๑. ภาวะเศรษฐกิจและการค้าในช่วง ๒ สัปดาห์แรกของเดือนเมษายน ๒๕๕๔ ค่อนข้างทรงตัว โดยรายงานจาก ISTAT แจ้งว่าในปี ๒๕๕๓ รายได้ของครอบครัวอิตาเลี่ยนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยคือ ๐.๙% ในขณะที่กำลังซื้อลดลง ๐.๖% และความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของครอบครัวอิตาเลี่ยนก็ลดลงเหลือเพียง ๑๒.๑% (ลดลง ๑.๓% จากปี ๒๕๕๒) อย่างไรก็ดี ผลกำไรของบริษัทที่มิใช่ผู้ประกอบการด้านการเงินเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น ๔๑.๕% (เพิ่มขึ้น ๐.๕%)
๒. ISTAT ได้รายงานว่าในปี ๒๕๕๓ อัตราการว่างงานในอิตาลีเพิ่มขึ้น ๘.๔% สูงสุดนับตั้งแต่เริ่มใช้ระบบการประมวลผลใหม่ในปี ๒๕๔๗ โดยในไตรมาส ๔ ของปี ๒๕๕๓ อิตาลีมีอัตราการว่างงานสูงถึง ๘.๗% (โดยเฉพาะอัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวเพิ่มขึ้น ๒๙.๘%) ส่วนในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ อัตราการว่างงานดีขึ้นเล็กน้อย โดยมีอัตราการว่างงานอยู่ที่ ๘.๔% (ลดลง๐.๒% จากเดือนมกราคม ๒๕๕๔ และลดลง ๐.๑% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน)
๓. ISTAT ได้รายงานการขาดดุลงบประมาณ (% ของ GDP) ของอิตาลีลดลงจาก ๕.๓% ในปี ๒๕๕๒ เป็น ๔.๕% ในปี ๒๕๕๓ (เฉพาะไตรมาส ๔ ของปี ๒๕๕๓ การขาดดุลลดลงเหลือ ๓.๙% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดดุล ๔.๑%) ขณะที่ในปี ๒๕๕๓ อิตาลีมีรายได้เพิ่มขึ้น ๐.๙% (ปี ๒๕๕๒ อิตาลีมีรายได้ลดลงเหลือ ๒.๙%)
๔. ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม รายงานจาก ISTAT ปรากฎว่าในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ๑.๔% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเพิ่มขึ้น ๒.๓% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะผลผลิตรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นถึง ๒๐.๓%
๕. บริษัทเฟี๊ยตได้เปิดเผยว่าในเดือนมีนาคม ๒๕๕๔ ยอดจำหน่ายรถใหม่ของกลุ่มบริษัทเฟี๊ยต ลดลง ๓๑.๙๒% หรือมีจำนวน ๕๕,๐๗๒ คัน เมื่อเทียบกับจำนวน ๘๐,๘๙๙ คันในปีที่ผ่านมา (เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ยอดจำหน่ายลดลง ๒๗.๐๙% หรือมีจำนวน ๔๕,๕๒๗ คัน) ทำไห้สัดส่วนตลาดลดลงเหลือ ๒๙.๓๕% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนที่มีสัดส่วนตลาด ๓๑.๒๒% แต่สัดส่วนตลาดเพิ่มขึ้น ๒๘.๔% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน
อย่างไรก็ดี บริษัทได้เปิดเผยว่าจากการเปิดตัวรถเฟี๊ยต ๕๐๐ ใหม่ ซึ่งเป็นรถขนาดเล็กที่มีชื่อเสียงเก่าแก่และบริษัทได้ผลิตออกจำหน่ายใหม่ในตลาดสหรัฐฯ ได้รับความสนใจจากลูกค้าอย่างมาก แม้ว่าตลาดสหรัฐฯจะถูกครองด้วยรถขนาดใหญ่ประเภทมินิแวนและรถบรรทุกก็ตาม โดยตัวแทนจำหน่ายรถยนต์หลักในรัฐมิชิแกนได้รายงานว่ายอดขายได้เพิ่มสูงเกินกว่าที่คาดหมายไว้ มีลูกค้าหลากหลายวัยทั้งชายและหญิง ที่สนใจและเห็นว่าแม้เป็นรถขนาดเล็กแต่ก็มีความน่ารัก มีขนาดที่นั่งสบาย และมีสมรรถนะในการขับขี่ที่ดีในแม้ในถนนที่เป็นหิมะ
๖. สถาบันมูดีส์เปิดเผยว่าเศรษฐกิจอิตาลีจะสามารถกลับไปมีสถานะเกินดุลได้ใน ๓-๔ ปีข้างหน้า และแม้ว่ารัฐบาลจะไม่สามารถลดหนี้สาธารณะลง แต่อย่างน้อยก็ยังคงรักษาระดับมิให้เพิ่มขึ้นได้ โดยมีการเกินดุลไม่มากนักคือ ๑.๒% และมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจพอประมาณ คือสูงสุดไม่เกิน ๓% นอกจากนี้มูดีส์ได้จัดอันดับความมั่นคงด้านหนี้สาธารณะของอิตาลีให้อยู่ในระดับ Aa ๒ ซึ่งถือว่าไม่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลจากความอลหม่านทางการเงินของยูโรโซน ทั้งนี้ในปี ๒๕๕๓ อิตาลีมีหนี้สาธารณะสูงถึง ๑๑๙% ของGDP แต่อิตาลีก็ยังคงมีความน่าเชื่อทางเศรษฐกิจและไม่ถูกลดอันดับลงจากเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจระหว่างปี ๒๕๕๐-๒๕๕๒ เหมือนกับประเทศในยูโรโซนที่มีเศรษฐกิจอ่อนแออื่นๆ
๗. องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้เปิดเผยว่าความหวาดกลัวว่าภาวะวิกฤตราคาอาหารโลกเมื่อปี ๒๕๕๐-๒๕๕๑ จะกลับมาเกิดขึ้นอีกนั้นค่อนข้างเบาบางแล้ว หลังจากที่ราคาอาหารที่ได้พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาถึง ๘ เดือนได้เริ่มหยุดลงเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๔ โดยในเดือนมีนาคม ๒๕๕๔ ดัชนีราคาเฉลี่ยของสินค้าอาหารได้ลดลง ๒.๙% จากที่ได้เพิ่มขึ้นสูงสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ แต่ยังคงสูงถึง ๓๗% เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้แก่ ระดับของสินค้าคงคลังที่ต่ำ การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันจากเหตุการณ์ในตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ และผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น จะส่งผลให้ยังคงมีความไม่แน่นอน และความผันผวนของราคาอาหารในช่วงเดือนต่อไป
ทั้งนี้ FAO ได้ประมาณการว่าผลจากวิกฤตราคาอาหารโลกเมื่อปี ๒๕๕๐-๒๕๕๑ ทำให้ในปี ๒๕๕๒ มีประชากรโลกที่หิวโหยเพิ่มขึ้นเกินกว่า ๑,๐๐๐ ล้านคนเป็นครั้งแรก และในปี ๒๕๕๓ ลดลงเหลือ ๙๒๕ ล้านคน อย่างไรก็ดี วิกฤตราคาอาหารโลกที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ จะทำให้จำนวนคนยากจนเพิ่มสูงขึ้นนับล้านคน
๘. ศูนย์วิจัยของสมาพันธ์อุตสาหกรรมแห่งอิตาลี (CONFINDUSTRIA) ได้ประมาณการว่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม ๒๕๕๔ จะเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ๑.๕% หลังจากที่ ISTAT ได้เปิดเผยรายงานว่าในเดือนก.พ.๕๔ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ๑.๔% จากเดือนมกราคม ๒๕๕๔
นอกจากนี้ในไตรมาสแรกของปี ๒๕๕๔ พบว่าธุรกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัวเล็กน้อยคือ +๐.๒% หลังจากที่ติดลบ -๐.๖% ในปี ๒๕๕๓ และ +๑.๑% ในไตรมาส ๓ ของปี ๕๓
๙. IMF ได้ประมาณการว่า GDP ของอิตาลีในปี ๒๕๕๔ จะขยายตัว ๑.๑% (เพิ่มขึ้น ๐.๑% จากที่ได้ประมาณการไว้เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๕๔) และในปี ๒๕๕๕ จะขยายตัวดีขึ้นเล็กน้อยคือ ๑.๓% (เท่ากับประมาณการเดิมเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๕๔) ทั้งนี้ IMF คาดว่าอิตาลียังคงมีเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ประกอบกับปัญหาด้านความสามารถในการแข่งขันที่จำกัดทำให้เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของการส่งออกและความเข้มแข็งทางการเงิน ซึ่งผูกโยงกับความต้องการของภาคเอกชน
๑๐. กระทรวงการคลังอิตาลีได้เปิดเผยการคาดการณ์ตัวชี้วัดเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๕๔ ดังนี้
ปี ๒๐๑๐ ปี ๒๐๑๑ ปี ๒๐๑๒ ปี ๒๐๑๓ ๑. GDP ๑.๓% ๑.๑% ๑.๓% ๑.๕% ๒. GDP Value ๑,๕๔๘,๘๑๖ ๑,๕๙๓,๓๑๔ ๑,๖๔๒,๔๓๒ ๑,๖๙๖,๙๙๕ (ล้านยูโร) ๓. GDP per capita ๒๕,๘๑๓ ๒๖,๕๕๕ ๒๗,๓๗๓ ๒๘,๒๘๓ (ยูโร) ๔. การบริโภค ๑.๐% ๑.๑% ๑.๒% ๑.๓% ๕. การลงทุน ๒.๕% ๑.๘% ๒.๕% ๒.๗% ๖. การส่งออก ๙.๑% ๔.๘% ๔.๓% ๔.๕% ๗. การนำเข้า ๑๐.๕% ๔.๕% ๓.๙% ๔.๒% ๘. อัตราเงินเฟ้อ ๑.๕% ๑.๕% ๑.๕% ๑.๕% ๙. อัตราการจ้างงาน ๕๖.๙% ๕๗.๑% ๕๗.๕% ๕๗.๙% ๑๐. อัตราการว่างงาน ๘.๔% ๘.๔% ๘.๓% ๘.๒% ๑๑.หนี้สาธารณะ ๑๑๙.๐% ๑๒๐.๐% ๑๑๙.๔% ๑๑๖.๙% (% ของ GDP)
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโรม
ที่มา: http://www.depthai.go.th