โดยส่งเสริมการสร้างธรรมาธิบาล และเพิ่มเงินลงทุนก่อสร้างถนน และบริการสาธารณะต่างๆ เพื่อรักษาระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจให้คงที่ในระดับร้อยละ 9 ต่อปีในช่วงปี 2550-2555 ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาแห่งชาติฉบับที่ 11

รัฐบาลอินเดียคาดการณ์ว่า ในปีงบประมาณ 2554 ซึ่งเริ่มในวันที่ 1 เมษายน เศรษฐกิจของประเทศจะขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 9 ซึ่งเป็นระดับที่เศรษฐกิจอินเดียเคยขยายตัวก่อนที่เกิดปัญหาวิกฤติการเงินโลก ปัจจุบันอินเดียมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจหลายประการ อาทิเช่น ชนชั้นกลางมีจำนวนประมาณ 300 ล้านคนซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการเปิดรับ FDI มากขึ้น ทำให้ปัญหาระบบวรรณะที่เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมอินเดียบรรเทาลงไปมาก ปัจจุบันอินเดียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 12 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชียรองจากจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจสำคัญ
Economic indicators:              2006        2007        2008       2009       2010*      2011**
GDP (US$bn) (current prices)     874.8     1,102.4     1,209.7    1,185.7     1,430.0     1,598.4
GDP per capita (US$)               757         940       1,016        982       1,176       1,297
Real GDP growth (% change yoy)     9.8         9.4         7.3        5.4         8.8         8.4
Current account balance (US$m)  -9,299     -11,285     -33,330    -29,125     -44,093     -49,859
Current account balance (% GDP)   -1.1        -1.0        -2.8       -2.5        -3.1        -3.1
Goods & services exports (% GDP): 22.7        21.2        24.7       23.9        21.2        21.7
Inflation (% change yoy)           6.2         6.4         8.3        6.3        13.2         6.7
ที่มา: www.dfat.gov.au/
* ตัวเลขเบื้องต้น
          นายไพศาล มะระพฤกษ์วรรณ ผอ. สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ เมืองเจนไน กล่าวว่า ปัจจุบันคนอินเดียมีกำลังซื้อสูงขึ้น มีเศรษฐีใหม่คนชั้นกลางกว่า 300 ล้านคน อันเนื่องมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะด้าน IT และยานยนต์ จึงเป็นโอกาสดีที่สินค้าไทยไทยจะสามารถเจาะตลาดได้มากขึ้น โดยสินค้าไทยที่มีศักยภาพ ได้แก่ สินค้าอาหาร ชิ้นส่วนยานยต์ รองเท้า/ชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์หนังฟอก ผลไม้แปรรูป น้ำผลไม้ โทรทัศน์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ หม้อแปลง ลิฟต์ บันไดเลื่อน สิ่งปรุงแต่งรสอาหาร เฟอร์นิเจอร์ ไม้อัด ไม้ยางพารา ไฟเบอร์บอร์ด กระดาษ ของเล่น/เฟอร์นิเจอร์/ของใช้เด็ก ผลิตภัณฑ์พลาสติก เม็ดพลาสติก เมลามีน ยาง/ผลิตภัณฑ์ อลูมิเนียม และทองรูปพรรณ (อินเดียบริโภคทองคำมากที่สุดในโลก)
          ปัจจุบันสินค้าส่งออกของไทยได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการลดภาษีภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดีย (TIFTA) และกรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) ทำให้สินค้าส่งออกหลายรายการมีแนวโน้มเข้าสู่ตลาดอินเดียได้มากขึ้น เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
          FTA ไทย-อินเดีย  ไทยและอินเดียได้ตกลงลดภาษีระหว่างกันในรายการสินค้าเร่งลดภาษี (Early Harvest Scheme) จำนวน 82 รายการ โดยทั้ง 82 รายการมีอัตราภาษี 0% ปัจจุบัน ไทย-อินเดียอยู่ระหว่างการเจรจาเพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมการเปิดเสรีสินค้าในส่วนที่เหลือ สินค้าที่มีศักยภาพส่งออกไปอินเดียภายใต้ FTA ไทย — อินเดีย ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ อะลูมิเนียมเจือ เครื่องประดับเพชรพลอย โพลิคาร์บอเนต ชิ้นส่วนยายนยนต์ พัดลม และเครื่องจักรกลการเกษตร ตรวจสอบข้อมูลสินค้าที่ได้รับประโยชน์จาก FTA ไทย — อินเดีย(TIFTA)ได้ที่ http://www.dft.go.th/level4Frame.asp?sPage=the_files/$$12/level3/fta_ind.htm&level3=1068
          FTA อาเซียน-อินเดีย มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ครอบคลุมสินค้ากว่า 4,800 รายการ โดยสินค้าที่มีศักยภาพ ได้แก่ กรดเทเรฟทาลิก เครื่องยนต์ดีเซล เอทิลีน ผ้าใบยางรถยนต์ ถังเชื้อเพลิง ยางสังเคราะห์ และเครื่องรับวิทยุ เป็นต้น ตรวจสอบข้อมูลสินค้าที่ได้รับประโยชน์จาก FTA อาเซียน — อินเดีย(AIFTA) ได้ที่ http://www.dft.go.th/level4Frame.asp?sPage=the_files/$$12/level3/Asean_India.htm&level3=1236

          ดร. ไพศาล มะระพฤกษ์วรรณ
          สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ เมืองเจนไน

          ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ