เศรษฐกิจญี่ปุ่น : ไตรมาส 3 ฟื้นตัวต่อเนื่องแต่ยังเปราะบาง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 2, 2009 15:18 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่นช่วงไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม-กันยายน) 2552 มีทั้งตัวเลขแสดงการฟื้นตัวไม่ว่าจะเป็น real GDP การใช้จ่ายผู้บริโภค การลงทุนภาคเอกชน มูลค่าการส่งออก ในขณะที่ภาวะเงินฝืดที่ระดับราคาสินค้าและบริการลดต่ำลงมากอย่างต่อเนื่อง ค่าจ้างเฉลี่ยที่ลดลง รวมทั้งค่าเงินเยนที่แข็งค่า สะท้อนความเปราะบางของเศรษฐกิจและสร้างความกังวลแก่หลายฝ่าย

ทางการญี่ปุ่นได้เปิดเผยตัวเลข real GDP ไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม-กันยายน) ปี 2552 ขยายตัว +4.8% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2550 และเมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ปรากฏว่า real GDP ไตรมาสนี้ ขยายตัวจากไตรมาสที่แล้ว(เมษายน-มิถุนายน) ปี 2552 +1.2%

การขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสนี้ เป็นผลจากทั้ง demand ภายในประเทศ และต่างประเทศกล่าวคือ การใช้จ่ายของผู้บริโภคซึ่งมีสัดส่วน 60% ของ GDP เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว 0.7% เพิ่มต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่การอุดหนุนลดภาษีแก่ผู้ซื้อรถยนต์ และให้แต้ม สะสมสำหรับแลกรางวัล (eco-point) แก่ผู้ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน การลงทุนของบริษัท เอกชนเพิ่มขึ้น 1.6% เพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 1 ปีครึ่ง ในส่วนของการค้าระหว่างประเทศ ความต้องการสินค้าญี่ปุ่นในตลาดเอเชียเพิ่มขึ้นส่งผลให้การส่งออกขยายตัวจากไตรมาสที่แล้ว 6.4% ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้นเพียง 3.4%

อย่างไรก็ตาม แม้มูลค่าแท้จริงของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือ real GDPขยายตัวขึ้น แต่มูลค่าปัจจุบัน หรือ nominal GDP ลดลงในอัตรา 0.3% ต่อปี ลดลงจากไตรมาสที่ 2 อัตรา 0.1 % โดย domestic demand deflator มีค่าลดลง 2.6% ต่อปี เป็นอัตราลดเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 2501

ทั้งนี้ ระดับราคาสินค้าโดยทั่วไปโน้มลดลงมาต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนกันยายน 2552 ลดลงจากเดือนกันยายน 2551 7.9% และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนตุลาคม 2552 ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว 2.5% ผู้ประกอบการแข่งขันลดราคาสินค้าลง เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคญี่ปุ่นใช้ราคาสินค้าเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อสินค้ากว่าในอดีตมาก อันเนื่องจากสถานการณ์การจ้างงานที่ยังไม่ดีนัก และ ค่าจ้างโดยเฉลี่ยลดลงกล่าวคือ ค่าจ้างเฉลี่ยทั่วไปช่วงไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม-กันยายน) 2552 ลดต่ำลงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.7% ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 และบริษัทส่วนใหญ่จะตัดโบนัสช่วงฤดูหนาวปีนี้ลงจากปีที่แล้วกว่า 10%

ราคาสินค้าที่ลดลงอาจเป็นผลดีต่อผู้บริโภค แต่ระดับราคาที่โน้มลดลงมากอย่างต่อเนื่องทำให้รายได้ของผู้ประกอบการลดลง ส่งผลสืบเนื่องเป็นวงจรต่อค่าจ้าง รายได้ครัวเรือน กำลังซื้อของตลาดภายในประเทศนอกจากนี้ ปัญหาค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมส่งออกและอุสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โดยเงินเยนแข็งค่าขึ้นจนถึงระดับต่ำกว่า 85 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2552 ทั้งที่ผู้ส่งออกประมาณการณ์อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยในปีงบประมาณ 2552 (เมษายน 2552-มีนาคม 2553) ไว้ที่อัตรา 94.5 ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

แม้ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยในตลาดญี่ปุ่นอยู่ในระดับต่ำ และอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางประเทศญี่ปุ่นอยู่ที่ 0.1% แต่ภาวะเงินฝืดที่ระดับราคาสินค้าลดลงต่อเนื่อง ทำให้ภาระอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงสูงกว่าอัตราที่เป็นตัวเงิน และสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ภาวะเงินฝืดจึงเพิ่มแรงกดดันต่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลายฝ่ายจึงเรียกร้องให้รัฐบาลและธนาคารกลางร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการแก้ปัญหา และเสนอแนะให้ธนาคารกลางของประเทศญี่ปุ่นใช้นโยบายการเงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง เช่น รับซื้อตราสารทางการเงิน และพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว ในส่วนรัฐบาล ควรมีนโยบายที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้น รวมทั้งใช้มาตรการในการขยายการจ้างงาน และกระตุ้นความต้องการในประเทศที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยซ้ำซ้อน(double-dip recession) ต่อไป

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ