ข้าวจัสมินอเมริกันเดินหน้าชนข้าวหอมมะลิไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 20, 2012 13:35 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ข้าวจัสมินอเมริกันเดินหน้าชนข้าวหอมมะลิไทย

ข้าวหอมมะลิไทยได้ต่อสู้กับข้าวของสหรัฐฯ มานาน นับตั้งแต่ศาสตราจารย์คริส เดเรน แห่งมหาวิทยาลัยมลรัฐฟลอริด้า (University of Florida) ได้ปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมมะลิของไทยมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2538 และสามารถผลิตข้าวหอมมะลิกลายพันธุ์ได้สำเร็จ แต่ได้รับการทักท้วงโดยรัฐบาลไทยจัดจ้างทนายความคัดค้านการจดสิทธิบัตรข้าวหอมมะลิกลายพันธุ์ดังกล่าวได้สำเร็จ ต่อมา ในปี พ.ศ. 2541 บริษัทไรซ์เทค ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกาได้จดทะเบียนข้าวสายพันธุ์ที่ปลูกในรัฐเท็กซัสว่า “จัสมาติ” เป็นเครื่องหมายทางการค้า ซึ่งเป็นความจงใจที่ต้องการหลอกลวงให้ผู้บริโภคเข้าใจว่า ข้าวพันธุ์ดังกล่าวเป็น ข้าวหอมมะลิ (Jasmine) หรือ “ข้าวหอมมะลิของไทย” ซึ่งรัฐบาลหาทางออกโดยหันไปจดชื่อเครื่องหมายทางการค้า “Thai Hom Mali Rice” แทน แต่ความพยายามของสหรัฐฯ มิได้หยุดเพียงเท่านั้น ในปี 2549 มหาวิทยาลัยแห่งรัฐหลุยส์เซียน่าได้พัฒนาข้าวหอมพันธุ์ใหม่ขึ้นมาได้สำเร็จเรียกว่า “Jazzman” และอ้างว่ามีคุณภาพใกล้เคียงกับข้าวหอมมะลิไทย

ข้าวอเมริกันจัสมินก้าวขึ้นเป็นคู่แข่งขันข้าวไทย

พ่อค้าข้าวสหรัฐฯ เล็งเห็นถึงความต้องการข้าวหอมมะลิที่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ และต้องการแย่งชิงสัดส่วนตลาดข้าวของไทยในสหรัฐฯ จึงได้ผลักดันและนำเสนอข้าวอเมริกันจัสมินเข้ามาแข่งกับข้าวหอมมะลิไทย ปัจจุบัน พบว่า มีข้าวหอมมะลิอเมริกันเลียนแบบข้าวหอมมะลิไทยวางจำหน่ายในตลาดซึ่งเป็นเขตอาณาดูแลของสคต.ชิคาโก จำนวน 6 แบรนด์ คือ

1. Thai Orchid: บรรจุ/จำหน่ายโดยบริษัท Producer Rice Mill ในรัฐอาร์คันซอส์เน้นตลาดธุรกิจบริการอาหาร(Foodservice) เป็นหลัก

2. Louisiana Jasmine: เป็นข้าวพันธุ์ Jazzman ปลูกโดย Louisiana Rice Mill

3. Jazzmen Rice: จำหน่ายโดย Jazzmen Rice, LLC ในรัฐหลุยส์เซียน่า โดยซื้อข้าวจาก Louisiana Rice Mills มาบรรจุและจำหน่ายภายใต้แบรนด์ Jazzmen Rice

4. Cajun Country : บริษัท Falcon Rice Mill เป็นบรรจุ/จัดจำหน่าย โดยซื้อข้าวจาก Jimmy Hoppe Farm ซึ่งนำพันธุ์ข้าว Jazzman มาปลูกขาย

5. Jasmati: บรรจุ/จำหน่ายโดย Ricetec. Inc. ในรัฐเท็กซัส

6. Della: เป็นข้าวจัสมินของบริษัท Specialty Rice, Inc. ในรัฐอาร์คันซอส์

การดำเนินกลลวงผู้บริโภคข้าว

ข้าวอเมริกันจัสมิน 6 แบรนด์ ที่กล่าวข้างต้นถูกนำเข้ามาขายแข่งแย่งชิงลูกค้าข้าวหอมมะลิไทย โดยเฉพาะ 3 แบรนด์แรก คือ Louisiana Jasmine, Jazzmen Rice ซึ่งเป็นข้าวพันแจ้สแมนของรัฐหลุยส์เซียน่า และ แบรนด์ Thai Orchid ซึ่งเป็นข้าวอเมริกันจัสมิน มีจุดประสงค์ที่จะเข้ามาชนกับข้าวหอมมะลิไทยโดยแท้จริง โดยวางกลยุทธ์การตลาดให้สามารถแข่งขันกับข้าวหอมมะลิไทยได้ ดังนี้

1. ทำการประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคทราบว่า เป็นข้าวจัสมิน 100% (100% Jasmine Rice) ไม่ผสมปนข้าวคุณภาพต่ำ

2. ข้าวบรรจุถุงขนาดน้ำหนัก 25 ปอนด์ ให้มีขนาดบรรจุเท่ากับข้าวหอมมะลิไทยที่ได้รับความนิยม ยกเว้น แบรนด์ Cajun Country, Jasmati และ Della ซึ่งมีขนาดบรรจุประมาณ 1-2 ปอนด์ ซึ่งมุ่งผู้บริโภค Mainstream เป็นสำคัญ

3. ข้าวอเมริกันจัสมินทั้ง 3 แบรนด์เข้าวางจำหน่ายในร้านชำ/ซุปเปอร์มาร์เก็ตเอเซียซึ่งเป็นช่องทางจำหน่ายหลักของข้าวหอมมะลิไทย อีกทั้งนำไปวางขายติดกับข้าวหอมมะลิไทย เพื่อแย่งชิงลูกค้าข้าวหอมมะลิไทย

4. กำหนดราคาขายปลีกต่ำกว่าของหอมมะลิไทยเล็กน้อยหรือประมาณ 1.00-1.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อถุง 25 ปอนด์ ซึ่งจะดึงดูดซื้อที่สนใจซื้อข้าวในราคาต่ำ เช่น ข้าว Louisiana Jasmine ขายในราคาถุงละ 20.99 เหรียญสหรัฐฯ และ ข้าว Jazzmen Rice ขายปลีกถุงละ 20.55 หรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ข้าวหอมมะลิไทยขายปลีกถุงละ 21.50 - 23.50 เหรียญสหรัฐฯ

5. ข้าวอเมริกันเลียนแบบใช้ชื่อเป็นไทยเพื่อล่อลวงผู้บริโภคเข้าใจว่าเป็นข้าวหอมมะลิ เช่น บริษัท Producer Rice Mill ใช้ชื่อแบรนด์ "Thai Orchid" และยังมีชื่อภาษาไทย "ข้าวหอมมะลิ" ตอกย้ำว่าเป็นข้าวของไทย ทั้ง ๆ ที่เป็นข้าวอเมริกัน หรือ ข้าวแบรนด์ Louisiana Jasmine พิมพ์ชื่อภาษาไทย "ข้าวหอมมะลิ" ลงบนถุงข้าว ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ข้าวจัสมินสหรัฐฯ มีเจตนาวางกลลวงผู้บริโภคเข้าใจว่าเป็นข้าวหอมมะลิไทย

6. บริษัทค้าข้าวอเมริกันจัสมินจัดจ้างตัวแทนการขาย (Sales Agent) และ ตัวแทนจำหน่าย (Distributor) เพื่อนำข้าวไปขายต่อให้แก่ร้านค้าปลีก

หนทางของข้าวหอมไทยในสหรัฐฯ

นักวิจัยข้าวของสหรัฐฯ พยายามอย่างยิ่งที่จะพัฒนาพันธุ์ข้าวของสหรัฐฯ ให้มีคุณภาพได้ทัดเทียมกับข้าวหอมมะลิไทยมาเป็นลำดับ นับตั้งแต่ข้าวพันธุ์ Jasmine85, Jasmati, Jazzman, JES และ Jazzman-2 และคาดว่า จะมีข้าวหอมอเมริกันพันธุ์ใหม่ออกมานำเสนอต่อตลาดอีกในอนาคต เพื่อเข้าแย่งชิงสัดส่วนตลาดข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า หนทางตลาดข้าวหอมมะลิไทยจะไม่ราบรื่นดังเช่นที่ผ่านมา

ปัจจุบัน ประเทศไทยไม่ใช่เป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิแห่งเดียวของโลก เวียดนาม และกัมพูชา ได้ผลิตข้าวหอมมะลิเข้ามาแข่งขันกับข้าวหอมมะลิไทย และมีความได้เปรียบข้าวไทยในด้านราคาโดยราคา FOB ข้าวหอมมะลิเวียดนามถูกว่าข้าวหอมมะลิไทยประมาณ 400 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน และราคา FOB ข้าวหอมมะลิกัมพูชาถูกว่าข้าวหอมมะลิไทยประมาณ 300 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ดังนั้น ผู้นำเข้าสหรัฐฯ ได้หันไปเพิ่มการนำเข้าข้าวหอมมะลิจากเวียดนามและกัมพูชามาจำหน่าย โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 (มกราคม-มิถุนยน) นำเข้าจากเวียดนามเป็นมูลค่า 6.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 155 และนำเข้าจากกัมพูชาเป็นมูลค่า 0.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 70 ดังนั้น พ่อค้าข้าวหรือผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิไทยจะต้องตระหนักถึงข้าวของคู่แข่งทั้งสองรายนี้ ที่จะมาดึงสัดส่วนของข้าวหอมมะลิไทยไป

ผู้นำเข้าข้าวหอมมะลิรายใหญ่ให้ข้อคิดเห็นต่อการที่กระทรวงพาณิชย์จะจัดมาตรฐานข้าวหอมมะลิใหม่แบ่งเป็น 3 ระดับ (1) มีเนื้อข้าวหอมมะลิ 80-91%, ที่เหลือผสมข้าวชนิดอื่น (2) ข้าวหอมมะลิชั้นดีพิเศษเกรด 92-94% และ (3) ชั้นดีเลิศเกรดเกิน 95% ขึ้นไป เป็นเหมือนดาบสองคม ข้อดีคือ เป็นการสร้างโอกาสให้ผู้บริโภคในทางต่างประเทศมีทางเลือกบริโภคข้าวหอมมะลิ และเพิ่มปริมาณและยอดขาย ส่วนข้อเสีย คือ ผู้นำเข้าจะต้องวางกลยุทธ์การตลาดใหม่ เนื่องจากจะต้องเสนอข้าวแยกเป็น 3 ราคา ผู้บริโภคจะหันไปซื้อข้าวหอมมะลิเกรดต่ำ ซึ่งมีราคาถูกกว่า และ ประการสำคัญ เสียความเป็นเอกลักษณ์และลดศักยภาพของข้าวหอมมะลิลดลงไป และจะเป็นผลให้

ข้าวหอมมะลิไทยจะเสียเปรียบข้าวอเมริกันจัสมินซึ่งประกาศว่าเป็นข้าว 100% ไม่ผสมอีกทั้ง เป็นการเปิดโอกาสให้ข้าวคู่แข่งขันโจมตีว่า ข้าวหอมมะลิไทยที่จำหน่ายในสหรัฐฯ มีคุณภาพต่ำเนื่องจากมีการผสมข้าวเม็ดยาว และจะเป็นผลให้ข้าวหอมมะลิไทยจสูญเสียตลาดให้ข้าวอเมริกันจัสมินนอกจากนั้นแล้ว ผู้นำเข้าสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า จุดขายสำคัญของข้าวหอมมะลิไทย คือ การดำรงความบริสุทธิ์ หรือ มีส่วนผสมน้อยที่สุด หรือ หมายความว่า ข้าวหอมมะลิจะต้องเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีหลายระดับ

ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ

ปัจจุบัน สหรัฐฯ เป็นแหล่งนำเข้าข้าวหอมมะลิที่สำคัญที่สุดของไทย ภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกันวางแผนการรักษาตลาด/ขยายตลาดข้าวหอมมะลิไทยในสหรัฐฯในระยะยาวให้เป็นกิจลักษณะ รวมไปถึงแผนงานสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้นำเข้า การจัดทำการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลผู้บริโภคในสหรัฐฯ รับทราบความแตกต่างระหว่างข้าวหอมมะลิไทยและข้าวอเมริกันจัสมิน โดยต่อเนื่อง รวมไปถึงการจัดทำแผนแม่บทในการปลูกฝังกลุ่มผู้บริโภคใหม่ เช่น กลุ่มชาวเอเซียรุ่นลูกรุ่นหลาน กลุ่มผู้บริโภคฮิสแปนิค และกลุ่มชาวอเมริกัน Generation X & Y เพื่อให้เพิ่มการบริโภคต่อหัวและเข้ามารองรับตลาดเดิม ซึ่งอาจจะพิจารณาการจัดทำการศึกษา วิจัย และวางแผน โดยการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการต่อไปการที่พ่อค้าข้าวสหรัฐฯ พิมพ์ชื่อ “ข้าวหอมมะลิ” เป็นภาษาไทยลงบนถุงข้าว แสดงให้เห็นถึงเจตนาที่จะหลอกลวงผู้บริโภคข้าวให้คิดว่าเป็นข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งภาคอุตสาหกรรมข้าวของไทย น่าจะหยิบยกเรื่องนี้มาพิจารณาศึกษาในแง่ การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายไม่ถูกต้องในเชิงกฎหมายหรือการละเมิดสิทธิบัตร (Infringement of Patent) ได้หรือไม่

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

8 สิงหาคม 2555


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ