อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารในเม็กซิโก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 14, 2018 15:12 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ภาพรวม

ในเม็กซิโก สินค้าสำเร็จรูปร้อยละ 80 จำเป็นต้องมีบรรจุภัณฑ์ โดยร้อยละ 90 ของสินค้าดังกล่าวเป็นอาหารและเครื่องดื่ม จึงถือว่าสินค้าทั้ง 2 ชนิดนี้สามารถสะท้อนถึงอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ของประเทศได้

จากข้อมูลสมาคมบรรจุภัณฑ์ของเม็กซิโก (AMEE) ระบุว่า การนำเข้าบรรจุภัณฑ์อาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 และในปี 2017 การผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารของประเทศมีถึง 11.9 ล้านตัน อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารในเม็กซิโก (ผู้นำเข้า ผู้ผลิตท้องถิ่น และผู้ส่งออก) สร้างการจ้างงานโดยตรง 75,000 ราย และการจ้างงานทางอ้อม (ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระจายและขนส่งสินค้าดังกล่าว) 350,000 ราย

การผลิต

เม็กซิโกสามารถผลิตชิ้นส่วนบรรจุภัณฑ์อาหารจำนวน 8.5 ล้านตัน แต่ไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการภายในประเทศ เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ความต้องการบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นด้วย

แนวโน้มความต้องการ

ข้อมูลจากสมาคมฯ ยังระบุอีกว่า ปัจจัยที่กำหนดความต้องการบรรจุภัณฑ์มี 3 ประการ ได้แก่

1. ความยั่งยืน (Sustainability): ผู้ประกอบการทั้งหลายมองหาบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตโดยใช้พลังงานที่น้อยกว่าเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (ตั้งแต่การใช้วัตถุดิบในการผลิตจนถึงสินค้าบรรจุภัณฑ์ขั้นสุดท้าย) และไม่ใช่เพียงวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงความสมดุลระหว่างประสิทธิภาพในการใช้งานและต้นทุนอีกด้วย

2. การตลาด: บรรจุภัณฑ์เป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับผู้บริโภคที่มีต่อการเลือกสินค้าของตนเอง นับตั้งแต่จุดซื้อขาย การขนส่ง การเก็บรักษา จนถึงการนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ ดังนั้น ความสำเร็จหรือล้มเหลวของสินค้า จึงขึ้นอยู่กับภาพลักษณ์ของสินค้าและความสะดวกสบายที่ออกแบบมาสำหรับบรรจุภัณฑ์ด้วย

3. ความสะดวกสบาย: การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต การเพิ่มขึ้นของประชากรในเขตเมือง องค์ประกอบของครอบครัว ลักษณะของแรงงาน การตระหนักถึงสุขภาพ ฯลฯ เหล่านี้ล้วนมีผลต่อลักษณะของสินค้าและบรรจุภัณฑ์

โดยปกติอุตสาหกรรมอาหารเผชิญกับความท้าทายในการรักษาอาหารในสภาพที่ดีกว่า บรรจุภัณฑ์จึงมีบทบาทสำคัญด้วยการออกแบบและใช้วัสดุที่มีนวัตกรรม นอกจากนี้ยังต้องประหยัดและรักษาความสดของสินค้าจนถึงมือผู้บริโภค

Ms. Edith Ponce Alquicira นักวิจัยจากภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพของ Autonomous Metro -politan University (UAM) กล่าวว่า การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ไม่เพียงแค่การป้องกันสินค้าจากสภาพแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของอาหาร การให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับองค์ประกอบของอาหาร วิธีบริโภค ฯลฯ และการออกแบบที่ดึงดูดความสนใจจากภาวะโลกร้อนและมลพิษสูง ทำให้อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์มีการพัฒนาความคิดที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยใช้วัสดุและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนการนำของเสียกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งถือเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน (Sustainable packaging) กล่าวคือ เป็นการใช้ทรัพยากรผลิตและลดของเสียจากสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ

Mr. Guillermo J. Rom?n นักวิจัยจาก National Polytechnic Institute (IPN) เชื่อว่า บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนสอดคล้องกับการออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-design) แนวคิดนี้ทำให้เกิดการเลือกวัสดุที่มีผลกระทบต่ำและลดปริมาณการใช้วัสดุ ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในระบบการผลิตและกระจายสินค้า อย่างไรก็ดี มักมีข้อถกเถียงว่าบรรจุภัณฑ์เหล่านี้กลายเป็นขยะด้วยหรือไม่

Ms. Ponce Alquicira หนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ เห็นว่า การพัฒนาวัสดุที่มีการย่อยสลายทางชีวภาพ การปกป้องสิ่งแวดล้อม การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและการลดปริมาณน้ำมันสำรอง (ส่งผลให้ต้นทุนบรรจุภัณฑ์พลาสติกสูงขึ้น จึงมีการแสวงหาวัตถุดิบอื่นทดแทน เช่น วัสดุรีไซเคิลและย่อยสลายได้) ล้วนเป็นปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ด้วย

นักวิทยาศาสตร์และนักอุตสาหกรรมได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แทนที่ฟิล์มพลาสติก โดยใช้ Biopolymers จากแหล่งพลังงานทดแทน วัสดุฟิล์มสามารถเป็น Polysaccharides เช่น แป้ง (แป้งสำปะหลัง) และ Chitosan (พบในเปลือกของสัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็ง หรือ Crustaceans) รวมถึงเซลลูโลสหรืออนุพันธ์หรือทำด้วยโปรตีน เช่น Casein, โปรตีนเวย์ (Whey), คอลลาเจนและกลูเตน นอกจากนี้ยังมีวัสดุบรรจุภัณฑ์อื่นๆ ได้แก่ โพลีเมอร์ธรรมชาติหรือโพลีเมอร์ชีวภาพ เช่น กรดพอลิแลคติก (PLA) Polyhydroxyalkanoate (PHA) และ Polyhydroxybutyrate (PHB) ซึ่งได้จากการหมักจุลินทรีย์ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติหรือจุลินทรีย์ที่ดัดแปลงพันธุกรรม

อีกแนวโน้มหนึ่งในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ คือ Active Packaging (AP) ทำหน้าที่ปกป้องอาหารและควบคุมสภาพบรรยากาศภายในบรรจุภัณฑ์ ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้มีการใช้งานได้หลากหลายขึ้น ในเม็กซิโกความคิดเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์แบบดั้งเดิมได้เปลี่ยนมาสู่ Active Packaging โดยประกอบด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เอนไซม์ การแต่งกลิ่น Nutraceuticals และสารต้านจุลชีพ รวมถึงตัวดูดซับออกซิเจนและความชื้น ฯลฯ

แนวคิดของ Active Packaging นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มอายุการเก็บรักษา โดยไม่ทำให้คุณภาพของอาหารเปลี่ยนแปลงไป เช่น กลิ่นหืน การเปลี่ยนสีของอาหาร การเติบโตของจุลินทรีย์ ฯลฯ โดยข้อได้เปรียบของการใช้บรรจุภัณฑ์ชนิดนี้ คือ ช่วยลดและขจัดความจำเป็นในการเติมสารกันบูด ทำให้เกิดการผลิตสินค้าที่เป็น "ฉลากสะอาด (Clean label)" ที่มีสารกันบูดต่ำหรือไม่มีเลยบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ (Smart packaging)

หนึ่งในแนวคิดที่แพร่หลายปัจจุบัน คือ บรรจุภัณฑ์อัจฉริยะที่ถูกจำแนกตามคุณสมบัติ ส่วนประกอบหรือวัสดุที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ บรรจุภัณฑ์อัจฉริยะมุ่งเน้นจะทำให้การเก็บรักษาอาหารได้นานขึ้นโดยยังรักษาความสด และรักษาอุณหภูมิที่เหมาะสม คุณภาพทางจุลชีววิทยา และระดับของออกซิเจนหรือคาร์บอนไดออกไซด์ของอาหารได้เอง ปัจจุบันมีภาชนะที่สามารถรักษาอุณหภูมิที่เย็น หรือร้อนได้โดยไม่ต้องใช้ไมโครเวฟ ซึ่งอิตาลีเป็นสิทธิบัตรของบรรจุภัณฑ์ชนิดนี้และมีการวางจำหน่ายแล้ว

ส่วนนาโนเทคโนโลยีปกติมักใช้ในอุปกรณ์พิเศษที่สามารถอ่านลักษณะทางกายภาพของภาชนะ เก็บข้อมูลและตรวจจับข้อมูลได้มาก นาโนเทคโนโลยีในบรรจุภัณฑ์อาหารจะใช้ชิพ (Chip) ที่ทำให้ผู้บริโภคทราบข้อมูลได้ เช่น วันหมดอายุของสินค้า วิธีการใช้ คำแนะนำ การเปิดภาชนะ ฯลฯ

ปัจจัยสำหรับภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ที่ดีเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น สี ขนาด และแบรนด์ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการออกแบบบรรจุภัณฑ์

สำหรับตลาดเครื่องดื่มนั้น ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อบรรจุภัณฑ์ คือ สภาพภูมิอากาศของประเทศหรือภูมิภาคที่จำหน่ายสินค้า เช่น ภูมิอากาศที่ร้อน ขนาดของบรรจุภัณฑ์มีแนวโน้มใหญ่กว่า

นวัตกรรม

Mr. Roberto Fernandez, ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมและโครงการของ Grupo Jumex (หนึ่งในผู้นำของตลาดเครื่องดื่มในเม็กซิโกที่ผลิตน้ำผลไม้และส่งออกทั่วโลก) กล่าวว่า ความสามารถในการแข่งขันของประเทศขึ้นอยู่กับความสามารถของอุตสาหกรรมในการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ โดย Grupo Jumex ใช้รายได้ร้อยละ 2.5 ในการคิดค้นนวัตกรรมสินค้าและกระบวนการผลิต

การนำเข้า

ในระดับนานาชาติ มี 3 ประเทศที่เป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์อาหาร ซึ่งได้แก่ สหรัฐอเมริกา อิตาลี และเยอรมนี อย่างไรก็ตาม ประเทศอื่นๆ เช่น สเปน ญี่ปุ่น จีน และบราซิล ได้มีส่วนร่วมในตลาดมากขึ้น เม็กซิโกแม้มีการนำเข้าบรรจุภัณฑ์ (สำเร็จรูป) จากประเทศเหล่านี้ แต่ก็ได้เพิ่มการลงทุนด้านเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์อาหาร (เครื่องจักร) ด้วย

จากข้อมูลสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องจักรบรรจุภัณฑ์ (COPAMA) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่รวบรวมสมาคมเครื่องจักรต่างๆ ทั่วโลก ระบุว่า อุปกรณ์สำหรับบรรจุภัณฑ์อาหารที่ผลิตโดยประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาต่างก็มีตลาดในประเทศของตนเอง ในขณะที่เยอรมนีและอิตาลีส่งออกเครื่องจักรราวร้อยละ 66 ของการค้าระหว่างประเทศ

ส่วนเม็กซิโกนำเข้าเครื่องจักรและบรรจุภัณฑ์ราว 480 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยนำเข้าหลักจากสหรัฐอเมริกา อิตาลี จีน สเปน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี และฝรั่งเศส นอกจากนี้ ยังนำเข้าเทคโนโลยีร้อยละ 80 และเป็นหนึ่งในลูกค้าหลักของสหรัฐอเมริกา ซึ่งอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ต้องการเครื่องจักรใหม่ที่มีคุณสมบัติพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความมีประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน

ทั้งนี้ ผู้นำเข้าเม็กซิกันกำลังมองหานวัตกรรมการออกแบบและเครื่องจักรอเนกประสงค์ เนื่องจากผลิตสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์มากกว่า 1 ชนิดในสายการผลิตเดียวกันโดยใช้เครื่องจักรเดียว นอกจากนี้ เครื่องจักรดังกล่าวยังต้องมีความเร็วและประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่ไฟฟ้าทดแทนที่ใช้กำลังอัดของอากาศ

ที่มา

1.Mexican Association of Packaging (AMEE).

2.Department of Biotechnology of the Autonomous Metropolitan University (UAM)

3.National Polytechnic Institute (IPN)

4.Confederation of Packaging Machinery Associations (COPAMA)

5.World Trade Atlas

ที่มา: www.ditp.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ