ปลัดกระทรวงมหาดไทย เผยผลการดำเนินงานของกระทรวงมหาดไทยตามนโยบาย คสช. รอบ 3 เดือน

ข่าวทั่วไป Tuesday August 26, 2014 17:18 —สำนักโฆษก

เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 57 นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการขับเคลื่อนภารกิจต่างๆ ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยรับผิดชอบดำเนินการ โดยตลอดระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม - 22 สิงหาคม 2557 กระทรวงมหาดไทยได้ใช้กลไก ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น เร่งรัดดำเนินการตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย โดยได้บูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างมีเอกภาพนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างชัดเจนและบังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

ในโอกาสนี้ กระทรวงมหาดไทยจึงขอชี้แจงถึงบทบาท และผลการดำเนินงานตามนโยบาย คสช. ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มภารกิจ ดังนี้ 1. ภารกิจการรักษาความสงบเรียบร้อย ด้านความมั่นคง ได้เร่งรัดให้ทุกจังหวัดเฝ้าระวังป้องกันการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบอย่างเข้มงวด โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานความมั่นคงเพื่อป้องกันการนำไปสู่การสร้างสถานการณ์รุนแรงและป้องกันปัญหาอาชญากรรม มีการตั้งจุดตรวจความมั่งคง ตรวจสอบสถานที่หรือบุคคลต้องสงสัย ตรวจสอบการลักลอบกักเก็บอาวุธ จำนวน 76,103 ครั้ง ตรวจค้นจับกุมอาวุธปืนผิดกฎหมาย จนสามารถยึดของกลางได้จำนวนมาก จำแนกเป็น อาวุธปืน 597 กระบอก กระสุนปืน 28,604 นัด วัตถุระเบิด 166 ลูก และได้รับมอบอาวุธปืน เครื่องกระสุน หรือวัตถุระเบิดจากประชาชนหรือผู้นำมาทิ้งไว้ จำแนกเป็น อาวุธปืน จำนวน 858 กระบอก กระสุนปืน 14,277 นัด และวัตถุระเบิด 172 ลูก ด้านปัญหาสังคม ได้ดำเนินการกวดขันจับกุมการลักลอบเล่นการพนันผิดกฎหมายทุกประเภทส่งดำเนินคดี จำนวน 2,846 คดี รวมทั้งได้จัดกิจกรรมรณรงค์ ลด ละ เลิก การพนัน จำนวน 89,400 ครั้ง ดำเนินการตรวจสอบจับกุมกลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมการทวงหนี้ชาวนาและการทวงหนี้ผิดกฎหมาย เข้าข่ายลักษณะทวงหนี้อย่างไม่เป็นธรรม ฝ่าฝืนกฎหมาย ข่มขืนใจ ใช้กำลังประทุษร้าย โดยตรวจพบการกระทำผิด จำนวน 324 ครั้ง และจับกุมดำเนินคดี จำนวน 205 คดี ด้านการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สามารถจับกุมผู้กระทำผิดคดีเกี่ยวกับป่าไม้ จำนวน 2,248 คดี และได้จัดตั้งอาสาสมัครเฉพาะด้าน เพื่อป้องกันปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า 2. ภารกิจการเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของ คสช. แบ่งเป็น 1) การแก้ไขปัญหายาเสพติด ด้านการปราบปรามจับกุมได้สนธิกำลังร่วมกันระหว่างทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง จับกุมผู้กระทำผิดในคดียาเสพติด จำนวน 26,465 คดี จัดชุดปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นหมู่บ้านเป้าหมายที่มีสถานการณ์รุนแรงทั่วประเทศ จำนวน 3,198 หมู่บ้าน ด้านการป้องกันได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานบริการ หอพัก โรงงานและสถานประกอบการ จำนวน 67,175 ครั้ง 2) การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ได้จัดตั้งศูนย์ประสานรับแรงงานกัมพูชากลับเข้าทำงานในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว จันทบุรี ตราด และสุรินทร์ ซึ่งมีคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชามาขึ้นทะเบียนจำนวน 58,754 คน และได้จัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อพิจารณาออกใบอนุญาตทำงานชั่วคราวแก่แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาร์ ลาว กัมพูชา ซึ่งขณะนี้ได้เปิดดำเนินการครบทุกจังหวัดแล้ว มีผู้มาลงทะเบียนจำนวน 803,217 คน 3) การขจัดความขัดแย้งและสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เร่งชี้แจงทำความเข้าใจต่อกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง มีการจัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปในระดับจังหวัด อำเภอ และองค์การบริหารส่วนตำบลหรือ

เทศบาล และให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เป็นกลไกสำคัญในการดำเนินการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ในทุกพื้นที่ ซึ่งตลอดระยะเวลา 3 เดือน สามารถดำเนินการไปแล้ว จำนวน 100,877 ครั้ง และจัดกิจกรรมสร้างความปรองดองในรูปแบบต่างๆ เช่น ออกหน่วยบริการเคลื่อนที่ กิจกรรมสันทนาการ กิจกรรมทางประเพณีวัฒนธรรมเป็นต้น มีผลการดำเนินการ จำนวน 44,092 ครั้ง และได้เชิญคู่ขัดแย้งทางการเมืองแกนนำทางการเมืองในพื้นที่มาพูดคุยทำความเข้าใจและทำพันธะสัญญา จำนวน 593 ครั้ง 4) การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้จัดตั้งคณะทำงานระดับกระทรวง ขึ้น เพื่อบูรณาการทุกหน่วยงานในสังกัดในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สนับสนุนแผนงานการต่อสู้เอาชนะในระดับหมู่บ้าน โดยเฉพาะในส่วนของศูนย์ปฏิบัติการอำเภอเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่ ในส่วนของงานพัฒนาเน้นการพัฒนาเพื่อสนับสนุนความมั่นคงโดยเฉพาะในพื้นที่เป้าหมาย รวมทั้งการพัฒนาในพื้นที่ชายแดน และงานด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยเฉพาะในชุมชนเมืองที่มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น เน้นหนักในเรื่องการป้องกัน ลดการสูญเสียจากการก่อเหตุในเขตเมือง 5) การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจฐานราก ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาค่าเช่านา โดยให้จังหวัดควบคุมค่าเช่านาให้ลดลงประมาณ 200 บาทต่อไร่ และแก้ไขปัญหาผลผลิตทางการเกษตร โดยให้จังหวัดพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามมาตรการการช่วยเหลือเกษตรกรของ คสช. อาทิ การลดต้นทุนการผลิต ลดราคาหรือสนับสนุนปัจจัยการผลิต สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และการจัดงานจำหน่ายผลิตภัณฑ์โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จำนวน 6 ครั้ง ในภูมิภาคต่างๆ มียอดจำหน่ายรวมทั้งสิ้นประมาณ 2,000 ล้านบาท 3. การเพิ่มศักยภาพในการให้บริการประชาชนและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนแบบเบ็ดเสร็จระดับจังหวัดและอำเภอ โดยได้จัดตั้งศูนย์ดำรงธรรม ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ให้บริการประชาชนอย่างเสมอภาค มีคุณภาพ เร็วลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน เพื่อให้ประชาชนได้รับความพึงพอใจ ในส่วนภูมิภาคจัดตั้งขึ้น ณ ศาลากลางจังหวัดทุกแห่งหรือสถานที่ที่เหมาะสม ส่วนกลางจัดตั้งขึ้น 2 แห่ง คือ ที่ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทยชั้น 1 และศูนย์บริการประชาชนกรมการปกครอง วังไชยา และได้เปิดช่องทางการให้บริการให้มีความหลากหลายและสะดวกรวดเร็วกับประชาชนมากยิ่งขึ้น โดยสามารถติดต่อรับบริการได้โดยตรงที่ศูนย์ดำรงธรรม ทุกแห่ง ทางหมายเลขโทรศัพท์ 1567 และทางเว็บไซต์ศูนย์ดำรงธรรม ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา มีเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์จำนวน 730 เรื่อง แก้ไขปัญหายุติได้ 394 เรื่อง และอยู่ระหว่างดำเนินการจำนวน 336 เรื่อง 4. การเสริมสร้างการบริหารกิจการของรัฐที่ดี ได้ดำเนินการปรับปรุงระบบการบริหารจัดการขององค์กรภาครัฐให้มีความโปร่งใส คำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก โดยเน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินการตามนโยบายของ คสช. ในเรื่องการได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว และเรื่องการกำกับดูแลการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำหรับการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการ กระทรวงมหาดไทยได้จัดทำแผนมหาดไทยใสสะอาด ขึ้น เพื่อเป็นแนวทางให้ทุกส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ใช้เป็นแนวในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของทุกหน่วยงาน

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานในสังกัดให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของงานภารกิจที่ต้องรับผิดชอบโดยตรง และภารกิจที่ต้องเข้าไปสนับสนุนการดำเนินการของส่วนราชการอื่น รวมทั้งให้เตรียมความพร้อมในการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องตามแผนโรดแมปของ คสช. ในระยะต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้การทำงานสนับสนุนนโยบายต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองต่อเจตนารมณ์และนโยบายของ คสช. เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนต่อไป

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ