ทิศทางการขับเคลื่อนอุดมศึกษา

ข่าวทั่วไป Friday September 26, 2014 17:14 —สำนักโฆษก

สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) - ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หารือทิศทางการขับเคลื่อนอุดมศึกษากับนายแพทย์กำจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา รองศาสตราจารย์ คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) และศาสตราจารย์วิชัย ริ้วตระกูล รองประธาน กกอ. เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2557 ที่ห้องประชุม สกอ. ชั้น 4 มีสาระสำคัญสรุปดังนี้

พลิกโฉมการอุดมศึกษา Re-profile

รมช.ศธ. กล่าวว่า จะพยายามให้มหาวิทยาลัยต่างๆ พัฒนาไปสู่ปรัชญาของแต่ละมหาวิทยาลัย และสอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยที่เน้นผลิตบัณฑิต ก็ต้องตอบโจทย์การผลิตคนเพื่อขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ผลิตคนรองรับการเปลี่ยนแปลงระดับพื้นที่ ผลิตคนที่มีศักยภาพ (Smart) ในการแข่งขันเวทีระดับโลก ตลอดจนรองรับการพัฒนาตัวเองของคนวัยทำงานกว่า 20-30 ล้านคน ส่วนมหาวิทยาลัยวิจัย ก็ต้องตอบโจทย์ระบบเศรษฐกิจระดับประเทศ ระดับพื้นที่ เช่น บริเวณเกตเวย์เข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้าน เขตเศรษฐกิจเฉพาะ นิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งการวิจัยเพื่อแข่งขันในเวทีโลก

ทั้งนี้ กกอ.ควรจะหารือกับกลุ่มมหาวิทยาลัยต่างๆ ว่า ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนด้านใดบ้าง เช่น แนวทางการพัฒนาครู ทั้งครูในปัจจุบัน/ครูใหม่ ทุนการศึกษา ทุนการพัฒนา ระบบการจัดสรรงบประมาณ ตลอดจนถึงการประเมินทั้งภายในและภายนอก เพื่อให้เกิดการพลิกโฉมการอุดมศึกษา (Re-profile)

เน้นให้มีกลไกในการพัฒนามหาวิทยาลัย ตามปรัชญาของแต่ละมหาวิทยาลัย และสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ

รมช.ศธ.กล่าวว่า กกอ. ควรปรับบทบาท เพื่อให้เป็นกลไกในการดูแลการเปิดหลักสูตรของแต่ละมหาวิทยาลัยที่จะสามารถพัฒนาศักยภาพได้ตามปรัชญาและสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ โดยมีแนวทางที่จะดำเนินการ 2 ส่วน คือ

1) การเปิดหลักสูตร เนื่องจากขณะนี้มีการเปิดมหาวิทยาลัยใหม่ เปิดหลักสูตรใหม่ และรับนักศึกษาใหม่ได้อย่างไม่มีขีดจำกัด และไม่สามารถจะหยุดยั้งได้ เนื่องจาก กกอ.ไม่มีอำนาจ ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศ เพราะนอกจากจะทำให้ผู้เรียนเสียเงินในการเรียนถึง 3-4 แสนบาทต่อคน และเสียเวลาเรียนนานถึง 4 ปีแล้ว จบมาก็ยังไม่มีงานทำ ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าในจำนวนผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย 3 คน จะมีเพียง 1 คนที่มีงานทำในปีแรก เท่ากับจะมีคนไม่มีงานทำในปีแรกถึงประมาณ 1.5 แสนคนต่อปี โดยอาจจะมีสาเหตุมาจากการผลิตนักศึกษาไม่ตรงกับระดับการศึกษาที่ต้องการ คือผลิตระดับปริญญาตรี แต่ต้องการแค่คนจบ ปวช./ปวส. ก็เป็นการผลิตที่สูงกว่าความต้องการ หรือผลิตไม่ตรงกับสาขาวิชาที่ต้องการ หรือบางส่วนอาจไม่มีคุณภาพ ซึ่งหากผู้ที่เรียนจบแล้วไม่มีงานทำและไม่มีรายได้ ก็จะไปกระทบต่อการใช้หนี้เงินทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาด้วย

2) การเปิดเผยข้อมูลของมหาวิทยาลัย ต้องการให้มหาวิทยาลัยได้เปิดเผย ข้อมูล/ตัวเลขการมีงานทำ รายได้จริงที่บัณฑิตได้รับจากการทำงาน และรายได้ของมหาวิทยาลัยจากการเปิดหลักสูตรต่างๆ เพื่อให้สาธารณชนรับทราบ ซึ่งขณะนี้ผู้ปกครองและผู้เรียนไม่สามารถทราบเลยว่าเรียนแล้วจะมีโอกาสมีงานทำหรือไม่ ในขณะที่รัฐบาลซึ่งเป็นผู้จัดสรรงบประมาณ ก็ไม่รู้ตัวเลขรายได้ของมหาวิทยาลัย หากมหาวิทยาลัยสามารถเปิดเผยข้อมูลส่วนนี้ เชื่อว่าสาธารณชนโดยเฉพาะผู้ปกครองและผู้เรียนจะได้รับการคุ้มครองระดับหนึ่ง

ดังนั้น จึงต้องมาดูว่าจะปรับบทบาทของ กกอ. ให้สามารถอนุมัติหรือพิจารณาการเปิดหลักสูตร รวมทั้งการพิจารณาปรับระบบการผลิตให้มีความสมดุลกับความต้องการทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพได้อย่างไร รวมทั้งการออกหลักเกณฑ์เพื่อให้มหาวิทยาลัยได้เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน เพื่อเป็นการลดความสูญเสียของรัฐบาลและผู้เรียน ก่อนที่จะเดินหน้าผลักดันให้มหาวิทยาลัยตอบโจทย์ความต้องการของประเทศและพื้นที่ รวมทั้งมีส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

ต้องการเปลี่ยนโฉมให้ครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ มุ่งเน้นการผลิตและพัฒนาครู

จากการที่ พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้ตนดูแลรับผิดชอบงานด้านการผลิต พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา จึงมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนโฉมกลุ่มครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ให้มาเน้นเรื่องการผลิตและพัฒนาครูมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ สกอ.ดำเนินการเรื่องระบบการผลิตและพัฒนาอยู่แล้ว แต่การเข้าสู่กระบวนการวิชาชีพครูเป็นเรื่องขององค์กรที่เกี่ยวข้อง จึงจำเป็นที่จะต้องมีการประชุมหารือร่วมกับทุกส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

นวรัตน์ รามสูต

บัลลังก์ โรหิตเสถียร

สรุป/รายงาน

Published 25/9/2557

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ