นโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 25, 2009 11:19 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ประเทศพัฒนาส่วนใหญ่ จะมีการจัดทำแผน ทิศทางนโยบายเศรษฐกิจ และนโยบายการค้าระหว่างประเทศ เพื่อเป็นแนวทางการทำงานของภาครัฐและเอกชน ตลอดจนให้ประเทศคู่ค้าเข้าใจภาพและทิศทางของนโยบายที่ประเทศจะเดินต่อไป ซึ่งเรียกชื่อกันว่า White paper

ญี่ปุ่น ก็เช่นเดียวกับหลายประเทศ ที่จัดทำ White Paper เป็นรายปี ในปี 2552 กระทรวงเศรษฐกิจการค้า และอุตสาหกรรม หรือ METI (Ministry of Economic, Trade and Industry) ได้ตั้งประเด็นสำหรับ 2009 White Paper on International Economy and Trade ในหัวข้อ “ Global Economic Strategy of Converting Crisis into Opportunities” ซึ่งมีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้

1. สถานการณ์ปัจจุบัน และความท้าทายทางเศรษฐกิจโลกต้องเผชิญ ปัจจัยสำคัญที่เข้ามาเกี่ยวข้องได้แก่

1.1 การเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการ (money under management) อาทิ กองทุนสวัสดิการของทั้งภาครัฐและเอกชน กองทุนประกัน และ mutual fund โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ สหรัฐอเมริกา และกองทุนสำรองระหว่างประเทศของประเทศกำลังพัฒนา เงินส่วนนี้เพิ่มจำนวนขึ้นมากกว่า 2 เท่า ในระยะเวลา 5 ปี ระหว่างปี คศ. 2002-2007 และถูกใช้ไปกับการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯและถูกเปลี่ยนไปอยู่ในรูปสินทรัพย์หนี้ โดยอัตราการเพิ่มขึ้นของหนี้เพื่อที่อยู่อาศัยสูงขึ้นกว่า 37 % ในช่วงปี 2006-2007 ก่อให้เกิดภาวะฟองสบู่ราคาของอสังหาริมทรัพย์สูงเกินจริง เมื่อฟองสบู่แตกจากการขาดเงินจริงที่หมุนเวียนในระบบ ด้วยเศรษฐกิจสหรัฐมีขนาดใหญ่ จึงส่งผลกระทบรุนแรงนำไปสู่วิกฤตทางการเงิน และเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ญี่ปุ่นมียอดการส่งออกที่ลดลงถึงกว่า 39.1 % ในเดือน กุมภาพันธ์ 2009 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนา เช่น เยอรมัน และสหภาพยุโรป

1.2 ผลของวิกฤตการเงิน ทำให้เศรษฐกิจโลก ซึ่งขับเคลื่อนด้วยฟันเฟืองหลัก 2 ด้าน คือ กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Advanced countries) และ กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังเติบโต (Emerging countries) ต้องเหลือเพียง engine เดียว คือ การขยายตัวในประเทศกำลังพัฒนา เช่น จีน อินเดีย กลุม่ประเทศแถบแอฟริกากลางและตะวันออก ซึ่งมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง นับเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นป็นครั้งแรกนับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยแบ่งผลต่อเศรษฐกิจแตกต่างกันไปตามลักษณะพื้นฐานและการพึ่งพาตลาดต่างประเทศ แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1.2.1 Credit Bubble Type เช่น สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร สเปน ไอร์แลนด์ วิกฤตการเงิน ทำให้การบริโภคหดตัวลงในทันที เนื่องจากความล้มเหลวของระบบการเงินในประเทศและฟองสบู่แตกในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

1.2.2 Export-led Type เช่น ญี่ปุ่น(การส่งออกมีสัดส่วน 17.6% ของ GDP) เยอรมัน(46.7% ของ GDP) เกาหลีใต้ (46.4 % ของ GDP) สิงคโปร์(230.9% ของ GDP) ซึ่งต้องพึ่งพาการส่งออกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ วิกฤตการเงิน ทำใหก้ รส่งออกลดลงฉับพลันเนื่องจากกำลังซื้อในตลาดหลักตกต่ำ

1.2.3 Booming Emerging Countries เช่น ประเทศในตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก เช่น Estonia, Latvia, Hungary, Romania ส่งผลให้เงินหมุนเวียนจากต่างประเทศลดน้อยลงเพราะเกิดเศรษฐกิจถดถอยในสหภาพยุโรป

1.3 มาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ถูกนำมาใช้ เช่น การจัดทำโครงการขนาดใหญ่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และเพิ่มการใช้จ่ายของครัวเรือน มาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งมีการใช้จ่ายเงินไปแล้วประมาณ 5,000 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในโครงการสาธารณะต่างๆ ทำให้หลายประเทศสามารถผ่านจุดตกต่ำสุดและค่อยฟื้นขึ้น เช่น ดัชนีราคาหุ้นดีดตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2551 หรือโครงการลดภาษีและให้เงินช่วยเหลือการซื้อรถยนต์ใหม่ในญี่ปุ่นและเยอรมัน สามารถกระตุ้น ยอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้น 20-40 %

2. ทิศทางเศรษฐกิจญี่ปุ่น ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลก

2.1 เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวในช่วงปี 2002-2007 ภายหลังจากอยู่ในภาวะถดถอยจากภาวะฟองสบู่ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 การฟื้นตัวดังกล่าวเป็นผลจากการขยายตัวของอัตราการส่งออก ไม่ใช่การบริโภคภายใน (ที่มีการเติบโตเพียงเล็กน้อย) ทำให้ อัตราการพึ่งพาการส่งออกของของเศรษฐกิจญี่ปุ่น วัดจาก ร้อยละของมูลค่าส่งออกต่อ GDP ขึ้นไปในระดับสูงสุดที่ 17.6% ในปี 2007 แต่ก็ยังน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เช่น จีน (41.3% ของ GDP) หรือ เกาหลี (46.4%) หรือประเทศที่พัฒนาแล้วในยุโรป เช่น ฝรั่งเศส (25.9%) หรือ เยอรมัน (46.7%)

2.2 สาเหตุหลักที่การส่งออกของญี่ปุ่นได้รับผลกระทบอย่างมากจากวิกฤตการเงิน เนื่องจากญี่ปุ่นได้เปลี่ยนประเภทสินค้าส่งออก มาสู่สินค้าคงทน (Durable products) ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (high valueadded goods) มากขึ้นเรื่อยๆ และในอัตราที่รวดเร็วกว่าเกาหลี สินค้ากลุ่มนี้ อาทิ เครื่องจักร เครื่อง ไฟฟ้า และ ยานยนตร์ สภาวะดังกล่าวนำไปสู่การขยายตัวของการผลิตเพื่อการส่งออกของญี่ปุ่น แต่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจและการเงิน ก็ทำให้การส่งออกรวมลดตัวลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมหดตัวตามไปด้วย การส่งออกของญี่ปุ่นไปยังสหรัฐฯ ลดลง 46.1 % ในไตรมาสแรกปี 2552 ขณะที่จีน ซึ่งส่งออกสินค้าอุปโภค-บริโภค(Basic goods) และมูลค่าเพิ่มต่ำ การส่งออกไปสหรัฐฯ ลดต่ำลงเพียง 5.5 % ในช่วงเวลาเดียวกัน

2.3 ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ญี่ปุ่นได้วางแผนปรับกลยุทธ์ แปลงวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยมีแนวทาง ดังนี้

1) โฟกัสตลาดไปยังตลาดที่กลุ่มผู้บริโภครายได้ปานกลาง (middle class consumers) กำลังเติบโตเช่น อาเชียน จีน อินเดีย รัสเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา เป็นต้น ซึ่งประชากรกลุ่ม middle class หรือผู้มีรายได้ระหว่าง 5,001-35,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 6.1 เท่าตัวระหว่างปี 2543-2551 กลุ่มนี้จะเป็นฐานตลาดให้แก่สินค้าของญี่ปุ่น แม้ว่าต้องเผชิญการแข่งขันรุนแรงกับสินค้าจาก จีน และเกาหลี

2) กลยุทธ์ตลาดที่จะนำมาใช้ คือ การนำเสนอจุดเด่นและความเป็นเลิศของสินค้าญี่ปุ่น ได้แก่ เทคโนโลยี green technology ในการผลิตสินค้าเกษตร การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงาน การกำจัดนำเสีย ซึ่งช่วยแก้ไขปัญหาของโลก รวมถึงวัฒนธรรมที่มีความเป็นเอกลักษณ์ทั้งในอดีต ปัจจุบัน การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบันเทิง เช่น animation แฟชั่น หนังสือ นิตยสาร เพลง ภาพยนต์ ให้ตลาดในต่างประเทศได้รับรู้

3) สร้างอนาคตทางการค้า โดยพัฒนาตลาดภายในประเทศ ให้เติบโต ตลาดของญี่ปุ่นเอง มีขนาดใหญ่ถึง 300 ล้าน ล้านเยน และมีสินทรัพย์ครัวเรือนมากกว่า 1,500 ล้าน ล้านเยน เป็นตลาดที่ยังขยายต่อไป การใส่ใจต่อผู้บริโภคในประเทศเป็นสิ่งสำคัญ ช่วงเศรษฐกิจถดถอย บริษัทญี่ปุ่นหลายรายได้สามารถสร้างกำไรได้ด้วยกลยุทธ์ต่างๆ อาทิ การให้บริการเชิงลึกแก่ลูกค้าในรายๆ (In-depth customer service) การผลิตสินค้าคุณภาพดีราคาย่อมเยา (High-quality, low price goods) การเสนอสินค้าใหม่ๆ(New goods / services) การมุ่งขยายตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche market) การมุ่งเน้นตลาดเฉพาะแทนการขายด้วยปริมาณ (Focus on “individual market” rather than “mass marketing”)

3. กลยุทธ์เศรษฐกิจและนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

METI ได้วางนโยบายสำคัญ 4 ประการ ในการกำหนดกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจ ดังนี้

3.1 การบูรณาการมาตรการเศรษฐกิจในประเทศและระหว่างประเทศเข้าด้วยกัน (Domestic and foreign integrated economic measures) โดยมีเป้าหมายทำให้ตลาดเอเชียมีขนาดเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า และผลักดันให้เอเชียเป็นศูนย์กลางการเติบโตของโลก ส่งเสริมการเปิดเสรีการค้า การลงทุนและลดการปกป้องที่เป็นอุปสรรคทางการค้า

เพื่อไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ญี่ปุ่นจะยึดมั่นตามพันธะสัญญาของความตกลงรองโดฮา ของWTO ส่งเสริมการเปิดตลาดการค้าการลงทุน และลดข้อกีดกันทางการค้า และส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ( Economic partnership agreement : EPA) รวมทั้งจะเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในกรอบต่างๆ เช่น APEC เพิ่มการใช้ประโยชน์จากสถาบันวิจัยเพื่ออาเชีย หรือ ERIA สนับสนุนและพัฒนาการเชื่อมโยงปัจจัยพื้นฐานทางธุรกิจต่างๆ เช่น น้ำประปา ไฟฟ้า เส้นทางการคมนาคม และอุตสาหกรรมบริการที่เกี่ยวเนื่อง

METI จะให้การสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา ภายใต้ WTO Doha Round Promotion แก่ สินค้า One Village One Product โดยให้ความร่วมมือในการนำความโดดเด่นพิเศษ และของสินค้าจากประเทศกำลังพัฒนา มาพัฒนาต่อ เช่น การจัดตั้ง One Village, One Product Market (OVOP) ที่สนามบิน นาริตะ และสนามบินคันไซ เพื่อจัดแสดงและจำหน่ายสินค้า OVOP ของประเทศต่างๆ (วางแผนสำหรับ สินค้า 380 ชนิดจาก 36 ประเทศ) เพื่อให้เกิดการซื้อขายและพัฒนาสินค้าท้องถิ่นของประเทศกำลังพัฒนา

3.2 ส่งเสริมนวัตกรรมในภูมิภาคที่กำลังเติบโต (Promotion of Innovation in the “Volume Zone”) ญี่ปุ่นจะสนับสนุนกลุ่มและให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการที่สนใจ Volume Zone Innovation ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่เน้นการลดต้นทุนแต่ยังคงรักษาคุณภาพสินค้า ที่เหมาะสมกับประเทศที่ตลาดกำลังขยาย (emerging market) ตลาดส่วนนี้มีประชากรรวมกันมากกว่า 880 ล้านคน แต่ยังมีอำนาจซื้อต่ำและบริโภคสินค้ากลุ่ม middle-end และ low-end

กลยุทธ์ ที่นำมาใช้ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ (1) การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีต้นทุนต่ำ เน้นการทำการตลาดแบบควบรวม พัฒนาบุคคลากรในท้องถิ่นและ การทำ R&D (2) การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยจะเพิ่มการจัดทำความตกลงด้านการลงทุน และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญากับประเทศคู่ค้า (3) กระตุ้นให้นักลงทุนญี่ปุ่นโอนผลกำไรกลับประเทศ และยกเลิกการเก็บภาษีที่ทับซ้อน

3.3 การพัฒนาไปสู่การลดปริมาณคาร์บอนของโลก ( Global Development of the low carbon revolution) มีเป้าหมาย จะเป็นประเทศผู้แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ด้วยการเพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศในการอนุรักษ์พลังงาน เช่น International Partnership for Energy Efficiency หรือ Japan China Energy Conservation and Environmental Forum และ ส่งเสริมความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างอุตสาหกรรม (Worldwide Japanese Business Alliance for Smart Energy) รวมทั้งการเพิ่มจำนวน Energy Park ที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศ

3.4 ส่งเสริมความร่วมมือในหลายระดับกับประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติ (Multi-layer cooperation with countries rich in natural resources) โดยใช้วิธีดำเนินการที่หลากหลาย เช่น ความสัมพันธ์ทางการทูตของผู้แทนระดับสูงจากรัฐบาลและเอกชน สนับสนุนประเทศที่เป็นแหล่งพลังงานในด้านเทคโนโลยี ส่งเสริมความสัมพันธ์และการเชื่อมโยงกับแหล่งทรัพยากร เช่น การเปิดเส้นทางบินตรง นำระบบการศึกษาของญี่ปุ่นไปร่วมพัฒนา เป็นต้น

สรุป

กระทรวงหลักๆ ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น มีการจัดทำ White Paper เป็นประจำทุกปีเพื่อให้เป็นแนวทางแก่ภาคเอกชนถึงทิศทางและนโยบายที่ภาครัฐกำลังเดินไปสู่ White paper ฉบับนี้แสดงความชัดเจนว่าญี่ปุ่นให้ความสำคัญสูงสุดต่อภูมิภาค East Asia และภูมิภาคที่กำลังเติบโตในเอเชียและแอฟริกา ซึ่งเป็นทั้งตลาดของผู้มีรายได้ปานกลางที่กำลังเติบโต เป็นแหล่งทรัพยากรของโลก และเป็นศูนย์กลางการเติบโตทางเศรษฐกิจ เชื่อว่าญี่ปุ่นจะเพิ่มการผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มของประเทศใน East Asia แนวคิด Volume Zone Innovation ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะใช้ความได้เปรียบด้านการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านการประหยัดพลังงาน การลดมลภาวะและรักษาสิ่งแวดล้อมในการขายความได้เปรียบนั้น โดยการร่วมมือกับประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ มากขึ้น การลงทุนของญี่ปุ่นในต่างประเทศน่าจะเปลี่ยนจากการลงทุนเพื่อส่งออกกลับไปญี่ปุ่น ไปสู่การขายเทคโนโลยีเพื่อการลงทุนสำหรับตลาดในประเทศและส่งออกไปตลาดที่สาม เพื่อนำผลกำไรส่งกลับญี่ปุ่นชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ sector ที่ญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนจะมีความหลากหลายบนพื้นฐานความต้องการสินค้าและบริการ ของตลาดและบนความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบด้านการผลิตของแต่ประเทศด้วย

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก ญี่ปุ่น  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ