ข้อมูลตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในสหราชอาณาจักรปี 2551/52

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 26, 2009 12:27 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ภาวะตลาด

สหราชอาณาจักรนับเป็นตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา และเยอรมนี Soil Association ซึ่งเป็นองค์การอิสระมีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับสินค้าเกษตรอินทรีย์ในสหราชอาณาจักรได้สรุปภาวะตลาดในปี 2551 (มกราคม 2551 ถึง มกราคม 2552) ดังนี้

  • ยอดขายสินค้าออแกนนิกในสหราชอาณาจักรมีมูลค่ารวม 2.1 พันล้านปอนด์ ในปี 2551ขยายตัวร้อยละ 1.7 จากปีก่อนหน้า ทั้งนี้ในช่วงครึ่งปีแรกมีอัตราการเจริญเติบโตในระดับสูง ขณะที่ในช่วงครึ่งปีหลังโดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่เดือนตุลาคม ถึง ธันวาคมยอดขายสินค้าออแกนนิกเริ่มชะลอตัวเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ
  • ช่องทางการจำหน่ายสินค้าหลักผ่านทางซุปเปอร์มาเก็ตขนาดใหญ่ในประเทศมียอดขายสินค้าออแกนนิกรวม 1.54 พันล้านปอนด์ ขยายตัวร้อยละ 1.8 ขณะที่ยอดขายผ่านทางผู้ขายอิสระมียอดขาย 568 ล้านปอนด์ขยายตัวร้อยละ 1.4
  • ร้อยละ 90 ของครอบครัวในสหราชอาณาจักรบริโภคสินค้าออแกนนิกในปี 2551 เพิ่มจากร้อยละ 71.5 ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา
  • ผลิตภัณฑ์นมมียอดขายร้อยละ 29.5 ของยอดขายทั้งหมด ผักและผลไม้สดมียอดขายร้อยละ 26.2 เนื้อสัตว์รวมสัตว์ปีกร้อยละ 8.9 เครื่องดื่มร้อยละ 8.6
  • ยอดขายเครื่องนุ่งห่มที่ทำจากฝ้ายและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากฝ้ายออแกนนิกมียอดขายสูงขึ้นถึงร้อยละ 40 โดยมียอดขาย 100 ล้านปอนด์
  • ยอดขายในกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพและความงามขยายตัวร้อยละ 69 มีมูลค่า 27 ล้านปอนด์
  • ยอดขายสินค้าอาหารและเครื่องดื่มออแกนนิกทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 23 พันล้านปอนด์ ขยายตัวร้อยละ 7
  • พื้นที่การเกษตรอินทรีย์คิดเป็นร้อยละ 0.65 ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมดของโลก โดยมีประเทศที่ดำเนินการด้านเกษตรอินทรีย์จำนวนทั้งหมด 140 ประเทศ ประกอบด้วยเกษตรกร 1.2 ล้านราย
2. ช่องทางการจำหน่าย

ช่องทางจำหน่ายสินค้าออแกนนิกแบ่งออกได้เป็น 2 ช่องทางหลัก คือ

2.1) ห้างซุปเปอร์มาเก็ตหลักของสหราชอาณาจักรซึ่งวางจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์อย่างแพร่หลายโดยเฉพาะ Tesco, Sainsbury's, Asda, Waitrose และ Mark & Spencers ซึ่งมียอดขายสินค้าออแกนนิกรวมกันในปี 2551 ถึง 1.54 พันล้านปอนด์

  • Tesco ซึ่งเป็นซุปเปอร์มาเก็ตซึ่งมียอดขายสูงสุดในประเทศมีสินค้าออแกนนิกมากกว่า 1,000 รายการและมีสัดส่วนการขายสินค้าอาหารและเครื่องดื่มออแกนนิกร้อยละ 1.74 จากสินค้าทั้งหมด Tesco ยอมรับว่าได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจส่งผลให้ยอดขายสินค้าออแกนนิกลดลงร้อยละ 8.9 ในปี 2551 แต่ก็คาดว่าสินค้าออแกนนิกจะกลับมาขยายตัวอีกครั้งในปี 2552
  • Sainsbury’s ซุปเปอร์มาเก็ตอันดับสองซึ่งมีสินค้าออแกนนิกมากกว่า 800 รายการและมีสัดส่วนการขายสินค้าอาหารและเครื่องดื่มร้อยละ 2 มียอดขายสินค้าออแกนนิกลดลงร้อยละ 4.4
  • Asda ซึ่งเป็นซุปเปอร์มาเก็ตระดับกลางสามารถทำยอดขายสินค้าออแกนนิกขยายตัวถึงร้อยละ 25 โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าผักและผลไม้สด
  • Waitrose ซุปเปอร์มาเก็ตระดับบนมีสินค้าออแกนนิกสูงสุดถึง 1,700 รายการ และมีสัดส่วนการขายสินค้าออแกนนิกสูงถึงร้อยละ 7 จากยอดขายทั้งหมด ก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน โดยห้างได้หันมาออกรายการสินค้าที่มีราคาถูกลงโดยเฉพาะกลุ่มเนื้อสัตว์

2.2) ช่องทางการขายที่ไม่ใช่ซุปเปอร์มาเก็ตหลัก (non-multiple Retailers ) ประกอบด้วยห้างซุปเปอร์มาเก็ตที่จำหน่ายสินค้าออแกนนิกเป็นการเฉพาะ ได้แก่

  • Whole Food Market ซึ่งเป็นการลงทุนจากทวีปอเมริกาเหนือซึ่งจำหน่ายสินค้าออแกนนิกมากกว่าร้อยละ 75 ของสินค้าทั้งหมดในห้างซึ่งมี 5 สาขาในกรงุลอนดอน
  • Planet Organic ซึ่งปัจจุบันมีสาขาจำนวน 4 สาขาในกรุงลอนดอน
  • ร้านจำหน่ายปลีกหรือตลาดจำหน่ายของเกษตรกรผู้ผลิต (Farm shops & Farmers' market ) ซึ่งประกอบด้วยร้านค้าในท้องถิ่นจำนวน 4,000 แห่งทั่วประเทศและตลาดค้าปลีกจำนวน 800 แห่งที่จำหน่ายสินค้าออแกนนิก
  • ร้านจำหน่ายสินค้าประเภท Health Food ที่วางจำหน่ายสินค้าออแกนนิก
  • ช่องทางจำหน่ายในกลุ่มนี้สามารถทำยอดขายสินค้าออแกนนิกได้รวม 568 ล้านปอนด์ในปี 2551 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 และคาดว่ายอดขายผ่านทางช่องทางนี้น่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นจากปี 2551 เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินปอนด์ที่ลดลงส่งผลให้การนำเข้าลดลงและมีการบริโภคสินค้าในประเทศมากขึ้น
3. ประเภทสินค้า

นอกจากสินค้าอาหารออแกนนิก ได้แก่ผัก ผลไม้สด และเนื้อสัตว์แล้ว ปัจจุบันมีสินค้าออแกนนิกที่เป็นที่นิยมในตลาดสหราชอาณาจักรดังนี้

สินค้าอาหารแปรรูป

3.1) อาหารสำหรับเด็กเล็ก มียอดขายในประเทศรวม 89 ล้านปอนด์ และอัตราการขยายตัวของยอดขายสูงถึงร้อยละ 11.7 ในปี 2551 และมีส่วนแบ่งถึงร้อยละ 46 ของมูลค่าตลาดอาหารสำหรับเด็กเล็กที่ไม่ใช่ออแกนนิก

3.2) เครื่องดื่ม มียอดขายรวมทั้งหมด 133 ล้านปอนด์ โดยเครื่องดื่มที่มีแอลกฮอล์มีอัตราขยายตัวสูงถึงร้อยละ 21.9 เครื่องดืมร้อนประเภาชาและกาแฟขยายตัวร้อยละ 0.7 ขณะที่เครื่องดื่มชนิดอื่นๆมียอดขายลดลง

3.3) ขนมปังและขนมอบอื่นๆ มียอดขายรวม 113 ล้านปอนด์ในปี 2551 โดยขนมอบ (Biscuits) มีอัตราขยายตัวร้อยละ 13.4 ขณะที่ขนมปังมีอัตราการขยายตัวลดลงร้อยละ 13.1

3.4) ธัญพืชสำหรับอาหารเช้า มียอดขายรวม 32 ล้านปอนด์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.5 ของมูลค่าตลาดโดยรวมซึ่งมีมูลค่า 1.1 พันล้านปอนด์

3.5) ผลิตภัณฑ์นม มียอดขายสูงถึง 455.8 ล้านปอนด์ มีส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 29.5 ของมูลค่าตลาดรวม โดยนมและเนยแข็งมียอดขายสูงขึ้นร้อยละ 10.6 และ 11.5 ตามลำดับ ขณะที่นมเปรี้ยวก็กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น

3.6) อาหารสัตว์เลี้ยง นับเป็นสินค้าอาหารออแกนนิกที่ได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆโดยปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 2 ของมูลค่าตลาดรวม

3.7) อาหารสำเร็จรูป ซุปและซอสปรุงรส มียอดขายรวม 6 ล้านปอนด์ และเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ร้านค้าปลีกกาแฟรายใหญ่เริ่มใส่รายการอาหารสำเร็จรูปประเภทซุปออกขายซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้น รวมถึงซอสสำหรับพาสต้าก็สร้างยอดขายได้ดีในซุปเปอร์มาเก็ต

สินค้าที่ไม่ใช่อาหาร

3.8) สิ่งทอที่ทำจากฝ้ายออแกนนิก สหราชอาณาจักรนับเป็นผู้บริโภคสิ่งทอที่ทำจากฝ้ายออแกนนิกรายใหญ่ในสหภาพยุโรป จากยอดขายสิ่งทอที่ทำจากฝ้ายทั้งหมด 3 หมื่นล้านปอนด์ในสหราชอาณาจักร มียอดขายสิ่งทอที่ทำจากฝ้ายออแกนนิกมากกว่ากว่า 100 ล้านปอนด์ หรือมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 10 ของมูลค่าตลาดรวมของโลก และมีอัตราการขยายตัวมากกว่าร้อยละ 40 ในช่วงสามปีที่ผ่านมา และคาดว่าใน 2-3 ปีข้างหน้าจะมียอดขายถึง 280 ล้านปอนด์

3.9) ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม เป็นกลุ่มสินค้าที่มีอัตราการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วโดยมียอดขายในปี 2551 มูลค่า 27 ล้านปอนด์เพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 69 เมื่อเทียบกับปี 2550 โดยมีจำนวนบริษัทที่ได้รับใบรับรองจาก Soil Association จำนวน 90 บริษัทที่ดำเนินการผลิตสินค้าในกลุ่มนี้ สินค้าที่เป็นที่นิยม คือ แชมพู ครีม สบู่ และผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในห้องน้ำอื่นๆ ส่วนสินค้าที่กำลังเริ่มเข้าสู่ตลาดได้แก่ กลุ่มครีมดูแลผิวหน้าทั้งของผู้หญิงและผู้ชาย ครีมล้างหน้า เป็นต้น

3.10) น้ำยาทำความสะอาดภายในบ้านซึ่ง Soil Association กำหนดว่าจะต้องมีส่วนประกอบที่ทำจากสารประกอบออแกนนิกไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ประกอบด้วยน้ำล้างจาน น้ำยาทำความสะอาดห้องน้ำ น้ำยาล้างผักและผลไม้สด และน้ำยาทำความสะอาดกระจก และห้องครัว เป็นต้น

4. การนำเข้า

4.1) ปัจจุบันสหราชอาณาจักรนำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ ร้อยละ 30 ของมูลค่าจำหน่ายทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่าการนำเข้าประมาณ 600 ล้านปอนด์ โดยสินค้าที่นำเข้าหลักได้แก่ ชอคโกแลต กล้วยหอม น้ำมะพร้าวสด ชา กาแฟ อาหารสัตว์เลี้ยง และผักและผลไม้สดที่ไม่สามารถปลูกได้ในประเทศ

4.2) สหราชอาณาจักรมีจำนวนผู้ประกอบธุรกิจนำเข้าและดำเนินธุรกิจการแปรรูปที่จดทะเบียนรวม 2,675 ราย มียอดจดทะเบียนมากขึ้นถึงร้อยละ 11.3 จากปี 2550 โดยมีสถานที่ตั้งอยู่ในอังกฤษร้อยละ 83.7 ร้อยละ 2.1 ในไอร์แลนด์เหนือ ร้อยละ 8.6 ในสก๊อตแลนด์ และร้อยละ 5.6 ในเวลส์

5) กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ระเบียบของสหภาพยุโรป

5.1) กฎระเบียบเดิม : Council Regulation (EEC) No 2092/91 (of 24 June 1991)

  • กฎระเบียบเกี่ยวกับสินค้าเกษตรอินทรีย์ในทุกประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปต้องปฏิบัติตามระเบียบกลางของสหภาพยุโรป คือ EC Regulation 2092/91 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขครอบคลุมตั้งแต่การผลิต วัตถุดิบ ปัจจัยการผลิต กระบวนการผลิต และระบบการตรวจสอบ ตลอดจนในด้านการปิดฉลากสินค้า โดยกำหนดว่าสินค้าที่จะสามารถปิดฉลากเป็น organic food จะต้องเป็นสินค้าที่มาจากผู้ปลูก ผู้ผลิต/แปรรูป หรือผู้นำเข้า ที่จดทะเบียนกับหน่วยงานรับรอง ซึ่งได้รับความเห็นชอบ (Approved Certification Bodies) และอยู่ภายใต้การควบคุมตรวจสอบเป็นประจำจากหน่วยงานที่รับผิดชอบของประเทศสมาชิกนั้นๆ
  • EC Regulation 2092/91 ระบุระเบียบการนำเข้าสินค้า organic จากประเทศที่สามไว้ ดังนี้

กรณีที่ 1 การนำเข้าสินค้าออแกนนิกจากประเทศที่สามที่สหภาพยุโรปยอมรับว่ามีกฎระเบียบด้านการผลิตและระบบการตรวจสอบเทียบเท่ากับของสหภาพยุโรป (recognised third countries) ประกอบด้วย อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย อิสราเอล สวิตเซอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ คอสตาริกา อินเดีย ฮังการี สาธารณรัฐเช็ก ซึ่งสำหรับกรณีนี้ สินค้าที่นำเข้าไม่ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานควบคุมภายในประเทศผู้นำเข้า ภายใต้เงื่อนไขว่า ผู้นำเข้าจะต้องจดทะเบียนกับ Approved Certification Bodies ของประเทศผู้นำเข้า และสามารถทำตามเงื่อนไขเกี่ยวกับ equivalency ที่ระบุใน Commission Regulation (EEC) No 94/92 ได้ นอกจากนี้ ต้องมีใบรับรองการตรวจสอบ (certificate of inspection-COI) ออกโดย Inspection Bodies ในประเทศที่ 3 ที่สหภาพยุโรปเห็นชอบ โดยใบ COI จะถูกตรวจสอบและรับรองโดย Port Health Authority ของประเทศผู้นำเข้า

กรณีที่ 2 การนำเข้าสินค้าออแกนนิกจากประเทศที่สามอื่นมายังสหราชอาณาจักร ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานควบคุมภายในประเทศผู้นำเข้าก่อน (prior approval)

5.2) กฎระเบียบใหม่ : Council Regulation (EC) No 834/2007 (of 28 June 2007) เป็นกฎระเบียบใหม่ที่ออกมาแทน Regulation (EEC) No 2092/91 โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 (ประกาศเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2550 ใน Official Journal of the European Union)

กฎระเบียบฉบับใหม่นี้มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

  • ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการห้ามใช้ GMO ในการผลิต
  • ให้มีการปิดตราสัญลักษณ์สหภาพยุโรป (EU-logo) แบบบังคับบน packaging สำหรับ
organic pre-packaged food ผลิตในสหภาพยุโรป จากเดิมที่เป็นแบบสมัครใจ ทั้งนี้ สำหรับ non pre-packaged organic products ที่ผลิตในสหภาพยุโรป หรือ นำเข้าจากประเทศที่ 3 การใช้ EU-logo ให้เป็นไปตามความสมัครใจ นอกจากนี้ แต่ละประเทศสมาชิกสามารถใช้ national และ private logos เพิ่มเติมได้
  • กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับระบบควบคุม (control system) ที่แต่ละประเทศสมาชิกจะต้องจัดตั้งขึ้นมา เพื่อให้การดำเนินการตามกฎระเบียบ Regulation (EC) No 834/2007 ซึ่งเป็นกฎระเบียบกลางเป็นไปอย่างสอดประสานกัน โดยระบบควบคุมจะต้องสามารถบ่งบอก traceability ของสินค้าแต่ละตัวในทุกขั้นตอนการผลิต การจัดจำหน่าย ทั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกันให้กับผู้บริโภคว่า สินค้า ออแกนนิกได้รับการผลิตตามข้อกำหนดในกฎระเบียบของสหภาพยุโรป
  • ในส่วนของการค้ากับประเทศที่ 3 จะปรับปรุงรายชื่อประเทศที่เป็น ‘recognised third countries’ ที่มีกฎระเบียบด้านการผลิตและระบบการตรวจสอบควบคุมเทียบเท่ากับของสหภาพยุโรป โดยประเทศที่ 3 สามารถยื่น requests for recognition ต่อคณะกรรมาธิการยุโรปได้ นอกจากนี้ สำหรับประเทศที่ 3 ที่ไม่ใช่ recognised third countries คณะกรรมาธิการยุโรปจะจัดทำบัญชีรายชื่อ control authorities และ control bodies ที่สหภาพยุโรปยอมรับว่า เป็นหน่วยงานที่มี competency ในการควบคุมและออกใบรับรองในประเทศนั้นๆ โดย control authority หรือ control body จะต้องยื่นคำร้องต่อคณะกรรมาธิการยุโรป
ระเบียบของสหราชอาณาจักร

5.3) นอกจากระเบียบของสหภาพยุโรปแล้ว สหราชอาณาจักรก็ได้ออกระเบียบภายในประเทศเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าออแกนนิกซึ่ง based on EC Regulation 2092/91 ดังนี้

  • Compendium of UK Organic Standards ระบุมาตรฐานขั้นต่ำสินค้า ออแกนนิก ที่ Certification Bodies จะต้องใช้ โดยระบุ สิ่งอะไรที่ทำได้ สิ่งอะไรห้ามทำ อะไรใช้ได้ อะไรใช้ไม่ได้ สำหรับผู้ผลิต เช่น ห้ามใช้ crop GMO สามารถใช้ยาฆ่าแมลงได้ 7 ประเภท จะต้องมีการหมุนเวียนพืชที่ปลูกทุกปีเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน เป็นต้น
  • The Organic Products (Imports from Third Countries) Regulations 2003 ระบุระเบียบการนำเข้าสินค้าออแกนนิกเข้าสู่สหราชอาณาจักร
  • นอกจากนี้ กฎหมายอื่นๆทั้งหมดที่ใช้กับ non-organic food ก็ใช้กับการผลิต organic food ด้วย

5.4) ในกรณีของสหราชอาณาจักร หน่วยงานที่รับผิดชอบควบคุมการปฏิบัติตาม EC Regulation 2092/91 คือ Defra (Department for Environment, Food and Rural Affairs) ซึ่งได้ตั้ง Advisory Committee on Organic Standards (ACOS) ประกอบด้วยตัวแทนจากภาครัฐ ธุรกิจ และผู้บริโภค ขึ้นมาเป็นหน่วยงานสนับสนุน โดย ACOS ทำหน้าที่หลักๆ คือ ให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้า ออแกนนิกให้ความเห็นชอบหน่วยงานรับรอง และทำ R&D ทั้งนี้ ปัจจุบัน หน่วยงานรับรองที่เป็น Approved UK Certification Bodies มีทั้งหมด 10 หน่วยงาน ประกอบด้วย

  • Soil Association Certification Ltd.
  • Biodynamic Agricultural Association
  • Organic Farmers & Growers Ltd.
  • Organic Food Federation
  • Scottish Organic Producers Association
  • Irish Organic Farmers & Growers Association
  • Organic Trust Limited
  • Checkmate International
  • Quality Welsh Food Certification Ltd.
  • Ascisco Ltd.
  • แต่ละหน่วยงานรับรองจะมีตราสัญญาลักษณ์มาตรฐานของตนเอง สำหรับตราสัญญาลักษณ์มาตรฐานของ Soil Association (Soil Association Organic Standard) ถือเป็น certification mark ที่เป็นที่ยอมรับมากที่สุดของสหราชอาณาจักร โดยให้การรับรองสินค้าออแกนนิกร้อยละ 70 ของสินค้าออแกนนิกในตลาดสหราชอาณาจักร
  • นอกจากนี้ Soil Association ยังมีบทบาทสำคัญในการให้ข้อมูลและโน้มน้าวผู้บริโภคให้หันมาบริโภคสินค้าออแกนนิกเพิ่มมากขึ้น website ของ Soil Association จะให้ข้อมูลที่น่าสนใจ

5.5) ระบบการนำเข้าสินค้าออแกนนิกจากประเทศที่ 3 มายังสหราชอาณาจักร

ระบบเดิม มี 2 กรณี คือ

  • กรณีที่1 การนำเข้าสินค้าออแกนนิกจากประเทศที่สามที่สหภาพยุโรปยอมรับว่ามีกฎระเบียบด้านการผลิตและระบบการตรวจสอบเทียบเท่ากับของสหภาพยุโรป ประกอบด้วย อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย อิสราเอล สวิตเซอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ คอสตาริกา อินเดีย ฮังการี สาธารณรัฐเช็ก ซึ่งสำหรับกรณีนี้ สินค้าที่นำเข้าไม่ต้องขออนุญาตจาก Defra ภายใต้เงื่อนไขว่า ผู้นำเข้าจะต้องจดทะเบียนกับหนึ่งใน
10 Approved UK Certification Bodies และสามารถทำตามเงื่อนไขเกี่ยวกับ equivalency ที่ระบุใน Commission Regulation (EEC) No 94/92 ได้ รวมทั้งมีใบรับรองการตรวจสอบ (certificate of inspection-COI) ออกโดย Inspection Bodies ในประเทศที่ 3 ที่ Defra เห็นชอบ โดยผู้นำเข้าจะต้องแสดง COI ต่อ Port Health Authority ของสหราชอาณาจักร เพื่อการตรวจสอบและรับรอง
  • กรณีที่ 2 การนำเข้าสินค้าออแกนนิกจากประเทศที่สามอื่นมายังสหราชอาณาจักร ต้องขออนุญาตจาก Defra ก่อน (prior approval) โดยผู้นำเข้าจะต้องกรอกแบบฟอร์มที่กำหนดโดยใบอนุญาตนำเข้าจะมีอายุ 1 ปี และต้องขอต่ออายุทุกปี นอกจากนี้ ผู้นำเข้าจะต้องมีเอกสารแสดงว่าสินค้าที่จะนำเข้านั้นได้รับการผลิตและตรวจสอบภายใต้กฎระเบียบที่เทียบเท่ากับกฎระเบียบกลางของสหภาพยุโรป และการตรวจสอบนั้นเป็นการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ผู้นำเข้าไม่จำเป็นต้องแสดงเอกสารดังกล่าว หาก inspection/certification bodies ในประเทศผู้ส่งออกอยู่ในบัญชีรายชื่อ inspection/certification bodies ที่ผ่านการประเมินและเห็นชอบโดย Defra แล้ว อย่างไรก็ดี หากสินค้านำเข้ามีระเบียบอื่นที่ไม่ใช่ระเบียบด้านออแกนนิกควบคุมอยู่ด้วย ก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบนั้นๆด้วย

ระบบใหม่ Defra ได้มีหนังสือถึงผู้นำเข้าสินค้าออแกนนิกของสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2549 แจ้งว่า Defra จะทบทวนระบบการนำเข้าสินค้าออแกนนิกมายังสหราชอาณาจักร และยกเลิกระบบเดิม โดยจะนำระบบใหม่มาใช้ในปี 2551 โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจะอยู่ในส่วนของรายชื่อประเทศที่เป็น approved Third Countries รายชื่อหน่วยงาน inspection/certification bodies ในประเทศที่ 3 ที่เป็นที่ยอมรับของสหภาพยุโรป นอกจากนี้ การขอต่ออายุ import authorisations จะเปลี่ยนเป็นแบบ automatic จากเดิมที่ต้องยื่นเรื่องขออนุญาตทุกปี เพื่อลด administrative burden แก่ผู้นำเข้า

6. เวปไซด์ที่น่าสนใจ

6.1) รายละเอียดระเบียบด้านเกษตรอินทรีย์ของสหภาพยุโรป

http://www.organic-europe.net/europe_eu/eu-regulation-on-organic-farming.asp

6.2) เวปไซด์ด้านระเบียบเกษตรอินทรีย์ของสหราชอาณาจักร

http://www.defra.gov.uk/foodfarm/growing/organic/index.htm

6.3) เอกสารแนะนำการนำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์จากนอกสหภาพยุโรป

http://www.defra.gov.uk/foodfarm/growing/organic/imports/pdf/1235-2008.pdf

6.4) เวปไซด์ของ Soil Assocation

http://www.soilassociation.org/

7. ข้อมูลและความเห็นเพิ่มเติม

7.1) ในปี 2551 สหราชอาณาจักรได้ขยายพื้นที่การผลิตพืชผลเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 โดยมีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 676,387 เฮกตาร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 3.9 ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมดของประเทศ โดยมีเกษตรกรจำนวน 4,955 ราย ที่ผ่านมาภาครัฐสหราชอาณาจักรให้การส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์โดยการให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่เกษตรกรที่ทำการปรับเปลี่ยนการผลิตมาเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้า แต่การดำเนินงานก็ยังประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ เช่น เนื้อสัตว์ ผักสด และผลิตภัณฑ์นม ที่ประสบปัญหาไม่สามารถจำหน่ายในราคาสูงเพียงพอที่จะชดเชยระดับผลผลิตของ พืชผลเกษตรอินทรีย์ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ (Low prodcutivity) นับว่าเป็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อการส่งเสริมขยายการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์เป็นอย่างมาก

7.2) เป็นที่คาดหมายว่าตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในสหราชอาณาจักรยังคงมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าสหราชอาณาจักรกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ทั้งนี้ สืบเนื่องจากกระแสที่ประชาชนผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญกับด้านสุขภาพอนามัย และหันมาบริโภคสินค้าที่มีความสะอาดปลอดภัย รวมทั้งเกี่ยวกับด้านการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม ประกอบที่บริษัทผู้ผลิตสินค้าประเภทอาหารรายใหญ่ต่างหันมาให้ความสำคัญกับการเข้าสู่ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มบริษัทผู้ผลิตสินค้าอาหารแปรรูปรายสำคัญๆ เช่น Unilever, Bestfoods, HJ Heinz, Muller Dairies, Gerber Soft Drink, Kallo Foods เป็นต้น ซึ่งบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ที่เข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นนี้จะมีการทุ่มการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างภาพลักษณ์และเผยแพร่ข้อมูลสินค้าเกษตรอินทรีย์ไปสู่ประชาชนผู้บริโภคอย่างกว้างขวางมากขึ้น จึงคาดว่าจะมีผลให้มีผู้สนใจหันมาบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น

7.3) สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่นับเป็นที่นิยมมาก ได้แก่ สินค้าในหมวดผักและผลไม้สด รองลงมาเป็นเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์นม ไข่ ชา กาแฟ ขนมปัง บิสกิต อาหารและขนมทำจากธัญพืช (Breakfast cereals & Cereal bars) รวมทั้งสินค้าประเภทอาหารสำเร็จรูป (Processed foods) อาหารพร้อมรับประทาน(Ready-to-Eat and Convenience food) ตลอดจนสินค้าประเภทอาหารสำหรับเด็ก และสินค้าเสื้อผ้า (Organic baby food and organic textiles) ก็ได้รับความนิยมสนใจมากขึ้น ซึ่งนับว่าตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ยังมีลู่ทางที่จะขยายไปสู่ประเภทสินค้าใหม่ๆได้เพิ่มขึ้นอีกมาก

7.4) สำหรับปัญหาอุปสรรคที่นับมีผลกระทบต่อการขยายการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ไปยังตลาดแห่งนี้ ได้แก่ การที่สหภาพยุโรปกำหนดระเบียบหลักเกณฑ์มาตรฐานการผลิตสินค้าประเภทนี้ไว้สูงและมีรายละเอียดค่อนข้างมาก รวมทั้งยังมีเงื่อนไขรายละเอียดที่อาจยุ่งยากต่อการนำเข้าจากประเทศนอกกลุ่มสหภาพยุโรป ดังนั้น ผู้ผลิตและส่งออกของไทยควรศึกษาข้อมูลและติดตามความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว รวมทั้งในการคัดเลือกบริษัทผู้นำเข้าที่จดทะเบียนและมีประสบการณ์ด้านการนำเข้าที่ดี ตลอดจนสร้างความสัมพันธ์และการติดต่อประสานงานที่ดีกับผู้นำเข้า ซึ่งจะสามารถให้ข้อมูลและคำแนะนำที่ถูกต้อง เพื่อช่วยให้สามารถขยายการส่งออกไปยังตลาดแห่งนี้ได้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงลอนดอน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ