มณฑลเหอหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 9, 2012 15:55 —กรมส่งเสริมการส่งออก

มณฑลเหอหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน

ข้อมูลพื้นฐาน

ประเทศจีนทั้งประเทศที่มีขนาดพื้นที่รวม ๙,๕๙๖,๙๖๑ ตารางกิโลเมตร ประชากร ๑,๓๓๖.๗ ล้านคน มีการแบ่งเขตบริหารประกอบด้วย ๒๓ จังหวัด/ มณฑล (จังหวัดที่ ๒๓ คือ ไต้หวัน) ๕ เขตปกครองตนเอง คือ กว่างซี มองโกเลียใน หนิงเซี่ยะ ซินเกียง ทิเบต และ ๔ เมืองที่มีอำนาจบริหารเทียบเท่ามณฑล คือ ปักกิ่ง ฉงชิ่ง เซี่ยงไฮ้ เทียนจิน รวมทั้ง ๒ เขตบริหารพิเศษคือ ฮ่องกง มาเก๊า

มณฑลเหอหนานเป็น ๑ ใน ๒๓ มณฑลของจีนที่มีศักยภาพในการทำการค้ากับประเทศ มณฑลเหอหนานนับเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของจีน โดยเป็นแหล่งปลูกข้าวสาลี ธัญพืช เลี้ยงวัว และเลี้ยง Goat ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน โดยผลิตธัญพืช ๔๕.๘ ล้านตัน มากเป็น ๑ ใน ๑๐ ของประเทศ ผลิตพืชน้ำมัน ๑ ใน ๗ ของประเทศ ผลิตเนื้อวัว ๑ ใน ๗ ของประเทศ ผลิตฝ้าย ๑ ใน ๖ ของประเทศ แต่ประสบปัญหาสำคัญ คือ ความผันผวนของดินฟ้าอากาศ ทำให้มีปัญหาฝนแล้งและน้ำท่วมบ่อยครั้ง นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งของตลาดธัญพืชอาหารเจิ้งโจว (Zhengzhou Grain and Foodstuff Exchange) นับเป็นศูนย์กลางตลาดขายส่งและตลาดล่วงหน้าสินค้าโภคภัณฑ์ของจีน ราคาสินค้าของตลาดแห่งใช้เป็นราคาอ้างอิงการซื้อขายสินค้าเกษตร

มณฑลเหอหนานมีประชากร ๙๗,๑๗๐,๐๐๐ คน เป็นมณฑลที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศจีน มีขนาดพื้นที่รวม ๑๖๗,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ใหญ่เป็นอันดับที่ ๑๗ ของประเทศจีน ประกอบด้วยเมืองทั้งหมด ๑๘ เมือง

นครเจิ้งโจว เป็นเมืองเอกของมณฑลเหอหนาน ในอดีตเป็นที่ตั้งเมืองหลวงของ ๙ ราชวงศ์ มีพื้นที่ทั้งหมด ๗,๔๔๖.๒ ตารางกิโลเมตร เขตเมืองมีพื้นที่ ๑,๐๑๓.๓ ตารางกิโลเมตร เขตใจกลางเมืองมีพื้นที่ ๑๔๗.๗ ตารางกิโลเมตร เจิ้งโจวเป็นเมืองอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมที่สำคัญคือ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องจักรเครื่องกล อุตสาหกรรมการทำโลหะผสม อุตสาหกรรมเคมี และอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของตลาดขายส่งสินค้าประเภทอาหารและธัญพืช ( The Zhengzhou Grain and Foodstuff Exchange) ซึ่งเป็นศูนย์กลางสำคัญด้านการค้าขายส่ง รวมทั้งเป็นตลาดล่วงหน้าสำหรับสินค้าประเภทอาหารและธัญพืชของประเทศจีนด้วย ราคาสินค้าของตลาดแห่งนี้เป็นราคาหลักอ้างอิงของการซื้อขายสินค้าประเภทธัญพืชในประเทศจีนและทั่วโลก

นครเจิ้งโจว มีความก้าวหน้าในการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ คาดว่าภายในปี ๒๕๕๖ นครเจิ้งโจวจะมีกำลังการผลิตรถยนต์ ๗ แสนคัน และภายในปี ๒๕๕๘ นครเจิ้งโจวจะเป็นฐานการผลิตรถยนต์สำคัญของประเทศจีน ที่มีกำลังการผลิตในระดับหลักล้านคัน โดยอุตสาหกรรมรถยนต์ของนครเจิ้งโจวจะต้องสามารถทำรายได้จากการจำหน่าย ๑.๓ แสนล้านหยวน

ในระยะ ๕-๗ ปีข้างหน้า นครเจิ้งโจวจะเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่มีกำลังการผลิตมากกว่า ๑.๑ ล้านคันต่อปี โดยมีวิสาหกิจผู้ผลิตรถยนต์ ๔ รายใหญ่ของนครเจิ้งโจว ได้แก่ เจิ้งโจวนิสสัน (Zhengzhou NISSAN Automobile Co., Ltd.) อวี่ทงกรุ๊ป (Zhengzhou Yutong Group Corp.) ไห่หม่าเจิ้งโจว (Haima (Zhengzhou) Automobile Co., Ltd.) และเส้าหลินชี่เชอ (Henan Shaolin Auto Co., Ltd.) นอกจากนี้นครเจิ้งโจวยังมีวิสาหกิจผู้ผลิตรถยนต์ วิสาหกิจให้บริการรับแต่งรถยนต์ และวิสาหกิจผู้ผลิตอะไหล่รถยนต์ รวมประมาณ ๑๐๐ ราย ซึ่งมีมูลค่าของสินทรัพย์รวม ๑.๕๘ หมื่นล้านหยวน

การผลิตรถยนต์จะเน้นที่ ๘ ประเภท คือ รถโค้ชขนาดกลางและใหญ่ รถยนต์นั่ง รถปิกอัพ รถ SUV (Sport Utility Vehicle) รถ MPV (MultiPurpose Vehicles) รถโค้ชขนาดเล็ก รถบรรทุกขนาดกลางและใหญ่ และรถยนต์ใช้งานเฉพาะด้าน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังจะพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมรถยนต์ และสร้างนครเจิ้งโจวให้เป็นแหล่งซ่อมบำรุงรักษาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์รถยนต์ และเป็นตลาดค้าส่งผลิตภัณฑ์รถยนต์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกด้วย

การคมนาคมและโลจิสติกส์ทางการค้า

ทางบก มณฑลซานตงได้สร้างทางหลวงหลัก ๒ เส้นทางด้วยงบประมาณทั้งสิ้น ๓,๓๐๐ ล้านหยวน เพื่อเชื่อมกับเมืองทางเหนือของมณฑลเหอหนาน และในปีเดียวกัน ยังได้สร้างทางด่วนเชื่อมระหว่างเมืองจี้หยวนและเมืองเจียวจั้ว และอีก ๑ เส้นทางเชื่อมระหว่างเมืองอันหยางและเมืองหลินโจว (เมืองหลินโจวเป็นเมืองเชื่อมระหว่างมณฑลเหอหนาน ซานซี และเหอเป่ย) นอกจากนี้ ยังมีการสร้างเส้นทางด่วนสายหลักเชื่อมระหว่างกรุงปักกิ่งและมณฑลกวางตุ้งโดยผ่านมณฑลเหอหนาน

เส้นทางรถไฟของมณฑลเหอหนานมีความยาวรวม ๓,๙๘๙ กิโลเมตร และทางด่วนมีความยาวรวม ๔,๘๔๑ กิโลเมตร มณฑลเหอหนานเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางรถไฟ และเป็นจุดเชื่อมต่อกับมณฑลอื่น ๆ โดยเส้นทางรถไฟที่สำคัญ ๑๐ เส้นทาง สถานีขนส่งทางรถไฟในนครเจิ้งโจวเป็นหนึ่งในสถานีขนส่งผู้โดยสารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน และเป็นสถานีเปลี่ยนเส้นทางที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียที่เชื่อมต่อระหว่างยุโรปและเอเชียตะวันออก โดยเป็นสถานีขนส่งปลายทางตะวันออกที่เชื่อมระหว่างท่าเรือเหลียนอวิ๋นของมณฑลเจียงซูกับท่าเรือรอทเทอร์ดัมของประเทศเนเธอร์แลนด์

ทางอากาศ มณฑลเหอหนานมีสนามบิน ๓ แห่ง ได้แก่ สนามบินนานาชาติซินเจิ้ง (อยู่ในเจิ้งโจว) สนามบินลั่วหยาง สนามบินหนานหยาง มีเที่ยวบินไปกลับมากกว่า ๘๐๐ เที่ยวบินต่อสัปดาห์ระหว่างเมืองขนาดกลางและขนาดใหญ่ต่าง ๆ ในประเทศ ๔๖ เมือง มีเส้นทางการบินเกือบ ๗๐ เส้นทาง ปัจจุบันมีเที่ยวบินตรงกรุงเทพ-เจิ้งโจว โดยแวะจอดที่เมืองกวางโจวก่อนเดินทางสู่ประเทศไทย

ภาคการผลิตที่มีศักยภาพของมณฑลเหอหนาน

อุตสาหกรรมปศุสัตว์ เกษตรและพลังงาน มณฑลเหอหนานมีผู้ประกอบการรายใหญ่ คือ บริษัท Mengniu Dairy เป็นบริษัทผลิตผลิตภัณฑ์นมรายใหญ่ที่สุดในประเทศจีน บริษัท Henan Shuanghui Group ซึ่งมีฐานที่นครลั่วหยาง นับเป็นบริษัทผลิตเนื้อสัตว์รายใหญ่ที่สุดในประเทศจีน โดยการผลิตใช้แบรนด์เนม Shineway

รัฐบาลจีนยังได้ส่งเสริมการผลิตเอทานอลเพื่อทดแทนการนำเข้าน้ำมัน โดยมีการตั้งโรงงานผลิตเอทานอลในมณฑลเหอหนานหลายแห่ง เป็นต้นว่า บริษัท Tianguan Ethanol Chemical Group ลงทุน ๑,๓๐๐ ล้านหยวน หรือประมาณ ๖,๕๐๐ ล้านบาท ในการก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอลขนาดกำลังผลิต ๕๐๐.๐๐๐ ตันต่อปี โดยใช้วัตถุดิบเป็นธัญพืชมากถึง ๑ ล้านตัน/ปี

พลังงานไฟฟ้า มณฑลเหอหนานนับเป็นฐานการผลิตใหญ่เป็นอันดับ ๕ ของประเทศจีน มีกำลังการ ผลิตซึ่งใกล้เคียงกับกำลังผลิตไฟฟ้าของไทยทั้งประเทศ มีการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าอย่างเร่งด่วน เพียงปีเดียว สามารถเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าได้มากถึง ๔,๕๘๐ เมกะวัตต์

มณฑลเหอหนานมีโรงงานประกอบรถยนต์ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนระหว่างบริษัทนิสสันของญี่ปุ่นและบริษัท บริษัท Dongfeng Automobile Group (เดิมมีชื่อว่า Second Automotive Works) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบรถยนต์ใหญ่เป็นอันดับ ๓ ของจีน ก่อตั้งบริษัท Zhengzhou Nissan Automobile จำกัด เพื่อประกอบรถบรรทุกเล็กและรถยนต์อเนกประสงค์ที่นครเจิ้งโจว นอกจากนี้ มณฑลเหอหนานยังเป็นฐานผลิตรถโดยสารของบริษัท Yutong Bus Share จำกัด ด้วย

บริษัท Zhengzhou Nissan Automobile จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานประกอบรถบรรทุกเล็กและรถยนต์ อเนกประสงค์ภายใต้แบรนด์นิสสันที่นครเจิ้งโจวนั้น เดิมบริษัทแห่งนี้มีบริษัท Dongfeng ถือหุ้น ร้อยละ ๗๐ บริษัทสามมิตรมอเตอร์ของไทย ร้อยละ ๒๕ และบริษัทนิสสัน ร้อยละ ๕ แต่ต่อมาบริษัทสามมิตรได้ขายหุ้นให้แก่บริษัทนิสสัน ทำให้บริษัทนิสสันมีสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ ๓๐

มณฑลเหอหนานผลิตปูนซีเมนต์ในปริมาณมากถึง ๔๔.๘ ล้านตัน ซึ่งเป็นปริมาณมากกว่าปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ของประเทศไทยทั้งประเทศ โดยนับเป็นฐานการผลิตใหญ่เป็นอันดับ ๖ ของจีน

อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลกทรอนิกส์ มีหลายบริษัทตั้งฐานผลิตในมณฑลเหอหนาน เป็นต้นว่า บริษัทฟิลิปส์อิเล็กทรอนิกส์ได้ร่วมลงทุนกับบริษัท Nanjing Huafei ของจีน ในการก่อตั้งบริษัท Anfei Electronic Glass เพื่อผลิตจอแก้วแบบแบนสำหรับโทรทัศน์ที่ Zhengzhou Economic Development Zone ส่วนบริษัท Xinfei Electric นับเป็นผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ของจีน โดยได้ผลิตตู้เย็นที่เมือง Xinxiang โดยมีกำลังผลิตตู้เย็น ๒.๕ ล้านตู้ต่อปี ตู้แช่ ๕ แสนตู้ต่อปี และเครื่องปรับอากาศ ๓ แสนเครื่องต่อปี โดยมีความร่วมมือกับบริษัท GE ของสหรัฐฯ

บริษัท Longs Semiconductor Manufacturing มีแผนลงทุนเพื่อผลิตแผงวงจรรวมในมณฑลเหอหนานนับเป็นโรงงานแผงวงจรแห่งแรกในพื้นที่แถบนี้ อย่างไรก็ตาม การผลิตจะใช้เครื่องจักรเก่าที่ล้าสมัย เพื่อใช้ในการผลิตเวเฟอร์ขนาด ๖ นิ้ว ขนาด ๐.๓๕ ไมครอน

นครอันหยางเป็นฐานการผลิตเครื่องจักรกล บริษัท Anyang Xinsheng Machine Tool จำกัด ผลิตเครื่อง กลึงแบบ CNC บริษัท Anyang Forging-Press Machinery Industry ผลิตเครื่องจักรทุบขึ้นรูปและปั๊มขึ้นรูป

ปัจจุบันประเทศจีนใช้ถ่านหินมากที่สุดในโลก โดยการใช้ถ่านหินของจีนประเทศเดียวมีปริมาณมากกว่าการใช้ถ่านหินของสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นรวมกัน สำหรับมณฑลเหอหนานนับเป็นฐานการผลิตถ่านหินใหญ่เป็นอันดับ ๓ ของจีน รองจากมณฑลซานซีและมลฑลชานตง โดยมีเหมืองถ่านหินขนาดใหญ่ คือ เหมืองถ่านหินปิงติงซาน ซึ่งมีปริมาณการผลิตมากถึงปีละ ๙๐ ล้านตัน

ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศ ศุลกากรของนครเจิ้งโจว มณฑลเหอหนานประกาศว่า ในปี ๒๕๕๓ มณฑลเหอหนานสร้างมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งสิ้น ๑๗,๗๙๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ ๓๒ นับว่าได้ฟื้นตัวจากวิกฤตการเงินโลกแล้วค่อนข้างมาก ทั้งนี้ การนำเข้าจากต่างประเทศมีมูลค่าทั้งสิ้น ๗,๒๖๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ ๑๘.๔ และการส่งออกมีมูลค่าทั้งสิ้น ๑๐,๕๓๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๔๓.๔ แต่อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตการค้าโดยรวมของมณฑลเหอหนานยังต่ำกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของจีน ซึ่งการนำเข้าต่ำกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของจีน แต่การส่งออกสูงกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของจีน

เมื่อวิเคราะห์ตลาดมณฑลเหอหนานพบว่า สินค้าที่เหอหนานมีความต้องการนำเข้า และมีการนำเข้าสินค้าในปริมาณมากที่สุดมาจาก ออสเตรเลีย มีมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 0.87 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ญี่ปุ่น 0.65 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สหรัฐอเมริกา 0.59 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แคนาดา 0.52 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และบราซิล 0.48 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลาดับ โดยมีผลิตภัณฑ์นำเข้าหลัก คือ น้ำแร่ เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ไฟฟ้า ผัก ผลไม้ และธัญพืช เคมีภัณฑ์ รวมถึงผลิตภัณฑ์จากพลาสติกและยาง

ตารางแสดงรายการสินค้าที่มณฑลเหอหนานมีความต้องการนำเข้า
รายการ                 2007    2008    2009   สัดส่วนการ
                                              เปลี่ยนแปลง (%)
มูลค่าการนำเข้า           4.41    6.76    6.09     -9.9
(พันล้านเหรียญ
สหรัฐฯ)
น้ำแร่                   1.4     2.63    2.2      -16.4
เครื่องจักรและ            0.73    1.34    1.38       3
อุปกรณ์ไฟฟ้า
ผัก ผลไม้ ธัญพืช           0.34    0.63    0.52     -17.5
เคมีภัณฑ์                 0.36    0.34    0.29     -14.7
ผลิตภัณฑ์จาก              0.58    0.46    0.3      -34.8
พลาสติกและยาง

การค้าระหว่าง ไทย - เหอหนาน ในปี ๒๕๕๓ จากสถิติเบื้องต้นของสำนักงานศุลกากรแห่งนครเจิ้งโจว การค้ารวมระหว่างไทยกับเหอหนานมีมูลค่า ๘๐.๒๙ เหรียญสหรัฐฯ ประกอบด้วยเหอหนานส่งออกไปไทย ๖๘.๒๗ เหรียญสหรัฐฯ และนำเข้าจากไทย ๑๒.๐๒ เหรียญสหรัฐฯ สินค้า ๑๐ อันดับแรกที่มีศักยภาพ ได้แก่ สินค้าที่ไทยส่งออกไปจีน โดยเข้าที่มณฑลเหอหนานที่สำคัญคือ พืชผัก ยางพารา ยานพาหนะ อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องจักรไฟฟ้า พลาสติก เครื่องจักร อัญมณี และสินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีน โดยส่งออกจากมณฑลเหอหนาน ได้แก่ พืชผัก เหล็กและเหล็กกล้า เคมีภัณฑ์ หินซีเมนต์ แป้ง อาหาร อัญมณี ธัญพืช เครื่องเทศ ชา กาแฟ

ความร่วมมือส่งเสริมการค้า ไทย-เหอหนาน ในปี ๒๕๕๒ สภาธุรกิจไทย-จีนและสมาคมส่งเสริมการลงทุนการค้าไทย-จีน ในการสัมมนาเรื่องความร่วมมือการค้าการลงทุนไทย-เหอหนาน ซึ่งรัฐบาลมณฑลเหอหนานโดยนายกั๊ว เกิงม่าว ผู้ว่าราชการมณฑล นำคณะข้าราชการและนักธุรกิจจากเหอหนานมาเยือนไทยเพื่อศึกษาและร่วมมือด้านการค้าการลงทุนระหว่างกัน

มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงเพื่อการค้าการลงทุนระหว่างไทย-เหอหนาน รวม ๘ โครงการ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เมืองลั่วหยาง โครงการโรงงานยางรถยนต์ฟงเสินนำเข้ายางธรรมชาติและแผ่นยางผสมที่เมืองเจียวจั้ว โครงการจัดซื้อมันสำปะหลังแห้งของเครือเทียนก้วนที่เมืองหนานยาง โครงการผลิตถุงมือยางที่เมืองผู่หยาง โครงการส่งออก Acid sodium ที่เมืองโจวโค่ว โครงการลงทุนสวนยางพารากับบริษัทนำเส็งที่เมืองเจียวจั้ว โครงการเกษตรอุตสาหกรรมที่เจิ้งโจว และโครงการจุลินทรีย์รักษาสิ่งแวดล้อมที่จูหม่าเตี้ยน

นอกจากนั้นยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการเจรจา คือ ธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) ศึกษาความเป็นไปได้ที่จะเปิดสาขาในเจิ้งโจว เครือเจริญโภคภัณฑ์ร่วมมือกับมณฑลเหอหนานในการพัฒนาโครงการเกษตรสมัยใหม่

ปัจจุบันมีบริษัทไทยมีดำเนินธุรกิจในมณฑลเหอหนานหลายบริษัท เป็นต้นว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์มีโรงงานหลายแห่งที่มณฑลเหอหนาน โรงงานผลิตอาหารสัตว์ที่นครเจิ้งโจว โรงงานผลิตรถจักรยานยนต์ที่นครลั่วหยาง และห้างค้าปลีกโลตัสในมณฑลเหอหนาน

จากการที่มณฑลเหอหนานมีถ่านหินจำนวนมาก กลุ่มบ้านปูของไทยได้ร่วมลงทุนกับ Hebi Coal & Electricity จำกัด ในการก่อตั้งบริษัท Hebi Zhong Tai Mining จำกัด เพื่อทำธุรกิจเหมืองถ่านหินในมณฑลเหอหนาน เพื่อทำธุรกิจเหมืองถ่านหินขนาด ๑ ล้านตัน/ปี และมีแผนขยายกำลังผลิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

กลุ่มเบทาโกรของไทยเคยลงทุนก่อตั้งโรงงานอาหารหมูและไก่ขนาดกำลังผลิต ๑,๐๐๐ ตันต่อเดือน ในนามบริษัท บริษัท เบทาโกรไคฟงฟีดมิลล์ จำกัด ที่นครไคเฟิง อย่างไรก็ตาม โครงการไม่ประสบผลสำเร็จในทางธุรกิจในขณะนั้น โดยได้ประกาศหยุดการผลิตในส่วนอาหารไก่เป็นการชั่วคราว เนื่องจากมีการแข่งขันตัดราคากันสูงมากในอาหารสัตว์

ผู้บริหารระดับสูงของไทยและเหอหนานได้มีการเดินทางแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอเพื่อกระชับความสัมพันธ์และเปิดโอกาสให้มีการขยายลู่ทางการค้าระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น โดยฝ่ายจีนมองไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของอาเซียน การลงทุนด้านการผลิตและการส่งออกยางพาราเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ในประเทศจีน มีความร่วมมือด้านงานแสดงสินค้าโดยฝ่ายจีนจะสนับสนุนคูหาเข้าร่วมงานโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการไทยนำสินค้าไทยไปจัดแสดงที่เมืองสำคัญต่างๆของมณฑลในหลายโอกาส

สรุปรายงานข้อมูลโดย
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองซีอาน
กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ