รายงานภาวะสินค้าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มในตลาดสวีเดน ปี ๒๕๕๕

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 16, 2012 15:05 —กรมส่งเสริมการส่งออก

๑.บทนำ

ในปี ๒๕๕๓ การจับจ่ายใช้สอยสินค้าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มในตลาดสวีเดนมีมูลค่าการค้าปลีกประมาณ ๓๘๔.๖๘ ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๘ ถึงแม้ว่าจะประสบกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และมีการแข่งขันภายในอุตสาหกรรมที่สูง แต่เนื่องจากการปรับตัวโดยเน้นความชำนาญเฉพาะด้าน การหาช่องว่างและเจาะตลาดที่ยังมีช่องทางที่จะเสนอมูลค่าเพิ่มในสินค้า ทำให้อุตสาหกรรมเสื้อผ้าของสวีเดนยังคงเติบโตต่อไปได้

Mr. Ola Toftegraard ตำแหน่ง CEO องค์กรอุตสาหกรรมด้านสิ่งทอของสวีเดน TEKO (The Swedish Textile and Clothing Industries Association) ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสาร Scanorama ฉบับที่ ๙ เดือนกันยายน ๒๕๕๕ ให้ความเห็นไว้ว่า ความสำเร็จของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มในสวีเดนมาจากหลายปัจจัย โดยหลายปีที่ผ่านมาบริษัทสิ่งทอของสวีเดนได้มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มมูลค่าสินค้า (Value added) ทั้งในด้านคุณภาพ (Higher quality) การออกแบบที่มีเอกลักษณ์หรือการให้เหมาะสมกับการใช้งาน (Unique design & Function) หรือแม้กระทั่งการออกแบบที่มีลักษณะเฉพาะเพื่อสิ่งแวดล้อม (Environmental features)

นอกจากนี้ ผ้าที่เป็นเทคนิคเฉพาะ (Technical /Functional fabrics) ก็นับว่าเป็นสินค้าสิ่งทอที่มีลู่ทางขยายตลาด และสามารถพัฒนาให้เข้มแข็งเป็นจุดเด่นได้ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทางด้านวัตถุดิบที่ตรงกับความต้องการที่มากขึ้น และการใช้ประโยชน์จากผ้าในด้านใหม่ๆเพิ่มขึ้น เช่น สำหรับการใช้เฉพาะทาง หรือใช้ในอุตสาหกรรม ซึ่งสินค้าในกลุ่มนี้มีลักษณะพิเศษที่ประกอบด้วยความต้องการเฉพาะที่สูง โดยเจาะจงไปให้เหมาะสมกับการใช้งาน นอกจากนี้ บริษัทต้องทำงานวิจัยและพัฒนาสินค้าอย่างละเอียด เช่น ผ้าที่ใช้ทำร่มชูชีพ ผ้าทำใบเรือของเรือใบ ท่อฉีดน้ำดับเพลิง สินค้าที่สามารถดูดซับของเหลวได้ดี เสื้อผ้าที่ใช้รักษาเด็กจากโรคชักตุก เส้นโลหิตถัก ผ้าที่ทำให้เย็นในที่ร้อนจัด ผ้าที่สามารถวัดตรวจคลื่นไฟฟ้า หัวใจ เป็นต้น จึงมีความพยายามที่จะพัฒนาสินค้าในกลุ่มนี้ ที่เรียกว่า Smart Fabrics ฉลาด เช่น ผ้าที่ทำให้รู้สึกเย็นสบายในสถานที่ที่ร้อนจัด หรือผ้าที่เพิ่มความอบอุ่นแม้มีลักษณะบาง และน้ำหนักเบา เป็นต้น และสมาคมอุตสาหกรรมด้านสิ่งทอของสวีเดน ให้ความเห็นว่า อุตสาหกรรมเสื้อผ้าของสวีเดนยังคงได้รับความนิยมต่อไป

๒. การนำเข้า และส่งออก ตลาดสินค้าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายในสวีเดน

๒.๑ การนำเข้า และส่งออกผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายในสวีเดน

สวีเดนจัดเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านการจำหน่ายสินค้าแฟชั่นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายโดยเฉพาะในตลาดยุโรปเหนือ แบรนด์ของสวีเดนที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญได้แก่ Tiger Hope, Flippa K, Nudies Monkey, Cheap Monday, Acne, StrenStorm และ H&Mในช่วง ๕ เดือนแรก (มกราคม - พฤษภาคม) ปี ๒๕๕๕ สวีเดนส่งออกเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายมูลค่า ๖๙๖.๑๒ ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปี ๒๕๕๔ ร้อยละ ๐.๐๘ และนำเข้ามูลค่า ๑,๖๒๗.๔๕ ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ ๖.๓๘ สวีเดนนำเข้าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายมากกว่าส่งออกรวมมูลค่า ๙๓๑.๓๓ ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดส่งออกสำคัญอยู่ในกลุ่มประเทศนอร์ดิกส์ด้วยกันเอง ได้แก่ ฟินแลนด์ มูลค่า ๑๘๔.๗๗ ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาได้แก่ นอร์เวย์ มูลค่า ๙๖.๕๘ ล้านเหรียญสหรัฐ และเดนมาร์ก มูลค่า ๙๑.๔๙ ตลาดนำเข้าที่สำคัญ นำโดย จีน มูลค่า ๔๑๔.๖๔ ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ ๖.๗๖ รองลงมาได้แก่ เดนมาร์ก มูลค่า ๑๗๒.๖๐ ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๕.๒๗ และบังคลาเทศ มูลค่า ๑๓๕. ๘๗ ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๖.๒๘

๒.๒ การนำเข้าสินค้าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายจากไทย

สำหรับประเทศไทยในช่วง ๕ เดือนแรก (มกราคม - พฤษภาคม) ปี ๒๕๕๕ การส่งออกเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายไปยังสวีเดนรวมมูลค่า ๑๓.๖๒ ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๕.๐๓ ซึ่งนับเป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับที่ ๑๘ ของสวีเดน สินค้านำเข้าที่สำคัญจากไทย ได้แก่

   Harmonised Code          รายละเอียดผลิตภัณฑ์                 มค - พค    มค - พค      อัตราการ
                                                              ๒๕๕๔      ๒๕๕๕     เปลี่ยนแปลง (%)
        6204        สูท แจ็กเก็ต กางเกง กระโปรงสตรี และเด็กหญิง     ๒.๑๕      ๔.๕๘         ๑๓.๐๘
        6203        สูท แจ็กเก็ต กางเกงขายาวบุรุษ และเด็กชาย        ๒.๔๕      ๒.๔๕         -๐.๐๙
        6110        เสื้อถักชนิดคาร์ดิแกน และเสื้อกั๊ก                  ๑.๗๒      ๑.๗๙          ๔.๕๐
        6205        เสื้อเชิ้ตบุรุษ และเด็กชาย                       ๑.๓๐      ๑.๐๒        -๒๑.๓๔
        6109        เสื้อ T-SHIRT, และเสื้อชั้นใน ชนิดถัก และแบบ อื่นๆ   ๐.๙      ๐.๙๗          ๗.๑๕
หน่วย ล้านเหรียญสหรัฐ

๓. ตลาดเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มในสวีเดน

          ๓.๑ ลักษณะตลาด
              สวีเดนเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย มีประชากร ๙.๕ ล้านคน เป็นตลาดที่มีอำนาจซื้อสูงและเน้นด้านคุณภาพของสินค้า โดยผู้นำเข้าสวีเดนจะเน้นและคาดหวังสินค้า ที่ดี มีคุณภาพ มีการออกแบบเรียบง่าย ดูดี สบายเมื่อสวมใส่ ง่ายต่อการดูแลรักษา การหีบห่อดี และการส่งมอบที่ตรงเวลา และเนื่องจากภูมิอากาศแตกต่างกัน ๔ ฤดู เสื้อผ้าเครื่องนุ่ม และสิ่งทอต่างๆ จึงมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมตามฤดูกาล ซึ่งสีสัน และการออกแบบมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจซื้อ ซึ่งแนวโน้มแบบสินค้าแฟชั่นสามารถหาข้อมูลได้จาก Swedish Fashion Council http://www.moderadet.se/

              นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวสวีเดนจะมีความอ่อนไหวด้านราคา (Price - conscious) และระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย และเนื่องจากค่าครองชีพและค่าจ้างแรงงานที่สูง ร้านค้าส่วนใหญ่จะมีพนักงานอย่างจำกัด ดังนั้นสินค้าจะต้องสามารถนำเสนอขายได้ด้วยคุณสมบัติ และคุณภาพของตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีพนักงานทำหน้าที่ส่งเสริมการขาย หรือแนะนำสินค้า

          ๓.๒ ขนาดตลาด
              ในปี ๒๕๕๔ สวีเดนมีประชากรราว ๙.๕ ล้านคน แบ่งเป็นกลุ่มอายุ ๐ - ๑๔ ปีร้อยละ ๑๕.๔ โดยเป็นชาย ๐.๗๒ ล้านคน และหญิง ๐.๖๘ ล้านคน กลุ่มอายุ ๑๕ - ๖๔ ปี ร้อยละ ๖๔.๘ เป็นชาย ๒.๙๘ ล้านคน และหญิง ๒.๙๑ ล้านคน และกลุ่มผู้สูงอายุ ๖๕ ปีขึ้นไปร้อยละ ๑๙.๗ เป็นชาย ๐.๘ ล้านคน และหญิง ๐.๙๙ ล้านคน

๔. ข้อแนะนำในการหาลูกค้าในสวีเดน

          การจำหน่ายเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายในสวีเดนจะผ่านช่องทางจำหน่าย เช่น ผู้นำเข้า ผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ห้องเสื้อ หรือร้านจำหน่ายเสื้อผ้าทั่วไป รวมทั้งซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งแตกต่างกันไปตามลักษณะสินค้า และความต้องการของผู้นำเข้า เช่น Private label, ODM หรือ OEM เป็นต้น ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายชื่อผู้นำเข้าได้ที่สคร. โคเปนเฮเกน อีเมล์ ditp@thaicom.dk และสามารถหาข้อมูลการนำเข้าเพิ่มเติมได้ Svensk Handel http://www.svenskhandel.se/ , Stockholm Chamber of Commerce http://www.chamber.se หรือThe Swedish Association of Agents http://www.agenturforetagen.se

ตารางด้านล่างแสดงถึงขั้นตอนการติดต่อผู้ผลิตสินค้า

ขั้นตอนที่ ๑ ค้นหา           - ค้นหาโดยบริษัทจากสวีเดนโดยตรง
                        - การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า (BIFF & BIL)
                        - การสอบถามจากองค์การทางการค้า (DITP)  เช่น สำนักงานส่งเสริมการค้าใน
                          ต่างประเทศและในภูมิภาค หรือ Call Center
                        - การค้นหาจาก www.ditp@thaicom.dk  www.thaitrade.com
                        - การเดินทางมาหาลูกค้าในสวีเดนเพื่อเจรจาธุรกิจ โดยสคร.จัดทำนัดหมายให้
ขั้นตอนที่ ๒ การสืบหาข้อมูล      เมื่อพบบริษัทผู้ผลิตที่มีสินค้าตรงกับความต้องการแล้ว ผู้นำเข้าอาจขอเข้าเยี่ยมชม
                          โรงงานผลิตและขอข้อมูลดังต่อไปนี้
                        - รายละเอียดสินค้า (Product description)
                        - ปริมาณการผลิต (Production capacity)
                        - ราคา (Price range)
                        - ระดับคุณภาพของสินค้า/ตัวอย่างสินค้า
                        - ระยะเวลาการผลิต + ขนส่ง (Lead times)
                        - บริษัทอื่นๆ ที่น่าเชื่อถือที่สามารถอ้างอิงได้
                         (Reference & other customers)
                        - ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม(CSR/ISO)
ขั้นตอนที่ ๓ การประเมิน      - ส่งใบประเมินราคาตามความต้องการสินค้าของผู้นำเข้า
                        - (ปริมาณ, ขนาด และอื่นๆ)
                        - ตัวอย่างสินค้าตามที่ได้ตกลงกัน
                        - การตกลงเซ็นสัญญา
                        - การแจ้ง Instructions for Suppliers (IFS) สำหรับผู้ผลิตรายใหม่
                        - การสั่งซื้อ

          ทั้งนี้ ผู้นำเข้าส่วนใหญ่มักเดินทางมาจัดซื้อสินค้าใหม่ๆ ๒ ครั้งต่อปี ตามช่วงฤดูกาลและแนวโน้มแฟชั่น อย่างไรก็ตาม สวีเดนมีแนวโน้มการสั่งซื้อที่สูงจากเศรษฐกิจที่มีอัตราการเจริญเติบโตที่ค่อนข้างดีในช่วงปีที่ผ่านมาและการขยายตัวของร้านค้าปลีกในสวีเดน และในตลาดต่างประเทศ

๕. บริษัทผู้ประกอบเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญ

          บริษัทผู้ประกอบการเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายรายใหญ่ในสวีเดนนำโดย H&M ร้านค้าปลีกเสื้อผ้ารายใหญ่ของโลก ด้วยส่วนแบ่งในตลาดร้อยละ ๑๑.๔ มีร้านค้าปลีกจำนวน ๑๐๕ ร้าน ด้วยยอดขายในปี ๒๕๕๔ มูลค่า ๘๐๒.๕๗ ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาได้แก่ Nike, Lindex และ Adidas สามารดูรายละเอียดได้จากตารางด้านล่าง

แบรนด์สินค้า                   บริษัท                          ส่วนแบ่งในตลาด (ร้อยละ)
H&M                         H&M Hennes & Mauritz AB                ๑๑.๔
Nike                        Nike Sweden AB                         ๑๐.๒
Lindex                      Lindex AB                               ๗.๓
Adidas                      Adidas Sverige AB                       ๓.๒
MQ                          MQ Retail AB                            ๒.๙
Reebok                      Reebok Jofa AB                          ๒.๘
Jack & Jones                Bestseller Sverige AB                   ๒.๖
KappAhl                     KappAhl AB                              ๒.๒
Dressmann                   Cubus AB                                ๑.๗
Filippa K                   Filippa K AB                            ๑.๖

          ๕.๑ ห้างสรรพสินค้า ห้างสรรพสินค้าที่สำคัญในสวีเดนมี ๒ แห่งได้แก่ ห้างสรรพสินค้าAhlens ห้าง NK (Nordiska Kompaniet)

          ๕.๒ ร้านจำหน่ายเสื้อผ้า สินค้าแฟชั่นโดยเฉพาะ และร้านค้าอื่นๆ
              ร้าน ในสวีเดนที่จำหน่ายสินค้าเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม  ที่เป็นร้านแบรนด์ของตนเองโดยเฉพาะ เช่น H&M  หรือ oB (http://www.overskottsbolaget.se) ที่มีจำนวนร้านสาขากว่า ๙๘ แห่งทั่วประเทศตลอดระยะเวลากว่า ๔๐ ปี จำหน่ายสินค้ากว่า ๑๐,๐๐๐ รายการด้วยยอดจำหน่ายกว่า ๕๗๗ ล้านเหรียญสหรัฐ, Team Sportia http://www.teamsportia.se/ ก่อตั้งในปี ๒๕๓๒ มีจำนวนร้านสาขากว่า ๑๒๖ แห่งทั่วประเทศ ยอดจำหน่ายกว่า ๓๙๓ ล้านเหรียญสหรัฐ, Stadium มีจำนวนร้านสาขากว่า ๙๒ แห่งทั่วประเทศ http://www.stadium.se

          ๕.๓ การค้าทางพาณิชย์อีเลคโทรนิกส์ นอกจากนี้ การจำหน่ายสินค้าออนไลน์เริ่มมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในปัจุบัน เช่น Ellos http://www.ellos.se/ ที่ลูกค้าสามารถสั่งซื้อได้รวดเร็ว และมีระบบการขนส่งที่ดี และซุปเปอร์มาร์เก็ตก็ยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางนำเข้าสินค้า เช่น ICA Sweden http://www.ica.se/ ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่ใหญ่ที่สุดอีกแห่งหนุ่งในยุโรปเหนือดูแล ICA Kvantum และ Maxi ICA, COOP http://www.coop.se/ โดยมีร้านค้าทั่วประเทศมากกว่า ๗๓๐ แห่งทั่วประเทศ และมี Coop Trading เป็นบริษัทจัดการด้านการจัดซื้อ ทำกิจการร้านค้าปลีกในรูปแบบห้างสรรพสินค้า, Hypermarket, ซูปเปอร์มาร์เก็ต, ร้านสะดวกซื้อ และการขายออนไลน์ โดยมีร้านค้าปลีกในเครือข่ายหลายแบนด์ด้วยกัน ได้แก่ Coop Forum, Coop Extra, Coop Konsum, Coop Nไra, Coop Extra, Coop Forum, Coop Bygg, Coop K๖k & Cafe และ Mataffaren.se ซึ่งเป็นร้านค้าออนไลน์ และ Axfood http://www.axfood.se/ มีร้านค้ากว่า ๒๔๓ แห่งดูแลร้านค้าสาขาต่างๆ เช่น Hemk๖p และ Willys

          ๕.๔  ตัวอย่างความสำเร็จของแบรนด์เสื้อผ้าสวีเดน

          H&Mหากกล่าวถึงเสื้อผ้าแฟชั่นแล้ว คงจะไม่มีใครที่ใม่รู้จักเสื้อผ้าแบรนด์ดังระดับโลกจากสวีเดนอย่าง H&M บริษัท H&M ก่อตั้งโดยนาย Eling Persson เมื่อปี ๒๔๙๐ โดยใช้ชื่อว่า Hennes ณ กรุงสตอกโฮล์ม โดยเริ่มจากเสื้อผ้าสตรีเป็นหลัก และเริ่มขยายอีกหลายรายการอีกต่อมา รวมทั้งเสื้อผ้าบุรุษ เด็ก และเครื่องประดับต่างๆ จนกระทั่งกลายเป็นบริษัท Hennes & Mauritz ในปัจจุบัน
          เมื่อสินค้าเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในตลาด ลูกชายของนาย Eling Persson จึงมีความคิดการเปลี่ยนแบรนด์เพื่อให้ลูกค้าสามารถจดจำได้ง่ายขึ้น (Name catchier) และตัดสินใจใช้ชื่อ H&M ในเวลาต่อมา และใช้กลยุทธ์ทางธุรกิจที่เน้นทางด้านการออกแบบ แฟชั่น คุณภาพ ในราคาย่อมเยาที่ทุกคนสามารถมีไว้ครอบครองได้ (Fashion & Quality at the best price) นอกจากนั้น H&M ยังดึงดีไซเนอร์ระดับโลกให้เข้ามาร่วมออกแบบในคอลเล็คชั่นต่างๆ เช่น Versace, Sonia Rykiel, Mattew Williamson, Roberto Cavalli, Jimmy Choo, Stella McCartney และ Karl Lagerfeld หรือแม้กระทั่งนักเตะฟุตบอลระดับโลกอย่าง David Beckham ที่เข้าร่วมการออกแบบชุดชั้นในชาย
          ปัจจุบัน H&M มีร้านค้าจำหน่ายมากถึง ๒,๗๐๐ ร้านค้าใน ๔๘ ประเทศทั่วโลก และดูแลแบรนด์ต่างๆ ได้แก่ H&M, COS, Weekday, Monki และ Cheap Monday ด้วยจำนวนพนักงานกว่า ๙๔,๐๐๐ คน อีกทั้งบริษัทยังบริจาค และเข้าร่วมโครงการทางสังคมกับทาง UNICEF อีกด้วย

          Lindex
          Lindex ถูกต่อตั้งเมื่อปี ๒๔๙๗ โดย Ingemar Boman และ Bengt Rosell ปัจจุบัน Lindex มีร้านค้ากว่า ๔๓๐ แห่งในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย บอลติก รัสเซีย ยุโรปกลาง บอสเนีย และแถบตะวันออกกลาง ด้วยคอนเซปต์ Inspiring, affordable fashion to fashion-conscious women ซึ่งปัจจุบัน Lindex มีรายได้กว่า ๗๔๘.๗๗ ร้อยล้านเหรียญสหรัฐ
          ในช่วง ๒ - ๓ ปีที่ผ่านมา Lindex ใช้กลยุทธ์การบุกตลาดใหม่ ได้แก่ กรุงปราก เมืองบราติสลาวา ประเทศสโลวาเกีย ดูไบ และบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา และเริ่มการจำหน่ายออนไลน์ที่ฟินแลนด์ก่อนเป็นประเทศแรก และขยายต่อไปยังประเทศอื่นๆ ต่อมา อีกทั้ง Lindex ได้ร่วมมือกับดีไซเนอร์ชื่อดังระดับโลกอย่าง Narciso Rodriguez ผู้สร้างคอลเล็คชั่นอย่าง "Pink Collection by Narciso Rodriguez" และรวบรวมรายได้กว่า ๑.๐๗ ล้านเหรียญสหรัฐแก่กองทุนวิจัยโรคมะเร็งเต้านม และ Lindex ยังมั่นใจการเจริญเติบโตในอนาคตของบริษัทในตลาดโลกด้วยการออกแบบดีไซน์ ความหลากหลายของแฟชั่น และคอนเซ็ปร้านค้าที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใครด้วย (Inspiring design, a wide range with a high sense of fashion and a unique store concept)
          นอกจากนี้ ยังมี ชุดชั้นใน Abetica  เสื้อจาก Eton และ Stenstr๖ms เครื่องแต่งกายสตรี Kriss เครื่องแต่งกายบุรุษของ Oscar Jocobson ชุดทำงานจาก Kwintet และ Blaklader เสื้อผ้าที่ใช้ได้ทั้งเพศชาย และหญิงจาก Tiger of Sweden และชุดถักของ Rester๖ds เป็นต้น

๖. ข้อเสนอแนะ

          ๖.๑  ส่วนแบ่งตลาดเสื้อผ้าแฟชั่นในสวีเดนนำโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ของสวีเดนเอง ได้แก่ H&M Hennes & Mauritz Sverige AB และ KappAhl AB และบริษัทเสื้อผ้าแบรนด์ที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันร้านค้าปลีก (Apparel specialist retailers) ก็ได้เข้ามีมีบทบาทสำคัญในตลาดเป็นอย่างมาก รวมทั้งการค้าปลีกผ่านออนไลน์ซึ่งจะเริ่มมีอัตราการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายกีฬาที่จำหน่ายในร้านอุปกรณ์กีฬา (Sports goods store) ก็มีอัตราการเจริญเติบโตเช่นเดียวกัน

          ๖.๒  ราคาและ การออกแบบ และสีสัน ยังเป็นปัจจัยที่สำคัญในการเข้าสู่ในตลาดนี้  ผู้นำเข้าสวีเดนหลายรายนิยมสินค้าจากประเทศไทย แต่หลายรายยังเห็นว่าราคาสินค้าไทยยังสูงเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งอื่นๆ ในตลาด โดยเฉพาะสินค้าที่จำหน่ายในไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูปเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งปัจจุบันได้เข้ามามีส่วนแบ่งในตลาดเพิ่มขึ้น และเป็นตลาดที่ผู้บริโภคมีความอ่อนไหวต่อราคา  (Price sensitive)

          ในขณะเดียวกันตลาดระดับบนนั้น คุณภาพเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อ ดังนั้น การพัฒนาคุณภาพของสินค้า การนำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาใช้ การลดต้นทุน การชูจุดเด่นของสินค้า การใส่ใจต่อผลกระทบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมด้วย การปรับกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อให้เหมาะสมกับภาวะทางเศรษฐกิจ และสังคมเน้นด้านการวิจัยพัฒนาสินค้า (R&D intensive) โดยการพัฒนาสินค้า "ฉลาด และหลักแหลม" (Smart & intelligent textiles) เช่น ความดูดซับของความชื้น เนื้อผ้าที่ช่วยป้องกันฝุ่น หรือโรคภัยต่างๆ  และผ้าที่ทำให้รู้สึกเย็นในเวลาที่อากาศร้อนจัด เป็นต้น ก็จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการนำพาธุรกิจให้ประสบความสำเร็จเช่นกัน


          สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโคเปนเฮเกน
          พฤศจิกายน  ๒๕๕๕

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ