อุตุฯเตือนอย่าตระหนกข่าวแผ่นดินไหว-สึนามิบริเวณทะเลอันดามัน-อ่าวไทย

ข่าวทั่วไป Friday June 11, 2010 12:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เจ้าหน้าที่สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกข่าวคาดคะเนเกี่ยวกับการเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในทะเลอันดามัน มหาสมุทรอิเดีย และในทะเลด้านอ่าวไทย มหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งอาจก่อให้เกิดคลื่นสึนามิ ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประเทศไทย เหมือนกรณีที่เกิดเมื่อเดือนธันวาคม 2547

โดยขอให้ติดตามข่าวจากทางราชการโดยตรงและเชื่อมั่นในหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งมีการเตรียมความพร้อมตลอดเวลาในกรณีของแผ่นดินไหวและสึนามิ หรือภัยธรรมชาติอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม การพยากรณ์ การเกิดแผ่นดินไหว ว่าจะเกิด ณ ตำแหน่งและเวลาใดๆ ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน นักแผ่นดินไหวยังไม่สามารถพยากรณ์ได้ และยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยเท่านั้น

"เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า จะเกิดแผ่นดินไหวขึ้นที่ไหนเมื่อไหร่ วันนี้ พรุ่งนี้ หรือมะรืนนี้ รวมถึงระดับความรุนแรง แต่ก็ไม่อยากให้ตื่ตระหนกกัน"เจ้าหน้าที่คนเดิม กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

เจ้าหน้าที่ กล่าวว่า ทุกที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวได้ แต่ไม่สามารถบอกแนวโน้มได้ และสำหรับประเทศไทยไม่ได้อยู่แนวรอยเลื่อนขนาดใหญ่ ไม่เหมือนอินโดนีเซียหรือญี่ปุ่นที่ไหวทุกวัน แต่ถ้าแถวนั้นไหวหนักๆ ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยได้

นอกจากนี้หน่วยงานหลักที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านแผ่นดินไหวและสึนามิของโลก เช่น Pacific Tsunami Warning Center (PTWC), Japan Meteorological Agency (JMA) , Intergovernmental Occanographic Commission (IOC) , World Meteorological Organization (WMO) ก็ยังไม่มีการเตือนภัยหรือแสดงหลักฐานข้อมูลใด ที่จะมีการบ่งชี้ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ในวันที่ 12 มิถุนายน 2553 ดังกล่าวตามที่มีกระแสออกมา

ด้านการศึกษา วิจัย ปัจจุบันพบว่ามีแนวโน้มการเกิดแผ่นดินไหว บริเวณทะเลอันดามันนั้น อาจจะเกิดแผ่นดินไหวด้านตะวันตก ของตอนกลางถึงตอนใต้เกาะสุมาตรา ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทยน้อยมากในแง่ความสั่นสะเทือน และหากเกิดสึนามิ ก็ไม่ส่งผลกระทบถึงประเทศไทย เนื่องจากส่วนใหญ่พลังงานและคลื่นสึนามิที่จะก่อความเสียหาย มีทิศทางไปทางตะวันตกเฉียงใต้ออกสู่ทะเลลึก มหาสมุทรอินเดีย เช่นเดียวกับกรณีแผ่นดินไหวใหญ่ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2548 และแผ่นดินไหวใหญ่ ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2552 ที่เป็นเหตุการณ์ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย

ส่วนการเกิดคลื่นสึนามิด้านมหาสมุทรแปซิฟิกนั้น บริเวณที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดคือ แนวรอยเลื่อนใต้ทะเล ด้านตะวันตกของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งอยู่ห่างจากประเทศไทยนับพันกิโลเมตร หากเกิดคลื่นสึนามิขึ้นจริงและมีขนาดใหญ่เพียงพอ จากการคำนวณของกรมอุตุนิยมวิทยา คลื่นจะใช้เวลาเดินทางมาถึงประเทศไทยประมาณ 14 ชั่วโมง ทำให้ประเทศไทยมีเวลามากพอต่อการเตือนภัยและอพยพประชาชนสู่ที่ปลอดภัย

ทั้งนี้ ระบบการเฝ้าระวังการเกิดแผ่นดินไหว และระบบการเตือนภัยสึนามิหรือภัยธรรมชาติชนิดต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งการแพร่กระจายข้อมูลผ่านสื่อสารมวลชนต่างๆ ของประเทศไทยในปัจจุบันมีประสิทธิภาพสูง และมีการปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง ดังนั้น ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยสึนามิ หรือภัยธรรมชาติชนิดอื่นๆ จะได้รับข้อมูลข่าวสารการเตือนภัยอย่างรวดเร็ว หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน

"ระบบเตือนภัยต่างๆเชื่อว่ายังมีความพร้อมใช้งาน รวมถึงคำสั่งอพยพผู้คน ก็เป็นหน้าที่ของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ"เจ้าหน้าที่คนเดิมกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ