มทร.คิดค้นหลังคายางพาราทนแข็งแรง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 30, 2010 00:00 —องค์การสะพานปลา

นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจของไทยที่ผลิตส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก ขณะเดียวกันก็น่าเสียดายที่ประเทศไทยกลับต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป (ยางพารา) จากยุโรปที่ซื้อยางพาราไปแปรรูปปีหนึ่งหลายร้อยล้านบาท
จะดีขนาดไหนถ้าประเทศไทยหันมาแปรรูปวัตถุดิบที่มีอยู่มากมายให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ของตนเอง อย่างที่ไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศบ้าง
แนวความคิดดังกล่าวคงมีคนไทยหลายคนที่กำลังมองอยู่ อาทิ นักศึกษากลุ่มหนึ่งที่เล็งเห็นความสำคัญและไม่อาจมองข้ามทรัพยากรที่มีอยู่มากในประเทศ และไม่ปล่อยโอกาสที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นมาใช้เองภายในประเทศอย่างไม่ต้องนำเข้าอีกต่อไป
นายเถลิงเกียรติ เขตบุญพร้อม นายสันติสุข บุตรน้อย และ น.ส.พิจิตรา สุจริต นักศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมสิ่งทอ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี คือสามนักศึกษาที่นำเอาข้อดีของยางพารามาคิดค้นวิจัยจนได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ชนิดหนึ่งเป็นผลสำเร็จ โดยมี รศ.สุจิระ ขอจิตต์เมตต์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ
เจ้าของผลงานบอกว่า จริงๆ แล้วผลิตภัณฑ์ที่คิดได้ คือหลังคายางพารา แต่ไม่ได้ผลิตจากยางพารา 100% ยังมีเส้นใยจากธรรมชาติอีกชนิดที่มีคุณสมบัติน่าสนใจ คือ ป่านศรนารายณ์ ซึ่งเป็นเส้นธรรมชาติที่มีคุณภาพทางกายภาพ คือมีความแข็งแรงสูง ทนต่อแสงแดด ทนต่อความร้อน ทนต่อเชื้อราและแมลง ดังนั้น จึงนำข้อดีดังกล่าวมาคิดค้นร่วมกับยางพารา กระทั่งได้หลังคายางพาราจากวัสดุธรรมชาติกับเส้นใยป่านศรนารายณ์ โดยเส้นใยป่านศรนารายณ์เป็นตัวเสริมแรงในการขึ้นรูปหลังคาจากยางพาราแบบผสมผสาน 2 ลักษณะคือ
ลักษณะที่ 1 คือผสมน้ำยางเข้มข้นกับสารเคมีตีให้เข้ากันแล้วนำไปหมัด จากนั้นนำเส้นใยป่านศรนารายณ์ที่ไม่ได้ตัดลงในแม่พิมพ์ แล้วเทน้ำยางที่ผสมสารเคมีแล้วลงในแม่พิมพ์ที่เตรียมเส้นใยป่านไว้ นำไปอบความร้อน จากนั้นแกะออกและได้ผลิตภัณฑ์กระเบื้องมุงหลังคา ส่วนลักษณะที่ 2 มีขั้นตอนที่เหมือนกับลักษณะแรก แตกต่างกันตรงที่ขั้นตอนจากวางป่านศรนารายณ์ลงในแม่พิมพ์ ซึ่งต้องตัดเส้นใยป่านศรนารายณ์ขนาด 0.5-1 ซม.
จากการทดสอบพบว่า กระเบื้องมุงหลังคายางพารา-ป่านศรนารายณ์แบบไม่ตัดปริมาณ 20 กรัม ดีกว่าอย่างอื่น เนื่องจากมีความสามารถตามมาตรฐานของ มอก. ไม่ว่าการทนต่อแรงอัด ซึ่งสามารถทนแรงอัดได้สูงสุดที่ 181,920.67 นิวตัน ซึ่งมาตรฐานของกระเบื้องมุงหลังคาโดยทั่วไปอยู่ที่ไม่น้อยกว่า 450 นิวตัน
ส่วนการกันน้ำ ไม่ว่าจะเป็นกระเบื้องมุงหลังคายางพารา-ป่านศรนารายณ์ลักษณะใด หรือปริมาณเท่าใด ก็สามารถกันการรั่วซึมของน้ำได้เช่นเดียวกับมาตรฐาน มอก.ของกระเบื้องมุงหลังคาที่ต้องกันการรั่วซึมของน้ำได้
แต่กระเบื้องมุงหลังคายางพารา-ป่านศรนายรายณ์กลับไม่สามารถทนไฟได้ตามมาตรฐาน มอก. ทีมงานผู้วิจัยจึงมีข้อเสนอแนะว่าควรใส่สารเคมีที่มีคุณสมบัติกันไฟ เพื่อให้กระเบื้องยางพาราไม่ติดไฟ และอาจเพิ่มเส้นใยป่านศรนารายณ์ให้มากขึ้น หรืออาจลองเปลี่ยนวัสดุเสริมแรงแทนป่านศรนารายณ์
ทั้งนี้ นอกจากหลังคายางพารา-ศรนารายณ์ที่คิดค้นขึ้น จะเป็นการใช้ทรัพยากรในประเทศให้เกิดประโยชน์ ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ หลังคายางพารา-ป่านศรนารายณ์ยังเป็นหลังคาที่ช่วยประหยัดพลังงานและเป็นสิ่งแวดล้อม ช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ด้วย
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อขอทราบรายละเอียดจากผู้คิดค้นและวิจัยได้ที่ 08-6233-5420, 08-0659-5275 และ 08-6036-5227.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ