"กรณ์"ห่วงศก.โลกลวงตาทำอนาคตหนี้สาธารณะพุ่ง แนะรัฐใช้งบประมาณให้คุ้มค่า

ข่าวการเมือง Wednesday August 15, 2012 12:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และอดีต รมว.คลัง กล่าวอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 56 โดยแสดงความเป็นห่วงต่อปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศที่แม้ปัจจุบันจะอยู่ในระดับที่สะท้อนถึงความมั่นของทางเศรษฐกิจของประเทศก็ตาม จากระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ 42% แต่แนวโน้มการเพิ่มสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีกลับมีมากขึ้น

พร้อมแนะให้รัฐบาลควรตระหนักว่าเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันเอื้อต่อการเป็นหนี้อาจเป็นเพียงภาพลวงตาที่สุดท้ายจะเป็นการเพิ่มภาระหนี้ต่องบประมาณให้มากขึ้น กล่าวคือ อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินโลกอยู่ในระดับต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะทุกประเทศต่างประสบปัญหาเศรษฐกิจในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จึงจำเป็นที่แต่ละรัฐบาลต้องร่วมมือกันกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มปริมาณเงิน ซึ่งมีผลทำให้อัตราดอกเบี้ยลดลง

"นี่คือสาเหตุที่เราอาจมีภาพลวงตาว่า ต้นทุนการเป็นหนี้อยู่ระดับค่อนข้างต่ำ แต่หากพิจารณาอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลก กับอัตราดอกเบี้ยของไทย เริ่มปรับเข้าสู่ภาวะปกติ ภาระหนี้ต่องบประมาณมีโอกาสเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องนำงบประมาณมาใช้บริหารหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจเกินระดับวินัยการคลังที่ 25% ซึ่งเป็นประเด็นที่กังวล และรัฐบาลควรคำนึงถึงภาระหนี้สาธารณะด้วย" อดีต รมว.คลัง ระบุ

นายกรณ์ กล่าวว่า นอกจากความกังวลต่อปัญหาหนี้สาธารณะแล้ว หากพิจารณาตัวเลขงบประมาณรายจ่ายในปี 56 ที่ 2.4 ล้านล้านบาท ถือเป็นงบประมาณรายจ่ายที่มีเม็ดเงินโดยรวมสูงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยประเทศไทยไม่เคยมีงบประมาณรายจ่ายสูงเท่านี้มาก่อน ขณะที่ประมาณการรายได้อยู่ที่ 2.1 ล้านล้านบาท ก็ถือเป็นเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน จึงเป็นความกังวลว่ารัฐบาลจะจัดเก็บภาษีจากส่วนใด ซึ่งฝ่ายค้านได้แต่หวังว่าจะเห็นความยุติธรรมและคุ้มค่าจากการจัดเก็บภาษีของรัฐบาล

"เป็นเป้าหมายการจัดเก็บภาษีครั้งที่ใหญ่สุด ไม่เคยมีรัฐบาลไหนเรียกเก็บภาษีจากประชาชนมากเท่ารัฐบาลนี้ ผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 56 เงิน 2.1 ล้านล้านบาทล้วนแต่เป็นภาระของประชาชนที่ต้องชำระภาษี เพื่อให้รัฐบาลนำมาจับจ่าย เราหวังว่ารัฐบาลจะมีความรับผิดชอบ ทั้งในแง่ความยุติธรรมในการจัดเก็บภาษี และความคุ้มค่าในการนำเม็ดเงินภาษีไปบริหารจัดการต่อไป" นายกรณ์ ระบุ

อดีตรมว.คลัง ยังกล่าวถึงประเด็นความยุติธรรมในการจัดเก็บภาษี โดยมองว่ารัฐบาลมีนโยบายที่ทำให้เกิดความยุติธรรมน้อยลง ดูจากการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% และเตรียมจะปรับลดเหลือ 20% ในต้นปี 56 ซึ่งผลการปรับลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้มากถึง 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ถ้านำไปสู่การลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลก็จะไม่มีผลต่อประชาชนโดยตรง แต่ในความเป็นจริงแล้วรายจ่ายของรัฐบาลกลับสูงขึ้น ขณะที่เป้าหมายการจัดเก็บภาษีโดยรวมก็สูงขึ้นเช่นกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ รัฐบาลกลับจัดเก็บภาษีจากกลุ่มนายทุนลดลง ซึ่งเป็นการลดภาระให้อย่างไม่มีเงื่อนไข ดังนั้นเมื่อกลุ่มนายทุนไม่ต้องเสียภาษี จึงตั้งคำถามว่าผู้ที่จะมารับภาระนี้คือใคร

"รัฐบาลต้องชี้แจงว่า ทำไมรัฐบาลถึงคิดว่าการปรับภาระจากผู้ที่มีทรัพย์สินและมีความร่ำรวยสูงสุดในประเทศ และโยกภาระนั้นไปที่พี่น้องประชาชนโดยรวม จึงเป็นนโยบายที่รัฐบาลคิดว่ามีความยุติธรรมต่อพี่น้องประชาชน" นายกรณ์ กล่าว

พร้อมมองว่า การจัดเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำถือเป็นเป้าหมายที่ดีของทุกรัฐบาล หากรัฐบาลสามารถบริหารบ้านเมืองได้ โดยทำให้ประชาชนมีภาระภาษีได้น้อยย่อมสะท้อนถึงประสิทธิภาพในการบริหารราชการของรัฐบาลนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี แต่กรณีที่รัฐบาลยังต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายอยู่ ก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่รัฐบาลต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การกู้เงิน หรือจัดเก็บภาษีจากประชาชนเพิ่มขึ้น ซึ่งในกรณีของรัฐบาลชุดนี้ได้ดำเนินการทั้ง 2 อย่างควบคู่กัน

ดังนั้นฐานรายได้จึงเป็นปัญหา และหน่วยงานจัดเก็บรายได้ก็เริ่มมีปัญหา โดยเดือน พ.ค.55 กรมสรรพากรรายงานการเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้า 3.6 หมื่นลบ. ซึ่งเป็นผลจากนโยบายของรัฐบาลในการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 23% ประกอบกับผู้ประกอบการที่ประสบภัยน้ำท่วมไม่สามารถมีรายได้มาชำระภาษีให้รัฐบาลได้ ดังนั้นจึงมีความเป็นห่วงว่าประมาณการจัดเก็บรายได้ที่ 2.1 ล้านล้านบาทนั้น ทำอย่างไรถึงจะได้ตามเป้าหมาย

"ผมมั่นใจในศักยภาพการทำงานของกรมสรรพากรว่าเก็บได้แน่ ทะลุเป้า ผมเชื่อ แต่ปัญหาคือท่านจะไปเก็บกับใคร เพราะอัตราภาษีได้กำหนดไว้แล้วว่าไม่สามารถไปเก็บจากนายทุนขนาดใหญ่ได้ เพราะฉะนั้นจึงเหลือแต่ประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ไม่มีอำนาจต่อรองที่จะต้องรับภาระนั้นเพิ่มขึ้น" นายกรณ์ ระบุ

อย่างไรก็ดี หากการจัดเก็บภาษีทั้งหมดมีความจำเป็นจริง เพราะรัฐบาลมีค่าใช้จ่ายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ก็จะต้องมาทบทวนว่าวิธีการใช้เงินของรัฐบาลมีความคุ้มค่ากลับคืนมาให้ประชาชนและระบบเศรษฐกิจหรือไม่ สามารถแก้ปัญหาความยากจน สามารถเพิ่มโอกาสให้ประชาชนโดยรวม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้หรือไม่

นายกรณ์ กล่าวว่า ในช่วงหลังจากนี้ไปจะมีสมาชิกมาอภิปรายในประเด็นนี้ว่าการใช้เงินตาม ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 56 ของรัฐบาล ไม่ได้ตอบโจทย์ประเด็นเหล่านี้ ไม่ได้ช่วยลดภาระความยากจน หรือเพิ่มโอกาสให้ประชาชนสามารถรับผิดชอบตัวเองและครอบครัวได้ อีกทั้งไม่ได้เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศ และที่สำคัญไม่ได้มีความคุ้มค่าต่อเม็ดเงินงบประมาณที่จะมีการใช้จ่ายด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ