แนวโน้มเงินเฟ้อในอนาคตของจีนยังคงไม่น่าไว้วางใจ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 2, 2012 14:07 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ได้ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเดือนธันวาคมที่มีการลดลงอย่างชัดเจน แต่อัตราเงินเฟ้อรวมของปี ๒๕๕๔ ยังคงอยู่ที่ร้อยละ ๕ สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้คือร้อยละ ๔ เล็กน้อย ซึ่งนับว่าการควบคุมภาวะเงินเฟ้อของรัฐบาลได้ผลดีในระดับหนึ่งและมีทิศทางที่ดีขึ้นพอสมควร

แม้ว่าภาวะเงินเฟ้อของจีนจะคลี่คลายลงบ้าง แต่การควบคุมราคาสินค้ายังคงต้องดำเนินต่อไปอย่างเข้มงวด การสกัดกั้นราคาสินค้าไม่ไห้พุ่งขึ้นเร็วจนเกิดไปเป็นสิ่งที่จะต้องจับตามองอย่างระมัดระวัง นอกจากนั้นรัฐบาลจะต้องมีการประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างสมเหตุสมผล

หากวิเคราะห์จากสถานการณ์เศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา อาจคาดการณ์ว่า ราคาสินค้าในปี ๒๐๑๒ มีแนวโน้มที่จะลดลง แต่การที่รัฐบาลดำเนินนโยบายด้านการเงินที่ผ่อนคลายลงในปี ๒๐๑๒ ซึ่งส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น อาจส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนมกราคม ๒๕๕๕ ได้ปรับตัวสูงขึ้นกว่าเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เนื่องจากราคาผลผลิตทางการเกษตรได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเทศกาลปีใหม่และตรุษจีน

นอกจากนี้ หลายฝ่ายต่างคาดการณ์ว่าในปี ๒๕๕๕ ภาวะเงินเฟ้อจะยังคงมีอยู่ต่อไป ถึงแม้ว่าในปีที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามที่จะควบคุมปริมาณเม็ดเงินที่หมุนเวียนอยู่ในระบบ แต่ปริมาณอุปทานเงินหยวนนั้นมีจำนวนมหาศาล รวมทั้งในขณะนี้ มีหลายปัจจัยที่ผลักดันไห้ราคาสินค้าทะยานสูงขึ้นและส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อในระยะยาว ได้แก่ การใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย อย่างต่อเนื่องของประเทศต่างๆ ส่งผลไห้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งภายในประเทศและสินค้าส่งออกเกิดความผันผวนและสินค้ามีการปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ Imported inflation จึงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ปัจจัยต่อมา ราคาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทางตรงต่อการจัดสรรรายได้แรงงาน โดยมีการเพิ่มอัตราเงินเดือนขั้นพื้นฐานของแรงงาน ส่งผลให้ต้นทุนแรงงานเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ท้ายที่สุด การปฏิรูปทรัพยากรทางการผลิตไห้เป็นไปตามกลไกของตลาดก็ส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นเช่นเดียวกัน

จากสภาพการณ์ปัจจุบัน ที่ราคาสินค้ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่มีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในอนาคตที่ค่อนข้างจะรุนแรง ทำให้รัฐบาลจีนพยายามรักษาระดับการเจริญเติบโตและรักษาเสถียรภาพของราคาสินค้า โดยการดำเนินนโยบายการคลังในเชิงรุกและรักษานโยบายการเงินไห้มีสเถียรภาพเพื่อไห้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมั่นคงต่อไป

ทั้งนี้ นักวิชาการจีนมีความเห็นว่า การที่จะบรรลุเป้าหมายในการควบคุมราคาและรักษาอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจนั้น นอกเหนือจากการจำกัดปริมาณเม็ดเงินในระบบโดยการเพิ่มอัตราเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ให้สูงขึ้นแล้ว รัฐบาลจีนยังต้องสนับสนุนให้มีการเพิ่มอุปทานของสินค้าในตลาดเพื่อให้เกิดการแข่งขันทางด้านราคาและเป็นการควบคุมราคาสินค้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม รวมทั้งเป็นการสร้างสมดุลของระบบการผลิตและการบริโภค

ที่มา: People’s Daily

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ