การค้าระหว่างประเทศของฟิลิปปินส์ เดือน สิงหาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 17, 2009 13:59 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. การค้าระหว่างประเทศในเดือนมกราคม — สิงหาคม 2552 เปรียบเทียบกับปี 2551

มูลค่า : พันล้านเหรียญสหรัฐ

                  ม.ค.-ส.ค.52       ม.ค.—ส.ค.51     % Change
   การค้ารวม          52.011           74.945          -30.60
   การส่งออก          24.004           34.454          -30.33
   การนำเข้า          28.007           40.491          -30.83
   ดุลการค้า           -4.003           -6.037          -33.69

1.1 ปริมาณการค้า ปริมาณการค้ารวมเดือน มกราคม- สิงหาคม 2552 มีมูลค่า 52.011 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 30.60 จาก 74.945 พัน ล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะเดียวกันของปี 2551 โดยเป็นการส่งออก 24.004 พันล้านเหรียญสหรัฐ และ นำเข้า 28.007 พันล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับเดือนสิงหาคม 2552 มีปริมาณการค้ารวม 7.089 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 24.89 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม 2551 ส่วนมูลค่าส่งออกและนำเข้าเดือนสิงหาคม 2552 เท่ากับ 3.472 และ 3.617 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ

1.2 การส่งออก ในช่วงเดือนมกราคม — สิงหาคม 2552 ฟิลิปปินส์ส่งออกมูลค่า 24.004 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 30.33 จาก 34.454 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะเดียวกันของปี 2551

สินค้าส่งออกที่สำคัญของฟิลิปปินส์ยังคงเป็นสินค้าอีเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีการส่งออกรวม 13.731 พันล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 57.20 ของมูลค่าส่งออกรวม) ลดลงจาก 20.228 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่งออกได้ในระยะเดียวกันของปี 2551 คิดเป็นร้อยละ 32.12 การส่งออกในเดือนสิงหาคมนี้มีมูลค่าการส่งออก 3.472 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ร้อยละ 4.89 โดยสินค้าอีเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.42 เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 เฟอร์นิเจอร์และไม้แกะสลักเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.21 แต่สินค้าปลาทูน่าลดลงร้อยละ 23.79 ตั้งแต่มกราคม-สิงหาคม 2552 ตลาดส่งออกสำคัญของฟิลิปปินส์ คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และฮ่องกง

1.3 การนำเข้า ในช่วงเดือนมกราคม — สิงหาคม 2552 การนำเข้าของฟิลิปปินส์มีมูลค่า 28.007 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 30.38 จาก 40.491 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมา

สินค้านำเข้าอันดับหนึ่งคือ สินค้าอีเล็กทรอนิกส์ นำเข้ามูลค่า 10.016 พันล้านเหรียญสหรัฐ (มีสัดส่วนร้อยละ 35.76 ของการนำเข้ารวม) นำเข้าลดลงร้อยละ 29.87 จากปีที่ผ่านมาซึ่งนำเข้า 14.283 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลำดับที่สองได้แก่น้ำมันเชื้อเพลิง นำเข้ามูลค่า 4.524 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 51.37 จาก 9.304 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในเดือนสิงหาคมนี้มีการนำเข้า 3.617 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ร้อยละ 10.14 โดยนำเข้าสินค้าอีเล็กทรอนิกส์ ลดลงในอัตราร้อยละ 18.69 แต่มีการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและอุปกรณ์การขนส่งเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 3.11 และ 5.39 ตามลำดับ

1.4 ดุลการค้า

ตั้งแต่มกราคม — สิงหาคม 2552 ฟิลิปปินส์มีการนำเข้ามากกว่าการส่งออกทำให้มีการขาดดุล 4.003 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่ยังต่ำกว่าปีที่ผ่านมาที่ขาดดุล 6.037 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 33.69

1.5. ประเทศคู่ค้าสำคัญของฟิลิปปินส์

คู่ค้าที่สำคัญของฟิลิปปินส์ 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สิงคโปร์ และ เกาหลีใต้ ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดในอัตราส่วนร้อยละ 14.77, 13.98, 8.88, 7.47 และ5.69 ตามลำดับ สำหรับประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 9 โดยมีอัตราส่วนร้อยละ 4.30

2. การค้าระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์เปรียบเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมา

มูลค่า : ล้านเหรียญสหรัฐ

ม.ค.—ส.ค.52 ม.ค.-ส.ค.51 % Change

การค้ารวม                             2,834.00         4,125.60    -31.31
ไทยส่งออกไปฟิลิปปินส์                     1,839.90         2,569.80    -28.40
ไทยนำเข้าจากฟิลิปปินส์                      994.10         1,555.80    -36.10
ดุลการค้า                                845.80         1,014.00    -16.59

2.1 ปริมาณการค้า

ปริมาณการค้าระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์ในช่วงเดือนมกราคม - สิงหาคม 2552 มีมูลค่า 2,834.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 31.31 จาก 4,125.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะเดียวกันของปี 2551 โดยเป็นการส่งออก 1,839.9 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้า 994.1 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในเดือนสิงหาคม 2552 มีปริมาณการค้ารวม 469.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 5.33 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2551 ส่วนการส่งออกและนำเข้าเดือนนี้มีมูลค่า 299.2 และ 170.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ

2.2 การส่งออก

ในช่วงเดือนมกราคม — สิงหาคม 2552 ไทยส่งสินค้าออกไปฟิลิปปินส์เป็นมูลค่า 1,839.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 28.40 จาก 2,569.8 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2551 เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าสินค้าไทยส่งไปฟิลิปปินส์กับมูลค่าที่ฟิลิปปินส์นำเข้าจากทุกประเทศ คิดเป็นร้อยละ 6.57

สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปฟิลิปปินส์อันดับแรกได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มีมูลค่า 388.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นร้อยละ 21.09 ของมูลค่าการส่งออกรวมจากไทยไปฟิลิปปินส์) ลดลงจากระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 15.88 ลำดับที่สองคือ แผงวงจรไฟฟ้า มีมูลค่าส่งออก 178.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นร้อยละ 9.69 ของมูลค่าการส่งออกรวม) ลดลงจากระยะเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 29.15

2.3 การนำเข้า

ในช่วงเดือนมกราคม — สิงหาคม 2552 ไทยนำเข้าจากฟิลิปปินส์มูลค่า 994.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากระยะเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งนำเข้ามูลค่า 1,555.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 36.10 มูลค่าที่ฟิลิปปินส์ส่งสินค้ามายังไทยคิดเป็นร้อยละ 4.14 ของมูลค่าส่งออกรวมของฟิลิปปินส์

สินค้านำเข้าจากฟิลิปปินส์ที่สำคัญอันดับแรกคือ แผงวงจรไฟฟ้ามีมูลค่า 184.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นร้อยละ 18.55 ของมูลค่านำเข้ารวม) ลดลงจากระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งนำเข้ามูลค่า 287.5 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 35.88 ลำดับที่สองได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ นำเข้าเป็นมูลค่า 113.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นร้อยละ 11.37 ของมูลค่านำเข้ารวม) ลดลงจากระยะเดียวกันของปี่ที่ผ่านมาซึ่งนำเข้ามูลค่า 175.2 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 35.48

2.4 ดุลการค้า

เนื่องจากไทยส่งออกไปฟิลิปปินส์มากกว่านำเข้าสินค้าจากฟิลิปปินส์ ในช่วงเดือนมกราคม — สิงหาคม 2552 ฟิลิปปินส์ขาดดุลการค้ากับไทยเป็นมูลค่า 845.8 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ขาดดุลลดลงจากระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งขาดดุล 1,014.0 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 16.59

3. การคาดการณ์ภาวะการค้า

The National Economic and Development Authority (NEDA) ของฟิลิปปินส์ประมาณการ GDP ปี 2552 จะเพิ่มขึ้นในอัตราขั้นต่ำร้อยละ 0.8 และปี 2553 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 2.6-3.6 ส่วนภาวการณ์ส่งออกของฟิลิปปินส์จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น กล่าวคือการส่งออกในเดือนต่อๆไปจะเพิ่มขึ้นทุกๆเดือน เนื่องจากความต้องการซื้อสินค้าอีเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คาดว่าการส่งออกปี2552 จะลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 15-20 และการนำเข้าคาดว่าจะลดลงประมาณร้อยละ 12-15 สำหรับสินค้าไทยที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นได้แก่ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว และสิ่งปรุงรสอาหาร คาดว่าในระยะต่อไปแนวโน้มการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบ และอุปกรณ์ก่อสร้างจะดีขึ้น เนื่องจากฟิลิปปินส์ได้รับผลกระทบจากพายุใต้ฝุ่นทำให้เกิดน้ำท่วมรถยนต์และบ้านเรือนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ