ศธ.ประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก

ข่าวทั่วไป Thursday October 9, 2014 17:00 —สำนักโฆษก

พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2557ที่ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

การศึกษาข้อมูลเพื่อปรับโครงสร้างของ ศธ.

รมว.ศธ. กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ 3 องค์กรหลัก คือ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ไปพิจารณาศึกษา รวบรวมข้อมูลและข้อคิดเห็นว่า หากจะต้องแยกออกจากกระทรวงศึกษาธิการจะมีข้อดีข้อเสียอย่างไร เนื่องจากโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการมีขนาดใหญ่ อาจจะทำให้การบริหารงานไม่คล่องตัว หรือมีผลกระทบกับการเรียนการสอน กระทบกับครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีอยู่ถึง 8 แสนคนทั่วประเทศ รวมทั้งทำให้ประสิทธิภาพด้านต่างๆ ลดลงหรือไม่

อย่างไรก็ตาม การแยกหน่วยงานออกไปไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเดิม สกอ.เป็นทบวงมหาวิทยาลัย และ สกศ.ก็เคยสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีมาก่อน ดังนั้น จึงต้องการให้ศึกษาข้อมูลตั้งแต่ช่วงที่อยู่แยกจากกระทรวง กับช่วงที่มารวมอยู่กับกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน ว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร และหากจะแยกออกไป ก็ต้องพิจารณาว่าจะส่งผลดีต่อความคล่องตัวของการบริหารงานทั้งในส่วนของกระทรวงและของหน่วยงานหรือไม่อย่างไร

ย้ำว่า การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาในเบื้องต้น คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน และหากประมวลผลแล้ว ส่วนใหญ่เห็นว่าแยกแล้วมีข้อดีมากกว่าข้อเสียก็จะดำเนินการต่อไป เพราะช่วงเวลานี้เป็นโอกาสที่ดีที่จะสามารถดำเนินการได้ แต่หากเห็นว่าไม่ควรแยก ก็จะไม่แยก นอกจากนี้จะนำเสนอให้สภาการปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณาข้อดีข้อเสียควบคู่ไปด้วย หากผลทั้งสองส่วนตรงกันว่าเป็นเรื่องดี ก็จะเดินหน้าเรื่องนี้อย่างจริงจังต่อไป

ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า ตนได้ตั้งคณะทำงานศึกษาเรื่องนี้แล้ว โดยให้ไปวิเคราะห์ว่าโครงสร้างการจัดอาชีวศึกษาในปัจจุบันว่ามีปัญหาใดหรือไม่ หากมีสาเหตุของปัญหานั้นมาจากอะไร และการแยกออกไปจะตอบโจทย์การแก้ปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ นอกจากนั้น จะต้องสำรวจความคิดเห็นในเรื่องนี้จากอดีตผู้บริหาร บุคลากรของ สอศ. ภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรมด้วย รวมถึงการเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากสังคม พร้อมทั้งศึกษาวิเคราะห์จากงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ และเปรียบเทียบกับการจัดการอาชีวศึกษาของต่างประเทศด้วย ซึ่งหากศึกษาแล้ว อาจจะมี 3 แนวทาง คือ อยู่ใน ศธ.เช่นเดิม หรือเพิ่มหน่วยงานระดับกรมภายใน สอศ. เพื่อรองรับภาระงานต่างๆ หรือแยกออกไปตั้งเป็นกระทรวง ซึ่งประเด็นต่างๆ เหล่านี้ได้ตั้งคณะทำงานไปศึกษาทั้งหมด คาดว่าจะได้คำตอบเบื้องต้นปลายเดือนตุลาคม 2557 ส่วนรายละเอียดทั้งหมดจะเสร็จภายใน 3 เดือน

รศ.นพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวว่า สกอ.มีข้อเสนอล่วงหน้ามาก่อนแล้วว่า ต้องการขอแยกหน่วยงานออกมาจาก ศธ. แต่จะเป็นรูปแบบทบวง หรือกระทรวงอุดมศึกษาและวิจัย นั้น สกอ.จะเร่งกลับมาหารือเพื่อจัดทำข้อเสนอต่อ รมว.ศธ.โดยเร็วต่อไป

การใช้ประโยชน์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รมช.ศธ. กล่าวต่อที่ประชุมถึงความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้และการพัฒนาคุณภาพครู ดังนี้

  • การเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา พ.ศ. .... ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาฯ ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และที่ประชุมรายงานการดำเนินการแก้ไขกฎหมายของแต่ละกระทรวงหรือหน่วยงาน โดยมี ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยพลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2557 ได้มีมติให้ทุกกระทรวงเร่งยืนยันกฎหมายไปยังคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

สำหรับกรอบการดำเนินงานของสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ประกอบด้วยงานที่สำคัญ 4 ประการ คือ 1) การวิจัยพัฒนาสื่อ เพื่อพัฒนากระบวนการสอนของครูและการเรียนรู้ของผู้เรียน 2) การให้บริการแก่สถานศึกษาและผู้เรียน ในการเข้าถึงสื่อสมัยใหม่เพื่อการเรียนรู้ ทั้งในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การเผยแพร่สื่อไปยังกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง 3) การพัฒนาครู ให้มีขีดความสามารถในการใช้สื่อเพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้ใหม่ให้ผู้เรียน 4) การเป็นกลไกประสานการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ นอกจากจะได้เสนอร่าง พ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเข้าไปใหม่แล้ว ยังมีกฎหมายอื่นอีก 6 ฉบับ ที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาด้วย คือ 1) ร่าง พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมคุณภาพการเรียนรู้ 2) ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 3) ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 4) ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสวนดุสิต 5) ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ 6) ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยขอนแก่น

  • การประสานความร่วมมือระหว่าง 3 กระทรวงในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการประชุมหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เมื่อวันที่30 กันยายนที่ผ่านมา ว่า ทั้งสามกระทรวงจะประสานความร่วมมือในการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีพัฒนาการศึกษา โดย ICT จะใช้งบประมาณเหลือจ่ายจากโครงการแท็บเล็ตพีซีเพื่อการศึกษา จำนวน 3,700 ล้านบาท เพื่อนำไปผลิต Digital Learning Content และพัฒนาครูในทุกกลุ่มสาระวิชา ตลอดจนถึงจะประสานกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อนำงบประมาณในส่วนของการกระจายบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (Universal Service Obligation : USO) มาสนับสนุนสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในระยะยาว

ในส่วนของ วท. จะประสานกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อสนับสนุนการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการดำเนินงานของสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในระยะยาวต่อไป

ความก้าวหน้าการพัฒนาคุณภาพครู

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รมช.ศธ. กล่าวว่า ที่ประชุมองค์กรหลักได้รับทราบผลการประชุมหารือร่วมกับคณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (The Thailand Development Research Institute : TDRI) ซึ่งมีข้อค้นพบและข้อเสนอเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพครู ดังนี้

1) การปฏิรูประบบการผลิต การคัดเลือก และการพัฒนาครู ในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีครูเกษียณจำนวน 2.2 แสนคน ซึ่งจะต้องมีครูทดแทนอย่างน้อย 1.6 แสนคน (จากอัตราการเพิ่มประชากรวัยเรียนที่ลดลง) ประกอบกับขณะนี้มีแรงจูงใจในวิชาชีพครูดีขึ้นทั้งเงินเดือนและค่าตอบแทนวิทยฐานะ กล่าวคือ ครูอายุเฉลี่ย 45-50 ปี จะมีเงินเดือนสูงกว่าอาชีพอื่นๆ และผู้จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีผลเรียนดี นิยมเลือกเรียนในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์เป็นอันดับ 1 มากขึ้น ซึ่งทำให้คะแนนเฉลี่ยการสอบ Admissions ในปี 2556 สูงเป็นอันดับแรกในกลุ่มคณะสังคมศาสตร์ จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะมีการปฏิรูประบบการผลิต การคัดเลือก และการพัฒนาครู เพื่อที่จะคัดเลือกบัณฑิตครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ที่มีความสามารถเข้ามาเป็นครูได้มากขึ้น

2) การปฏิรูปวิธีคัดเลือกครู TDRI เสนอให้มีการปฏิรูปวิธีการคัดเลือกครูให้มีมาตรฐาน สถานศึกษาควรเข้ามามีบทบาทในการคัดเลือกครูมากขึ้น ควรมีการปรับสถานภาพการจ้างครู การเพิ่มเงินเดือนตั้งต้น การเพิ่มเงินพิเศษในสาขาขาดแคลนและในพื้นที่ยากลำบาก และระบบการประเมินที่เน้นพัฒนาการของผลการเรียนของนักเรียน เป็นต้น

3) การปฏิรูปครูทั้งระบบไปพร้อมๆ กัน TDRI เสนอให้มีการปฏิรูปครูทั้งระบบ โดยเริ่มจากครูที่บรรจุใหม่ ควรให้มีสถานภาพเป็นพนักงานของรัฐ ส่วนครูประจำการเดิม สามารถเลือกเปลี่ยนสถานภาพได้ตามความสมัครใจ เพื่อลดผลกระทบต่อครูประจำการที่มีอยู่ โดยคาดว่าภายในปี 2570 จะมีครูที่เป็นพนักงานของรัฐภายใต้กติกาใหม่ ที่จะช่วยส่งผลต่อคุณภาพการเรียนการสอนที่ดีขึ้นจำนวนร้อยละ 45 ของจำนวนครูทั้งหมด

ทั้งนี้ จากการประชุมหารือผู้ทรงคุณวุฒิ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2557 ก็มีความเห็นว่า ข้อเสนอของ TDRI ข้างต้นมีความเหมาะสมเชิงหลักการดังนั้น ในทางปฏิบัติควรมีแผนการจัดการในช่วงเปลี่ยนผ่าน และมีการกำหนดระยะเวลาของการปฏิรูประบบที่ชัดเจนและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อให้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติจริง เช่น

  • การประกาศเงื่อนไขกติกาใหม่เกี่ยวกับสถานภาพการจ้าง ค่าตอบแทน และความก้าวหน้าในวิชาชีพ เป็นการล่วงหน้า เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้ที่กำลังเรียนหรือกำลังตัดสินใจเข้าเรียนสาขาครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์ หรือกำหนดเงินส่วนเพิ่มในสาขาขาดแคลนหรือในพื้นที่ยากลำบาก
  • ควรมีการเตรียมความพร้อมเกณฑ์มาตรฐานใหม่ เพื่อใช้วัดสมรรถนะครูในสาขาวิชาหรือกลุ่มสาระต่างๆ
  • มาตรฐานสมรรถนะของผู้บริหารทั้งในระดับสถานศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษา
  • การเตรียมความพร้อมระบบวัดผลประเมินผลการศึกษา ที่สามารถวัดและประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ได้หลากหลายรูปแบบ มากกว่าการวัดเฉพาะผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการเท่านั้น

ภาพ สถาพร ถาวรสุข สำนักงานรัฐมนตรี

นวรัตน์ รามสูต

บัลลังก์ โรหิตเสถียร

สรุป/รายงาน

Published 9/10/2557

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ