รัฐบาลญี่ปุ่นเร่งสรุปแผนยุทธศาสตร์การเติบโตรูปแบบใหม่แสวงหาตลาดใหม่ขนาดใหญ่

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 22, 2010 13:46 —กรมส่งเสริมการส่งออก

นโยบายเศรษฐกิจเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ท้าทายความอยู่รอดของรัฐบาลญี่ปุ่น การเป็นประเทศที่มีหนี้สาธารณะสูงถึง 200 เปอร์เซ็นต์ของ GDP การจัดเก็บรายได้ทางภาษีได้น้อยลงเนื่องจากประชากรในวัยทำงานลดลงการเข้าสู่สังคมชรา และการไม่ใช้จ่ายของประชากรเนื่องจากความกังวลว่าจะมีความจำเป็นต้องใช้ในอนาคต เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตได้น้อยมาก

เพื่อผลักดันให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจรัฐบาลญี่ปุ่นได้ร่างยุทธศาสตร์การเจริญเติบโตรูปแบบใหม่ซึ่งเป็นการวางยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันของญี่ปุ่นและแนวโน้มของโลกในอนาคต โดยคาดหวังว่าจะก่อให้เกิดตลาดใหม่ขนาดใหญ่ขึ้น ยุทธศาสตร์นี้มุ่งเน้น 2 ด้านที่สำคัญคือ 1) ด้านการเป็นผู้นำด้านสุขภาพ เพื่อพลิกปัญหาการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโต ไปสู่โอกาสในการสร้างธุรกิจด้านสุขภาพ โดยมาตรการที่จะนำมาใช้เช่น การทบทวนระดับค่าตอบแทนที่จ่ายให้กับแพทย์และพยาบาล และ 2) ด้านการเป็นผู้นำด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยใช้จุดแข็งของญี่ปุ่นในด้านเทคโนโลยีการผลิตพลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ (renewable energy) และเทคโนโลยีที่ลดปริมาณการปล่อยแก๊สที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการลด Green house gas ให้ได้ 25 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2020 จากปริมาณที่ปล่อยออกมาในปี 1990 โดยมาตรการที่ร่างยุทธศาสตร์นี้เสนอคือการส่งเสริมให้ใช้รถพลังงานไฟฟ้า การให้บริษัทพลังงานไฟฟ้าต้องผูกพันที่จะซื้อพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดมาจากแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์และ renewable energy รวมถึงการวางแผนที่จะผ่อนคลายกฎระเบียบในการจัดตั้งโรงงานผลิตพลังงานจากลมและความร้อนบนโลก

นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวยังเสนอให้ญี่ปุ่นแสวงหาประโยชน์จากการเจริญเติบโตที่รวดเร็วในประเทศอื่น ผ่านการส่งออกโครงสร้างอุตสาหกรรม โดยใช้กลไกทางการทูตและความร่วมมือทางการเงินระหว่างประเทศเพื่อให้นโยบายนี้เป็นรูปธรรม ซึ่งรวมถึง Japan Bank for International Cooperation (JBIC) และการส่งเจ้าหน้าที่ด้านโครงการโครงสร้างสาธารณะ ไปประจำอยู่ในคณะทูตของญี่ปุ่นในจีน อินเดีย และประเทศอื่นๆ ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว

เป้าหมายและมาตรการเพื่อนำไปสู่ยุทธศาสตร์การเจริญเติบโตรูปแบบใหม่ 2020

การเป็น Super Power ในด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม
  • สร้างตลาดมูลค่า 50 ล้านล้านเยน และ สร้างงาน 1.4 งาน
  • ยอดการขาย Eco-car ควรเป็นครึ่งหนึ่งของยอดการขายรถใหม่ทั้งหมด
การเป็น Super Power ในด้านสุขภาพ
  • สร้างงานบริการด้านสุขภาพ 2.8 ล้านงาน
  • พัฒนา Regenerative medicine และหุ่นยนต์เพื่ออำนวยความสะดวกชีวิตประจำวัน
  • ดึงดูดคนไข้ 500,000 คน/ปี จากต่างประเทศ
การเติบโตของเศรษฐกิจเอเซีย
  • สร้างตลาดมูลค่า 19.7 ล้านล้านเยนในโครงการต่างประเทศ
  • จัดตั้งคณะกรรมการโครงการยุทธศาสตร์ระดับชาติระหว่างภาครัฐและเอกชน
การปฏิรูปการท่องเที่ยวและสังคมชนบท
  • เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็น 25 ล้านคน
  • ส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และประมงให้ได้มูลค่า 1 ล้านล้านเยนภายในปี 2017
  • ผ่อนคลายวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีน
การเป็นประเทศผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • เพิ่มจำนวนสถาบันวิจัยและพัฒนาอย่างน้อย 100 สถาบนที่ติดอันดับใน Top 50 ของโลกในแต่ละสาขา
การพัฒนาการจ้างงานและทรัพยากรบุคคล
  • เพิ่มจำนวนเด็กที่ประสบความสำเร็จทางด้านการศึกษาในระดับ Top ของโลก
  • สร้างศูนย์เลี้ยงดูเด็กที่ได้รับการ

ยุทธศาสตร์ดังกล่าวทำให้เห็นมุมมองของญี่ปุ่นที่เปลี่ยนไปที่สำคัญคือ 1) การผลักดันให้เกิดการเติบโตโดยมุ่งเน้นในหลายสาขาอุตสาหกรรมมากขึ้น จากเดิมที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นพึ่งพิงอุตสาหกรรมรถยนต์ และอิเล็คทรอนิคส์อย่างมาก ซึ่งเกิดจากการที่ญี่ปุ่นเริ่มสูญเสียความเป็นผู้นำในด้านดังกล่าว และเป็นการปรับตัวให้เข้ากับแนวโน้มของอุปสงค์โลก 2) การมองเศรษฐกิจของประเทศกับเศรษฐกิจของโลกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น และพยายามแสวงหาโอกาสที่มีในต่างประเทศ โดยใช้จุดแข็งด้านเทคโนโลยีที่มีเป็นจุดขาย

อย่างไรก็ดี ยุทธศาสตร์การเจริญเติบโตรูปแบบใหม่ของญี่ปุ่นนี้ ไม่ได้กล่าวถึงมาตรการการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลของญี่ปุ่นซึ่งสูงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่อยู่ในระดับ 20-30 เปอร์เซ็นต์นอกจากนี้ ยังไม่มีความเป็นรูปธรรมเกี่ยวกับการได้มาของแหล่งทุนเพื่อสนับสนุนนโยบายต่างๆ ของรัฐ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก แต่ญี่ปุ่นจัดเก็บเงินภาษีได้น้อยลง ซึ่งการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นทางออกที่หลายคนมองว่ายุติธรรมไม่เอาเปรียบคนทำงานมากเกินไป ซึ่งคาดว่ารัฐบาลญี่ปุ่นคงต้องนำมาพิจารณาในท้ายที่สุด

รัฐบาลญี่ปุ่นเร่งสรุปแผนยุทธศาสตร์การเจริญเติบโตรูปแบบใหม่นี้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ แต่คาดว่าปัญหาเรื่องภาษีนิติบุคคลจะเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งที่อาจทำให้เกิดความล่าช้าเนื่องจากความเห็นที่ขัดแย้งกันระหว่างหน่วยงานและกระทรวงต่างๆ

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ