ภาวะตลาดสินค้าชุดชั้นในสตรีของไต้หวัน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 23, 2009 08:57 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ภาวะตลาดทั่วไป

สำหรับในไต้หวันแล้วหากมองย้อนกลับไปในสมัย 50 ปีก่อนชุดชั้นในสตรีถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีใช้เฉพาะในกลุ่มชนชั้นสูง แต่หลังจากที่เศรษฐกิจของไต้หวันเริ่มพัฒนามากขึ้นในช่วงยุคปี 1970 ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในประเทศยกระดับสูงขึ้น สตรีส่วนใหญ่จึงเริ่มหันมาเอาอย่างสังคมตะวันตกด้วยก รสวมใส่ชุดชั้นในแบบบราเซีย แต่ถึงกระนั้นก็ดีผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ยังคงจำกัดอยู่ในวงของชนชั้นกลางและสูงมากกว่าเนื่องจากมองว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ไม่เหมือนในปัจจุบันที่ชุดชั้นในสตรีได้กลายมากเป็นสินค้าแฟชั่นประเภทหนึ่งซึ่งผู้หญิงส่วนใหญ่ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะมีส่วนช่วยในการสร้างความมั่นใจให้กับรูปร่างและบุคลิกของตน ทำให้มีแบรนด์ต่างๆ ทั้งจากในและต่างประเทศเข้าสู่ตลาดอย่างไม่หยุดหย่อน นอกจากนี้ จากการที่เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้ามากขึ้น ก็ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อช่องทางการจำหน่ายที่มีหลากหลายมากขึ้น ทั้งผ่านช่องทางปกติเช่นร้านค้า ห้างสรรพสินค้า และไฮเปอร์มาร์เก็ตต่างๆรวมไปจนถึงไดเร็คเมล์ หรือผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ตและทีวีช็อปปิ้งที่มีอยู่มากมาย จนทำให้ปัจจุบันตลาดชุดชั้นในสตรีในไต้หวันมีมูลค่าสูงถึงประมาณ 25,000 ล้านเหรียญไต้หวันต่อปี (1 เหรียญสหรัฐฯ เท่ากับ 34 เหรียญไต้หวันโดยประมาณ)

2. การส่งออก

ในปี 2551 ที่ผ่านมาไต้หวันส่งออกสินค้าชุดชั้นในสตรี (HS-Code: 621210) รวมทั้งสิ้นคิดเป็นมูลค่า 12.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.06 จากปี 2550 โดยไต้หวันส่งออกไปยังฮ่องกงมากที่สุดด้วยมูลค่า 3.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ลดลงร้อยละ 7.79) รองลงมาได้แก่จีน (มูลค่า 2.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 62.58) สเปน (มูลค่า 1.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 211.73) สหรัฐฯ (มูลค่า 1.17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 33.57) และสิงคโปร์ (มูลค่า 0.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 31.37)

3. การนำเข้า

ในปี 2551 ไต้หวันนำเข้าสินค้าชุดชั้นในสตรีคิดเป็นมูลค่ารวม 58.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.73 จากปี 2550 โดยแหล่งนำเข้าอันดับหนึ่งของไต้หวันได้แก่ จีน ด้วยมูลค่า 19.82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 14.88 จากปีก่อนหน้า รองลงมาได้แก่ไทย (มูลค่า 14.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.52) เวียตนาม (มูลค่า 9.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 14.02) ญี่ปุ่น (มูลค่า 3.05 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 15.50) และฝรั่งเศส (มูลค่า 2.61 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.01) รายละเอียดเพิ่มเติมปรากฏตามตารางที่ 1

ตารางที่ 1 สถิติการนำเข้าสินค้าชุดชั้นในสตรีของไต้หวัน

หน่วย: US$ Million

ประเทศ                 2549     2550    +/-(%)     2551       +/-(%)
1. จีน                 31.37    23.28     -25.8    19.82       -14.90
2. ไทย                 9.15    10.35     13.11    14.44        39.52
3. เวียตนาม            11.77    11.05     -6.12     9.50       -14.00
4. ญี่ปุ่น                 6.75     3.61     -46.5     3.05       -15.10
5. ฝรั่งเศส              2.60     2.23     -14.2     2.61        17.01
6. ฟิลิปปินส์              0.24     0.42     75.00     2.35       466.30
7. มาเลเซีย             0.96     1.27     32.29     1.88        48.19
8. มาเก๊า               0.00     0.03         -     1.75     6,189.33
9. อินโดนีเซีย            0.74     0.61    -17.60     0.94        54.03
10.บังคลาเทศ            0.78     0.33    -57.70     0.45        34.18
อื่นๆ                    3.10     1.90    -38.70     1.45       -23.70
รวม                   67.46    55.08    -18.40    58.24         5.73
Source: Directorate General of Customs, MOF, Taiwan

4. ระเบียบการนำเข้า

อัตราภาษีนำเข้า (HS-Code: 621210) ร้อยละ 12 สามารถนำเข้าโดยเสรีและไม่มีระเบียบข้อบังคับอื่นใด

5. ช่องทางการจำหน่าย

สำหรับตลาดชุดชั้นในสตรีของไต้หวันแล้ว สินค้าจะถูกจำหน่ายผ่านร้านค้าที่ขายชุดชั้นในโดยเฉพาะมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 35 ของทั้งหมด รองลงมาได้แก่ห้างสรรพสินค้า (สัดส่วนร้อยละ 15) ซึ่งจำหน่ายสินค้าแบรนด์เนมเป็นหลัก และไฮเปอร์มาร์เก็ต (สัดส่วนร้อยละ 15) ที่เน้นการจำหน่ายแบบเดียวกับร้าน Outlet ของแบรนด์เนมต่างๆ รวมไปจนถึงตลาดและแผงลอย (สัดส่วนร้อยละ 15) ที่เน้นขายสินค้าราคาถูกซึ่งส่วนมากจะเป็นสินค้าจากจีน นอกจากนี้ ช่องทางจำหน่ายผ่านอินเตอร์เน็ต TV Shopping และ Direct Mail (สัดส่วนร้อยละ 10) ก็ถือเป็นช่องทางจำหน่ายสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้เช่นเดียวกัน

6. การตลาด

ความรักสวยรักงามของผู้หญิงไม่ว่าในยุคสมัยใดก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง แม้ในสมัยก่อนจะมีการมองว่าชุดชั้นเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย แต่ในปัจจุบันนี้ชุดชั้นในถือเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งกายที่ผู้หญิงแทบทุกคนจะให้ความเอาใจใส่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวัยรุ่นหญิงที่อยู่ในวัยรักสวยรักงาม และจากสถิติในปี 2006 ของหนังสือพิมพ์ Liberty Times ของไต้หวันพบว่า ผู้หญิงชาวไต้หวันจะซื้อชุดชั้นในเฉลี่ยปีละ 7-8 ชุดต่อคน โดยตลอดช่วงชีวิตจะซื้อชุดชั้นในเฉลี่ยคนละ 200 ชุด เมื่อพิจารณาถึงตัวสินค้าแล้ว สิ่งที่ผู้บริโภคในไต้หวันส่วนใหญ่จะใช้ในการเลือกซื้อสินค้าได้แก่ฟังก์ชั่นในการใช้งาน ความสบายในการสวมใส่ ความเซ็กซี่ และรูปแบบที่ทันสมัย และจากการที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ในไต้หวันจะมีขนาดทรวงอกที่ไม่ใหญ่มาก ดังนั้นชุดชั้นในแบบดันทรงที่ช่วยเพิ่มขนาดคัพจึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยรูปแบบของชุดชั้นในที่กำลังนิยมในไต้หวันในช่วงนี้จะเป็นแบบทรงตัว V ประดับขอบด้วยลายลูกไม้ที่มีสีสันสดใส ซึ่งสามารถโชว์เนินอกและเพิ่มความเซ็กซี่ให้ผู้สวมใส่

โดยผู้ประกอบการรายสำคัญในตลาดไต้หวันได้แก่แบรนด์เนมชื่อดังจากเยอรมันนีและญี่ปุ่นอย่าง Triumph และ Wacoal ที่ครองส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ไว้ โดยแบรนด์ไต้หวันที่อยู่ในอันดับรองลงมาได้แก่ Audrey, Swear, Mode Marie แต่การแข่งขันในตลาดส่วนใหญ่จะเป็นการขับเคี่ยวระหว่าง 2 แบรนด์ยักษ์ใหญ่มากกว่า ทั้งการแข่งขันในตลาดลูกค้าระดับกลางถึงสูงของแบรนด์หลัก รวมไปจนถึงการออกแบรนด์ย่อยเพื่อดึงตลาดอื่น ทั้งตลาดสำหรับสาวรุ่นอย่าง Bee D ees ของ Triumph และ Been Teens ของ Wacoal ที่ไม่เพียงมีชื่อคล้ายกันเท่านั้น เคาเตอร์ขายสินค้าในห้างสรรพสินค้าของแบรนด์ทั้งสองในไต้หวันก็มักจะตั้งติดกันในหลายที่จนบางครั้งก่อให้เกิดความสับสนแก่ลูกค้าของทั้งสองฝ่ายเอง โดยนอกจาก Bee Dees แล้ว Triumph ยังได้ออกแบรนด์ลูกและเป็นตัวแทนจำหน่ายชุดชั้นในอีกหลายยี่ห้อ เช่น Ladies (ไต้หวัน) Valisere (ฝรั่งเศส) และแบรนด์น้องใหม่จากยุโรปที่เพิ่งเปิดตัวในประเทศไทยเมื่อไม่กี่ปีนี้อย่าง Sloggi ในขณะที่ Wacoal ก็เช่นเดียวกันเพราะมีทั้ง Savvy (ไต้หวัน) Salute (ญี่ปุ่น) รวมไปจึงถึง Moi Cree neo และ Wacoal Gold

สำหรับในส่วนของแบรนด์ไต้หวันนั้น ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเห็นจะได้ Audrey ที่เน้นการขายผ่าน Channel ของตัวเองทั้งไดเร็คเมล์ อินเตอร์เน็ต ทีวีช็อปปิ้ง และที่สำคัญคือร้าน Easy Shop ซึ่งได้ไอเดียมาจากร้าน 7-11 และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากจนปัจจุบันมีมากกว่า 200 สาขาในไต้หวันและอีกกว่า 50 สาขาทั่วโลก รวมถึงยังเป็นตัวแทนจำหน่ายของแบรนด์ต่างประเทศทั้ง Barbara, Ravage และ Himico ด้วย และนอกจากนี้แล้วแบรนด์ไต้หวันรายอื่นที่มีสัดส่วนตลาดสูงเห็นจะได้แก่ Mode Marie ที่มีจุดขายสินค้าทั้งที่เป็นร้านค้าและห้างสรรพสินค้ามากกว่า 600 แห่งทั่วไต้หวัน และ Swear ที่มีจุดขายประมาณ 200 แห่งทั่วไต้หวัน

7. รายชื่อผู้นำเข้า
  • รายชื่อผู้นำเข้าสินค้าชุดชั้นในของไต้หวันรายสำคัญปรากฏตามเอกสารแนบ
8. แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
  • Taiwan Textiles Federation http://www.textiles.org.tw
  • Taiwan External Trade Development Council (TAITRA) http://www.taiwantrade.com.tw
9. งานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้อง
  • Taipei In Style 2009 http://www.taipeiinstyle.com/ August 28-30, 2009
  • Taipei Innovative Textiles Application Show 2009 http://www.titas.com.tw Oct 14-16, 2009

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศฯ ณ กรุงมะนิลา

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก ไต้หวัน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ