สหรัฐอเมริกาอนุญาตการนำเข้ามะม่วงสดจากปากีสถาน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 10, 2010 11:51 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ปากีสถานได้ยื่นเรื่องขอให้กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ พิจารณาการอนุญาตให้นำเข้ามะม่วงสด (Mangifera Indica L.) ของประเทศปากีสถาน มาจำหน่ายในสหรัฐฯ เมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2553 และ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานตรวจสอบพันธุ์พืชและสัตว์ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ มีมติเห็นชอบอนุญาตให้นำเข้ามะม่วงสดของปากีสถานเข้ามาจำหน่ายในสหรัฐฯ ได้ ซึ่งใช้เวลาเพียง 2 เดือนในการพิจารณาเท่านั้น

สำนักงานตรวจสอบพันธุ์พืชและสัตว์ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (Animal & Plant Health Inspection Services : APHIS) กำหนดระเบียบการนำเข้ามะม่วงสดปากีสถาน (1) ต้องเป็นมะม่วงที่ปลูกในสวนผลไม้ปลอดแมลง (Pest-Free Area) (2) ได้รับการฆ่าแมลงด้วยวิธีฉายรังสี(Irradiation) ในอัตราระดับ 400 Grey ตามระเบียบของสำนักงาน และได้รับการสวนสอบและมีเอกสาร Phytosanitary Certificate จากสำนักงานฯ National Plant Protection Organization of Pakistan และอนุญาตให้นำเข้ามาเพื่อการค้าเท่านั้น (Commercial Consignment)

ปัจจุบัน ปากีสถานเป็นผู้ผลิตมะม่วงสดมากเป็นอันดับที่ 6 ของโลก หรือมีผลผลิตประมาณ 1.6 ล้านตันในปี 2548 มะม่วงปากีสถานเป็นพันธุ์เดียวกับกับมะม่วงอินเดียซึ่งเป็นประเทศ ที่ผลิตมะม่วงมากที่สุดของโลก หรือประมาณร้อยละ 50 ของผลผลิตรวมของโลก (1.อินเดีย 2.จีน 3.ไทย 4.เม็กซิโก และ 5.อินโดนิเซีย ตามลำดับ)

ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯ เป็นผู้นำเข้ามะม่วงสดรายใหญ่ที่สุดของโลก ปัจจุบัน (มกราคม-มิถุนายน 2553) สหรัฐฯ นำเข้ามะม่วงสดเป็นมูลค่า 109.38 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.93 และมีแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ เม็กซิโก (ร้อยละ 61) เปรู (ร้อยละ 26) และ กัวเตมาลา (ร้อยละ 7)

ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ

3.1 การเมืองมีส่วนสำคัญในการเป็นแรงผลักดันให้สหรัฐฯ เร่งดำเนินการอนุญาตการนำเข้ามะม่วงสดของปากีสถาน จะเห็นได้จาก สหรัฐฯ ใช้เวลาเพียง 2 เดือนในการพิจารณา ในขณะที่ใช้เวลาเป็นปีในการพิจารณามะม่วงสดของไทยหรือมะม่วงสดอินเดีย Ms. Hillary Clinton รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเดินทางไปเยือนปากีสถานเมื่อเร็วๆนี้ มีส่วนช่วยผลักดันให้สหรัฐฯ เร่งรีบอนุญาตให้นำเข้ามะม่วงปากีสถาน ทั้งนี้ เพื่อวัตถุประสงค์สร้างภาพพจน์ที่ดีของสหรัฐฯ ต่อประชาชนปากีสถาน และความร่วมมือของปากีสถานในสงครามในประเทศอัฟกานิสถาน

3.2 ถึงแม้ว่ามะม่วงสดปากีสถานจะต้องได้รับการฉายรังสีก่อนส่งเข้าไปจำหน่ายในสหรัฐฯเช่นเดียวกับมะม่วงสดอินเดีย หรือ มะม่วงสดของไทยก็ตาม แต่มะม่วงสดปากีสถานสามารถหลีกเลี่ยงปัญหา ที่มะม่วงสดอินเดียและมะม่วงสดของไทยที่เผชิญอยู่ในการต้นทุนการขนส่งทางอากาศ เนื่องจาก ปากีสถานสามารถคิดค้นเทคโนโลยี่ในการรักษาหรือยืดอายุความสดของมะม่วงให้ได้นานกว่าปกติ หรือมีอายุความสดอยู่ได้ประมาณ 40 วันหลังจากเก็บเกี่ยว ซึ่งเป็น ข้อได้เปรียบนี้เป็นการสนับสนุนให้ปากีสถานสามารถขนส่งมะม่วงสดโดยทางเรือแทนการขนส่งทางอากาศ เป็นผลให้ทุนการขนส่งต่ำลง ราคามะม่วงไม่สูง และสามารถแข่งขันกับมะม่วงสดนำเข้าจากกลุ่มประเทศอเมริกากลางได้

3.3 การคิดค้นเทคโนโลยี่การขยายอายุความสดของมะม่วงไทยเป็นสิ่งที่ควรเร่งดำเนินการ และในขณะเดียวกัน การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพสูงไปลงทุนทำสวนผลไม้เมืองร้อนของไทยในสหรัฐฯ ในกลุ่มประเทศแคริบเบียน หรือ อเมริกากลาง และส่งผลผลิตเข้ามาจำหน่ายในสหรัฐฯ เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้มะม่วงไทยสามารถแข่งขันได้ เพราะผลผลิตจะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการผลิตและส่งออกมาจากประเทศไทย และเป็นการขยายตลาดในระยะยาวที่มั่นคง หรือการแปรรูปผลไม้ไทย ในรูปแบบต่างๆ เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่า (Value Added) ให้สินค้า

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ