สธ.-ศธ.หารือแผนการผลิตแพทย์ 10 ปี

ข่าวทั่วไป Wednesday December 24, 2014 16:55 —สำนักโฆษก

พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขและคณะ ประชุมหารือเรื่องแผนยุทธศาสตร์การผลิตแพทย์ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยมี ดร. กฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลเรือเอก เรืองทิพย์ เทียนทอง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารทั้งสองกระทรวงเข้าร่วมการประชุม เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2557

นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สธ. กล่าวว่า ที่ประชุมร่วมระหว่างสองกระทรวงได้มีการศึกษาทบทวนประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับการผลิตแพทย์ไปแล้วสองครั้งเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2557 และ 8 ธันวาคม 2557 ซึ่งมีผลสรุปร่วมกันให้ใช้ตัวเลขสัดส่วนแพทย์ต่อประชากร 1 : 1,500 คน โดยเป้าหมายการผลิตแพทย์ในภาพรวมของประเทศในอีก 10 ปีข้างหน้า จะผลิตแพทย์เพิ่มขึ้น 25,065 คนจากปัจจุบัน หรือโดยเฉลี่ยปีละ 2,507 คน เพื่อทดแทนอัตราสูญเสียแพทย์ที่ออกจากระบบถึงร้อยละ 40 ต่อปี ซึ่งมีสาเหตุจากหลายกรณี อาทิ แพทย์ใช้ทุนลาออกเพื่อไปเรียนต่อแพทย์เฉพาะทาง การลาออกก่อนครบใช้ทุน การเกษียณ ป่วย ฯลฯ

ทั้งนี้ จะให้ความสำคัญกับการกระจายแพทย์เป็นหลัก ที่จะมีการ Monitor สัดส่วนแพทย์ต่อประชากร ทั้งในระดับเขต จังหวัด และอำเภอ ประกอบกับการใช้ FTE (Full Time Equivalent) ในการวิเคราะห์ภาระงานของโรงพยาบาลขนาดต่างๆ อย่างเหมาะสม ซึ่งที่ประชุมเห็นควรให้เสนอให้มีการจัดทำแผนการผลิตแบ่งเป็นระยะ พร้อมทั้งกำหนด Facility ที่ต้องใช้ในการผลิตแพทย์เพิ่มเติม

นอกจากนี้ ได้เสนอถึงความจำเป็นในการเปิดคณะแพทย์ใหม่ และการมีโรงพยาบาลของคณะแพทย์ใหม่ ว่าควรใช้ทรัพยากรของ สธ. เป็นหลัก ควรใช้ประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอนแบบสหสาขาอย่างเต็มที่ และขนาดของโรงพยาบาลไม่ควรเกิน 400 เตียง และหากจะต้องมีการเปิดโรงเรียนแพทย์หรือโรงพยาบาลใหม่ ควรรีบแจ้งคณะกรรมการร่วม เพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการให้บริการของ สธ. และแผนการผลิตแพทย์ 10 ปี

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รมช.ศธ. กล่าวว่า จะนำแผนการผลิตแพทย์ 10 ปี (พ.ศ.2559-2570) พร้อมข้อสรุป เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบ และจัดทำเป็นข้อเสนอเพื่อจัดตั้งคณะทำงานร่วมในการดำเนินการต่อไป โดยที่ประชุมครั้งนี้เห็นชอบให้มีแผนการผลิตแพทย์แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 ระยะเตรียมการ (พ.ศ.2559-2560) โดยจะดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่าง สธ. สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา แพทยสภา และกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) เพื่อพิจารณาศักยภาพและอนุมัติการเพิ่มการผลิตในศูนย์แพทย์เดิมอีก 90 คน ส่วนโรงพยาบาลที่จะเป็นศูนย์แพทย์ใหม่และคณะแพทย์เล็กที่จะรับนักศึกษาเพิ่มในส่วนของ ศธ. จะต้องมีการเตรียมตัว ประเมินความพร้อมและขออนุมัติจากแพทยสภา เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตในระยะต่อไป

ระยะที่ 2 แผนระยะกลาง (พ.ศ.2561-2565) เป็นช่วงที่ศูนย์แพทย์ใหม่มีความพร้อมรับนักศึกษาในช่วงแรก 72 คน และคณะแพทย์ขนาดเล็กที่มีความพร้อมทั้งทางด้านปรีคลินิกและคลินิก สามารถเริ่มรับนักศึกษา 111 คน ส่วนศูนย์แพทย์เดิมรับนักศึกษาเพิ่มอีก 90 คน

ระยะที่ 3 แผนระยะยาว (พ.ศ.2567-2570) เป็นช่วงที่ศูนย์แพทย์ใหม่และคณะแพทย์เล็กมีความพร้อมในการรับนักศึกษาตามแผนที่วางไว้ โดยศูนย์แพทย์ใหม่สามารถรับนักศึกษาเพิ่มอีก 72 คน รวมเป็น 144 คน และคณะแพทย์ขนาดเล็กรับนักศึกษาเพิ่มอีก 111 คน รวมเป็น 222 คน รวมทั้งสิ้นกำลังการผลิตแพทย์ของประเทศในปี 2570 จะเท่ากับ 3,500 คน ตามแผนที่วางไว้

พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศธ. กล่าวว่า การวางแผนผลิตแพทย์เพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเป็นเรื่องที่ดี แต่จะต้องหาแนวทางที่จะทำให้แพทย์อยู่ในระบบและไปทำงานในชนบทมากขึ้นด้วย รวมทั้งควรจะต้องมีมาตรการลดการสูญเสียแพทย์ คือ 1) การบริหารจัดการแพทย์ (CPIRD ODOD) 2) ลดการลาออกของแพทย์ใช้ทุนทุกระบบ 3) ลดการสูญเสียแพทย์เฉพาะทาง 4) พัฒนาแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเพื่อพัฒนาการบริการปฐมภูมิ

สำหรับข้อเสนอของ สธ.ที่จูงใจเด็กในพื้นที่ให้มาเรียนแพทย์เป็นข้อเสนอที่ดี เพราะอย่างน้อยเด็กเหล่านี้จะกลับไปทำงานในพื้นที่ ดูแลพ่อแม่ ญาติพี่น้อง ช่วยแก้ปัญหาแพทย์ย้ายออกมาอยู่ในตัวเมือง ทั้งนี้ ที่ประชุมขอให้ สธ.จัดทำข้อสรุปทั้งหมดเสนอต่อคณะรัฐมนตรีรับทราบต่อไป

นวรัตน์ รามสูต

บัลลังก์ โรหิตเสถียร

สรุป/รายงาน

24/12/2557

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ