กระทรวงมหาดไทย เร่งแก้ไขกฎหมายสกัดการลักลอบค้างาช้าง

ข่าวทั่วไป Monday August 18, 2014 13:59 —สำนักโฆษก

เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 57 นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีนโยบายแก้ไขปัญหาการค้างาช้าง จากกรณีคณะกรรมการขององค์กรอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES หรือไซเตส ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ไทยควบคุมการลักลอบค้างาช้าง ในระหว่างการประชุมที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

กระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้วเห็นว่าการค้างาช้างภายในประเทศไทยเป็นงาที่ได้มาจากช้างเอเชียที่มีสถานะเป็นสัตว์พาหนะ หรือช้างเลี้ยง ตามพระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ พ.ศ. 2482 ซึ่งยังไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับซากของสัตว์พาหนะ ดังนั้น การครอบครองและการค้างาช้างที่อ้างว่ามาจากช้างเลี้ยง จึงไม่มีกฎหมายไทยฉบับใดควบคุม ดังนั้น เพื่อเร่งหาแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะเรื่องการปรับแก้กฎหมาย เพื่อให้สามารถควบคุมการค้างาช้างในประเทศไทย ทั้งกรณีช้างเลี้ยง และช้างแอฟริกา และเพื่อให้สอดคล้องตามพันธกรณีของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบตามพระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ พ.ศ. 2482 จึงได้ดำเนินการยกร่างแก้ไขกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติและระเบียบดังกล่าว ได้ผ่านคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกรมการปกครองแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ 1) พระราชบัญญัติสัตว์พาหนะพุทธศักราช 2482 แก้ไขกำหนดระยะเวลาการจดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณช้าง จากเดิม ช้างต้องมีอายุย่างเข้าปีที่ 8 เป็น ต้องจดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณเมื่อช้างมีอายุครบ 3 เดือนนับแต่แรกเกิด และต้องต่ออายุตั๋วรูปพรรณช้างทุก 5 ปี 2) กำหนดมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมงาช้างเพื่อป้องกันการค้างาช้าง กรณีงาช้างถูกตัด หัก หรือหลุดตามธรรมชาติให้เจ้าของช้างต้องแจ้งต่อนายทะเบียนภายใน 30 วันเพื่อตรวจสอบและออกเอกสารกำกับงาช้าง และกรณีช้างตาย (ล้ม) เจ้าของต้องแจ้งต่อนายทะเบียน ภายใน 7 วัน เพื่อตรวจสอบและออกเอกสารกำกับงาช้าง รวมทั้งได้ยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบการสัตว์พาหนะ พุทธศักราช 2482 เพื่อแก้ไขแบบพิมพ์ ที่เกี่ยวกับช้างใหม่ (เป็นรูปเล่ม) โดยนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาใช้ในการจดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณช้างให้ทันสมัยสามารถควบคุมดูแลช้างและป้องกันการนำช้างป่ามาสวมตั๋วรูปพรรณช้างได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งตั๋วรูปพรรณแบบใหม่จะมีข้อมูลที่สามารถยืนยันตัวช้างได้อย่างชัดเจน เช่น มีรหัสประจำตัวสัตว์ (ช้าง) เป็นรหัส 13 หลัก เลขไมโครชิพ ข้อมูลพันธุกรรม (DNA) วัน เดือน ปีเกิด เป็นต้น

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ระหว่างที่ร่างกฎหมายดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้ เพื่อควบคุมการค้างาช้างภายในประเทศ กระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือสั่งการให้ทุกจังหวัดและกรุงเทพมหานครดำเนินการ ดังนี้ 1. แจ้งนายทะเบียนท้องที่ให้ประชาสัมพันธ์ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองช้างทราบ กรณีงาช้างถูกตัด หัก หรือหลุดตามธรรมชาติ เป็นเหตุ ให้ตำหนิรูปพรรณช้างเชือกนั้นคลาดเคลื่อนจากตั๋วรูปพรรณ ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองช้างนำช้างพร้อมตั๋วรูปพรรณไปแจ้งต่อนายทะเบียนเพื่อตรวจแก้ตำหนิรูปพรรณภายใน 30 วันนับแต่วันที่ทราบ และกรณีช้างตาย (ล้ม) ให้แจ้งและส่งมอบตั๋วรูปพรรณช้างเชือกนั้นต่อนายทะเบียน ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ทราบว่าสัตว์นั้นตาย ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย จะเร่งรัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าวทั้งเรื่องการตรากฎหมาย ข้อบังคับ และความพยายามในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในชั้นต้น เพื่อสกัดกั้นการลักลอบค้างาช้างที่ผิดกฎหมาย เพื่อคุ้มครองสัตว์ป่าตามพันธกรณีของอนุสัญญาที่กำหนดไว้

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ