"สุรพงษ์"มั่นใจศาลโลกไม่รับตีความปมปราสาทพระวิหาร,"วีรชัย"ยันทำดีที่สุด

ข่าวการเมือง Saturday April 20, 2013 10:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ พร้อมด้วยนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ชี้แจงผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอเร้นซ์กระบวนการต่อสู้กรณีกัมพูชาร้องขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 ผ่านทางรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชนทางสถานีวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย โดยมั่นใจศาลโลกจะไม่รับตีความฯ ขณะเดียวกันเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ พร้อมยืนยันจะไม่นำเรื่องของประเทศชาติมาเล่นเกมการเมือง
"ไม่ควรนำการเมืองมายุ่งกับเรื่องต่างประเทศ เช่น กรณีพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลพยายามกล่าวหาว่าฮั้วกัน ทั้งที่พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลมีทรัพยากรที่เราต้องเตรียมไว้ในอนาคต ทั้งก๊าซ และน้ำมัน เราต้องการพลังไฟฟ้า พลังงานสำรอง ถ้ามัวแต่มากล่าวหากันและไม่มีการเริ่มเลย คิดว่าคนไทยรุ่นลูกรุ่นหลานจะเสียโอกาส รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะพิสูจน์ให้สังคมไทยได้เห็นว่าเราทำทุกอย่างเพื่อประเทศชาติเป็นหลัก" นายสุรพงษ์ กล่าว

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การให้การด้วยวาจาของทีมทนายไทยถือว่าทำการบ้านมาอย่างดี โดยยืนยันให้ศาลเห็นว่ากรณีกัมพูชามาให้ศาลตีความไม่มีความจำเป็นเพราะเรื่องจบไปแล้วเมื่อปี 2505 และไทยก็ปฏิบัติตามคำสั่งของศาล เราถอนทหารและตำรวจมาอยู่แนวรั้วเป็นไปตามมติ ครม.เมื่อปี 2505

"การทำงานของทีมทนายของเรามีไม้เด็ดใช้เรื่องแผนที่ ซึ่งท่านทูตใช้เวลามา 3 ปี ได้ข้อสรุปเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าสิ่งที่กัมพูชามาร้องไม่มีเหตุมีผล ดูภาพรวม 4 วันที่ผ่านมา ผมนั่งฟังมาตลอด ผมพอใจ และข้อห่วงใยต่างๆ ที่ได้รับคำเสนอแนะมาเราก็ไม่ได้ลืม เรารวบรวมประเด็นเหล่านั้นไว้หมด ก็ขอขอบคุณคนไทยที่ให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ บางอย่างเราพูดไม่ได้เพราะกัมพูชาอาจจะอ่านเกมได้ทันทำให้ภาพการต่อสู้ของเราเสียเปรียบได้ วันนี้เราดีใจที่เราสามารถรักษาความลับเหล่านั้นไว้ได้ บางครั้งเราอยากพูดให้เข้าใจแต่ก็ไม่กล้าเพราะกลัวความลับจะเปิดเผย ผมคิดว่าหลายฝ่ายที่คิดว่ารัฐบาลนี้จะมาฮั้วกับทางกัมพูชาและผมถูกกล่าวหามาตลอด ยืนยันว่าการต่อสู้คดีทีมทนายต่อสู้เต็มที่และใช้ทีมทนายชุดเดิม เพราะได้ศึกษามาตลอด 3 ปี รอบรู้และชำนาญมาก ก็ใช้ทีมทนายชุดเดิม แต่หลายฝ่ายคิดว่าเราจะโยนความผิดให้รัฐบาลชุดที่แล้ว ก็ขอเรียนว่าเราไม่เอาเรื่องของประเทศชาติมาเป็นเกมการเมือง" นายสุรพงษ์ กล่าว

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ผู้พิพากษายูซูฟขอให้ทำพิกัดนั้น ท่านก็บอกว่าขอส่วนตัวเพราะอยากที่จะเข้าใจทั้งหมด ซึ่งมีกำหนดที่ฝ่ายไทยและกัมพูชาจะต้องส่งในวันที่ 26 เมษายน และเท่าที่สอบถามก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยมีองค์คณะที่สอบถาม ซึ่งโดยหลักเมื่อท่านยูซูฟได้รับแล้วก็จะถ่ายสำเนาให้แก่ผู้พิพากษาทุกท่าน ก็สุดแล้วแต่ว่าจะนำไปศึกษาเพิ่มเติมอย่างไร เพราะแต่ละคนก็ต้องไปเขียนคำตัดสินของตัวเอง

"ถ้าศาลไม่รับตีความ ทุกอย่างกลับไปเหมือนปี 2505 เท่าที่วันนี้ดูจากการต่อสู้ของทีมทนายตลอด 4 วัน ยืนยันต่อศาลชัดเจนว่าศาลไม่ควรตีความ เพราะเรื่องจบเมื่อปี 2505 ไทยปฏิบัติตามคำสั่งของศาลไปเรียบร้อยแล้ว ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ศาลจะตีความย้อนหลัง แต่กัมพูชาซ่อนประเด็นไว้ต้องการพื้นที่มากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ วันนี้เราก็อยากเห็นการเสมอตัวคือกลับไปอยู่แบบเดิม เราก็อยู่กับเขา พัฒนาพื้นที่พระวิหารร่วมกับพื้นที่ใกล้เคียง" นายสุรพงษ์ กล่าว

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชานั้น ที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย และสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา เคยหารือกันหลายครั้งว่า ผลการตัดสินจะออกมาอย่างไรก็ยอมรับได้ และจะกลับมาเดินหน้าความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชาเหมือนเดิม ไม่เอาเรื่องนี้มายุ่งเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ปรแทศ

ระหว่างรอคำสั่งของศาลโลกในอีก 6 เดือนข้างหน้า รัฐบาลจะให้ความรู้แก่พี่น้องประชาชนคนไทย ถ้าคำตัดสินไม่ออกตามตามตั้งใจก็จะหารือทีมงานว่าเราต้องเตรียมสิ่งใด และจะเสนอผลสรุปว่าเป็นอย่างไรเพื่อให้คนไทยเข้าใจ ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศและทีมทนายที่ต้องช่วยกันศึกษาหาข้อสรุปเพื่อที่จะเข้าใจตรงกัน

"ขอให้พี่น้องคนไทยใจเย็นรอฟังผลการตัดสินของศาล แต่ผมก็เชื่อว่าผลการตัดสินที่มีผู้พิพากษา 17 ท่านนั่งบนบัลลังก์น่าจะมีความยุติธรรม และผลการตัดสินก็น่าจะออกมาในทางที่จะทำให้เกิดความสงบอยู่ร่วมกันได้" นายสุรพงษ์ กล่าว

ขณะที่นายวีรชัย กล่าวถึงการต่อสู้คดีว่า มุมมองของเราคือกัมพูชาต้องการขึ้นทะเบียนมรดกโลกฝ่ายเดียว และเสนอแผนที่ที่ล้ำเข้ามาในดินแดนไทย วัดได้ 4.6 ตารางกิโลเมตร ก็เลยเป็นที่มาของ 4.6 ตารางกิโลเมตร

"เขามองโลกกลับจากเรา เขามองว่าเป็นของเขามาตลอด แต่ผมเอาแผนที่มา เรามองว่ามันเป็นของเรา ก็เลยต้องประท้วงแต่เจรจากันไม่ได้ เขาก็เลยมาฟ้อง เขาเป็นฝ่ายฟ้อง อันนี้ต้องไม่ลืม เราถูกฟ้องก็ต้องป้องกันตัวเองในการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ก่อนหน้าปี 2550 ฝ่ายไทยทุกรัฐบาลก็บอกว่าจะร่วมกัน เราเอาพื้นที่รอบๆไปร่วมกันพัฒนา ส่วนพื้นที่ไหนเป็นของใครก็ไม่เปลี่ยนแปลงอะไรวางแผนไว้เป็นอย่างนั้น แต่ไปๆมาๆเขาก็ไปขึ้นคนเดียวเลย" นายวีรชัย กล่าว

นายวีรชัย กล่าวว่า เรื่องเขตแดนอยู่นอกกรอบคดีเดิม วิธีอ้างของเขาอ้างเส้นเขตแดนบนแผนที่ภาคผนวก 1 ประการที่สอง ไม่ได้มีการขัดแย้งกัน แต่อยู่ๆ เขามาเปลี่ยนใจ ไม่เอาเรื่องสมัยก่อน ข้อเท็จจริงอันนี้เราก็แข็งพอสมควร แผนที่เราก็เป็นจุดแข็ง แต่เขากลับไม่สนใจประเด็น เขาไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่ด้วยซ้ำ และเรื่องนี้ศาลก็ไม่มีอำนาจพิจารณาเรื่องเขตแดน เพราะมีอำนาจพิจารณาว่าอธิปไตยเหนือปราสาทเป็นของใคร ไม่ใช่เรื่องเขตแดน เมื่อไม่มีอำนาจพิจารณาเรื่องเขตแดน ทำให้ไม่สามารถมาผูกพันเราได้ในเรื่องเขตแดน ผูกพันเฉพาะอธิปไตยเป็นของใคร

"เรายื่นข้อมูลไปให้ศาล 1,300 กว่าหน้าว่ากัมพูชาประท้วงเรามาตลอด แต่ก็ไม่เคยประท้วงเรื่องเราไม่ได้ถอนออกจากพื้นที่ แต่กัมพูชาเขาไม่ได้ยื่นอะไรเลย ดังนั้นเมื่อกัมพูชาจะมาโต้เรา ก็มาจิ๊กหลักฐานเราไป แต่เราดูแล้วไม่มีตรงไหนเลยที่กัมพูชาร้องเรียนว่าเราไม่ได้ถอน ผมก็คิดว่าหลักฐานเราน่าจะแน่น เราไม่ปฏิเสธว่ามีข้อคิดเห็นไม่ตรงกันในเรื่องตีความคำพิพากษา แต่เกิดขึ้นเมื่อปี 2550 ซึ่งเราอยู่กันมาได้ 45 ปีไม่เคยมีความเห็นแตกต่าง จะเป็นไปได้อย่างไร เมื่ออยู่มา 45 ปีไม่เคยไปหาตำรวจ ไปแจ้งตำรวจ แต่พออยู่ๆมาหลัง 45 ปีแล้ว ไปแจ้งตำรวจอันนี้ก็คงอยู่กันไม่ได้หรอก" นายวีรชัย กล่าว

นายวีรชัย กล่าวว่า ผลของคดีจะเป็นอย่างไรคงไม่ไปก้าวล่วงอำนาจศาล แต่สิ่งที่เราพูดได้คือ เราทำดีที่สุด และละเอียดที่สุดแล้ว โปร่งใส และวินาทีที่พูดตรวจได้หมด ไม่มีอะไรซ่อนเลย ผลจะออกมาอย่างไรก็สบายใจ และการทำงานในช่วง 2 รัฐบาลที่ผ่านมาไม่มีความแตกต่างกัน ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ทุกอย่างแต่ต้นถึงปัจจุบันเรียกได้ว่าไม่มีรอยต่อ ทั้งงบประมาณ บุคลากร แม้แต่กำลังใจไม่มีความแตกต่างเลย

"ความร่วมมือร่วมใจของคนไทยทุกฝ่ายให้ความร่วมมือหมดเลย ผมคิดว่าถ้ามีอะไรดีหรือสำเร็จก็เป็นผลงานของพวกเราร่วมกันทั้งหมด...ขอบคุณคนไทย และขอบคุณในแง่ข้อมูลที่ส่งให้ ถ้ามีอะไรดีก็เป็นผลงานร่วมกัน และอยากเชิญชวนให้ศึกษาเอกสารที่เว็บไซต์ของกระทรวงต่างประเทศหรือศาลโลก ซึ่งต้องอ่านนานเป็นเดือน เพราะเมื่อคำพิพากษาออกจะได้เข้าใจได้เร็ว" นายวีรชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ