โอกาสใหม่ของตลาดยางพาราและพลาสติกในจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 19, 2014 16:03 —กรมส่งเสริมการส่งออก

จากการเปลี่ยนแปลงและความไม่มีเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลก ทำให้อุตสาหกรรมยางพาราและพลาสติก ได้รับผลกระทบ แต่เนื่องจากความต้องการของตลาดยังคงมีสูงขึ้นและนโยบายพิเศษของจีน ทำให้ภาวะความต้องการฟื้นตัว จนกลายเป็นโอกาสใหม่สำหรับอุตสาหกรรมยางพาราและพลาสติก

ยางพารา ในปี 2556 การเติบโตของอุตสาหกรรมยางพาราเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10-15 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทั้งนี้ จีนมีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม เทคโนโลยี การพัฒนาความเป็นเมือง และการประหยัดพลังงานฯลฯ ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวต้องการใช้ยางพาราเป็นจำนวนมาก เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า การบรรจุหีบห่อ การก่อสร้าง เป็นต้น

พลาสติก จากการวิจัยของ Freedonia Group พบว่า ความต้องการพลาสติกของสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 ต่อปี จนถึงปี 2560 แต่เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก ทำให้ช่วงปี 2550-2555 ตลาดพลาสติกของสหรัฐฯ ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง แต่ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา ภาวะของตลาดฟื้นตัวขึ้นทำให้มีการใช้พลาสติกเพิ่มขึ้น

ส่วนตลาดจีน มีการใช้พลาสติกในหลายๆ อุตสาหกรรมเช่นกัน เช่น การผลิตเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนตลาดรถยนต์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นและเน้นออกแบบที่ความปลอดภัยและสะดวกสบาย ก็ส่งผลให้การใช้พลาสติกเพิ่มขึ้นด้วย ปัจจุบันนี้พลาสติก PU และ PS กำลังได้รับความนิยมจากตลาด เนื่องจากการฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์และนโยบายการปรับโครงสร้างของสิ่งก่อสร้างให้สอดคล้องกับการประหยัดพลังงาน ส่งผลให้ความต้องการ PU ชนิดแข็งมีมากขึ้น เพื่อใช้ทำหลังคาและผนังที่สามารถรักษาความอบอุ่น รวมทั้งหน้าต่างที่กันความร้อน ฯลฯ คาดว่า ปี 2560 ความต้องการ PU ชนิดอ่อนจะมีมากกว่าชนิดแข็ง เนื่องจากมีคุณสมบัติสามารถรับแรงกระแทก จึงทำให้ความต้องการเพิ่มขึ้นมาก เพื่อผลิตอุปกรณ์สำหรับการนอนและพรมปูพื้น ฯลฯ ส่วน PS ที่มีความได้เปรียบด้านกันความร้อนและความชื้น ตลอดจนราคาต่ำ จึงมีความต้องการสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตวัสดุบรรจุหีบห่อ แต่การใช้ PS มีปัญหาทำลายยาก ซึ่งเป็นผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม จึงคาดว่า ในอนาคตกระดาษจะกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของ PS ในการผลิตวัสดุบรรจุหีบห่อ

ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน สคร.หนานหนิง

Email: newmarket@ditp.go.th Website: www.ditp.go.th

--สำนักพัฒนาตลาดใหม่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ