ชาวอิหร่านมีค่านิยมเคารพนับถือผู้มีการศึกษาสูง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจของอิหร่านที่ไม่ดีนัก ทำให้ประชาชนต้องต่อสู้ดิ้นรนแสวงหาการศึกษาที่ดีเพื่อให้มีงานทำ ชาวอิหร่านจึงสนับสนุนและลงทุนให้บุตรหลานของตนศึกษาสูงสุดถึงระดับมหาวิทยาลัย ทั้งในและต่างประเทศ
ในแต่ละปี นักเรียนอิหร่านที่ศึกษาจบระดับมัธยมจะต้องผ่านการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยประจำปีที่เรียกว่า Konkour เพื่อเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาของรัฐ (Public institutions) ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 309 แห่ง (มหาวิทยาลัยจำนวน 154 แห่ง วิทยาลัยจำนวน 140 แห่ง และสถาบันการศึกษาขั้นสูงจำนวน 15 แห่ง) โดยสถาบันการศึกษาของรัฐเป็นที่นิยมของชาวอิหร่าน เนื่องจากได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐบาลและไม่คิดค่าเล่าเรียนจากนักศึกษาแต่อย่างใด
มหาวิทยาลัย (Public Universities) ของรัฐอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวิทยาศาสตร์ การวิจัย และเทคโนโลยีมีจำนวน 89 แห่ง และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณะสุขและแพทย์ศาสตร์มีจำนวน 41 แห่ง ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการมีจำนวน 15 แห่ง และภายใต้กระทรวงและหน่วยงานของรัฐอื่นๆ อีก 9 แห่ง
วิทยาลัยของรัฐ (Public Colleges) อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการจำนวน 115 แห่ง และภายใต้กระทรวงและหน่วยงานของรัฐอื่นๆ อีก 25 แห่ง
สถาบันการศึกษาระดับสูงของรัฐ (Public Higher Education) อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวิทยาศาสตร์ การวิจัย และเทคโนโลยีมีจำนวน 15 แห่ง
สำหรับสถาบันการศึกษาเอกชน (Private institutions) ที่ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากภาคเอกชนมีทั้งสิ้น 29 แห่งโดยสามารถรับนักศึกษาได้ 35,000 คนต่อปี ทั้งนี้ รัฐบาลอิหร่านสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการศึกษาขั้นสูง ทำให้สถาบันการศึกษาเอกชนมีความเจริญก้าวหน้าและสามารถรับนักศึกษาใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี
ในอดีต ภายหลังจากการปฏิวัติอิสลาม เมื่อปี ค.ศ. 1979 หลักสูตรการสอนในมหาวิทยาลัยถูกควบคุมและกำหนดตามหลักศาสนาอิสลามอย่างเข้มงวด โดยการศึกษาของสตรีได้รับการพัฒนาให้เท่าเทียมกับบุรุษ นอกจากนี้ รัฐบาลได้อนุญาตให้สตรีที่ยังไม่แต่งงานสามารถไปศึกษาต่อยังต่างประเทศได้อีกด้วย
ในปี 2004 กระทรวงวิทยาศาสตร์ การวิจัย และเทคโนโลยี (Ministry of Science, Research and Technology) ของอิหร่านเปิดเผยว่ามีนักเรียนเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาต่างๆ ในระดับมหาวิทยาลัยถึง 2,114,471 คน โดยเป็นสตรีร้อยละ 53.94 และบุรุษร้อยละ 46.06 ซึ่งแบ่งตามระดับการศึกษา และสาขาที่ศึกษา ดังตาราง 1 และ 2
- ระดับ Associates degree หรือ Diploma Degree จะต้องจบการศึกษาในระดับมัธยมปลาย และผ่านการสอบคัดเลือกทั่วประเทศ โดยนักศึกษาจะต้องผ่านหลักสูตรจำนวน 72-78 หน่วยกิจ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 ปี
- ระดับ Undergraduate หรือ Bachelor Degree การรับนักศึกษาระดับนี้ จะพิจารณาจากคะแนนสะสมในระดับมัธยม และผลคะแนนสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย โดยนักศึกษาควรจบหลักสูตรใน 4-5 ปี โดยเรียนเต็มเวลา (ไม่มีเรียน part-time) และลงทะเบียนเรียนไม่น้อยกว่า 14 หน่วยกิจต่อภาค และสูงสุดไม่เกิน 21 หน่วยกิจ และจบการศึกษาเมื่อเรียนครบ 153 หน่วยกิจ
- ระดับ Post graduate หรือ Master Degree การศึกษาระดับนี้ มุ่งเน้นจะให้นักศึกษาระดับเกียรตินิยมได้ศึกษาต่อ โดยต้องผ่านการสอบคัดเลือกอีกครั้ง นักศึกษาที่ศึกษาเต็มเวลา ควรจบหลักสูตรในระยะเวลา 2 ปี โดยสามารถเลือกแนวทางการเรียนได้สามทางคือ (ก) เรียน 38 หน่วยกิจ (ข) เรียน 30 หน่วยกิจและทำวิทยานิพนธ์ (ค) เรียน 22 หน่วยกิจและทำวิทยานิพนธ์เชิงวิจัย
- ระดับ Graduate doctorate หรือ Doctorate Degree นักศึกษาที่ศึกษาจบ Master Degree ที่ได้ระดับเกียรตินิยมอย่างน้อยระดับ 2 และผ่านการสอบคัดเลือก สามารถเข้าศึกษาต่อในระดับ Doctorate Degree ซึ่งเรียนอย่างน้อย 3 ปี ประกอบด้วยการเรียนในห้องเรียน 60 หน่วยกิจ และสอบเพื่อเป็น Ph.D. Candidate และเขียนวิทยานิพนธ์ เพื่อขอสอบในขั้นสุดท้าย
- ระดับ Specialized Doctorate เป็นการศึกษาในสาขาเภสัช ทันตกรรม สัตว์แพทย์ และแพทย์ศาสตร์ โดยใช้ระยะเวลาในการศึกษาทั้งสิ้น 6 ปี ลงทะเบียนเรียน 210-290 หน่วยกิจ และทำวิทยานิพนธ์
การให้คะแนนสอบจะอยู่บนพื้นฐาน 1-20 หน่วย
A = 17-20
B = 14-16.9
C = 12-13.9
D = 10-11.9
ในระดับ Undergraduate คะแนนขั้นต่ำอยู่ที่ 10
ในระดับ Post graduate คะแนนขั้นต่ำอยู่ที่ 12
ในระดับ Graduate doctorate คะแนนขั้นต่ำอยู่ที่ 14
- สถาบันการศึกษาในอิหร่านยังมีคุณภาพและตำราที่ไม่ทันสมัยเมื่อเปรียบเทียบกับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ
- เกิดภาวะว่างงานภายในประเทศสูงถึงร้อยละ 12 การศึกษาต่อในต่างประเทศโดยได้รับทุน (Scholarships) จากต่างประเทศ จึงเป็นลู่ทางในการหางานทำในประเทศอื่น
- ตลาดมีความต้องการผู้ที่เรียนจบการศึกษาขั้นสูงจากต่างประเทศ เนื่องจากสามารถพูดภาษาต่างประเทศได้ และมีทัศนะกว้างไกล
- การสอบเข้ามหาวิทยาลัยมีการแข่งขันสูง โดยในแต่ละปีมีนักเรียนร้อยละ 10 เท่านั้นที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ดังนั้นผู้ที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้บางส่วนจึงตัดสินใจไปศึกษาต่อในต่างประเทศ
- รับสมัครนักเรียนหรือนักศึกษาชาวอิหร่านไปศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาขั้นสูงในประเทศไทย (โดยทุนรัฐบาลหรือทุนอื่นๆ) โดยเฉพาะในสาขาวิทยาศาสตร์ การแพทย์ เทคโนโลยี การจัดการ การสื่อสารโทรคมนาคม และวิศวกรรม
- พัฒนาหลักสูตรคู่ขนาน (Dual track) กับหลักสูตรปริญญาโทหรือเอก โดยสอนร่วมกับสถาบันการศึกษาในอิหร่าน
- ทำวิจัย การบริหารโครงการ หรือให้คำปรึกษา ร่วมกับสถาบันการศึกษาในอิหร่าน
- พัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรม ตามความต้องการของตลาดแรงงานในอิหร่าน
- ฝึกอบรมภาษาอังกฤษ หรือการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์
- ฝึกอบรมระยะสั้น ในเรื่องการแพทย์ หรือการอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ฯลฯ
- ขาดการประชาสัมพันธ์เรื่องสถาบันการศึกษาของไทย ซึ่งปัจจุบัน สถาบันการศึกษาไทยยังไม่เป็นที่รู้จักในหมู่ประชาชนชาวอิหร่าน
- ขาดแหล่งทุนด้านการศึกษา (Scholarships) ที่จะให้กับนักศึกษาชาวอิหร่านที่จะเดินทางไปศึกษาต่อในประเทศไทย
- สถาบันการศึกษาของไทยยังไม่ได้รับการรับรองจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ การวิจัย และเทคโนโลยีของอิหร่าน ทำให้นักศึกษาชาวอิหร่านที่จบการศึกษาจากประเทศไทยไม่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐในอิหร่าน (สำนักงานฯ อยู่ในระหว่างการประสาน ขอข้อมูลเพิ่มเติมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์ การวิจัย และเทคโนโลยี)
ช่วงเวลาการศึกษา
- ภาคการศึกษาที่ 1 ระหว่าง 22 กันยายน ถึง 19 มกราคม
- ภาคการศึกษาที่ 2 20 มกราคม — 15 กรกฎาคม
ช่วงเวลาสอบ
- ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 25 สิงหาคม — 7 กันยายน
- ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 24 มิถุนายน — 6 กรกฎาคม
หากสถาบันการศึกษาของไทยต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเตหะราน ทาง E-mail: [email protected], หรือโทร +(98-21) 2205 7378 & 9, (98-21) 2205 9776
สำนักงานการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเตหะราน
Upload Date : ตุลาคม 2551
ที่มา: http://www.depthai.go.th