(เพิ่มเติม) ป.ป.ช.ค้านออกพ.ร.บ.นิรโทษฯเหตุกระทบคดีสำคัญ-ขัดหลักการอนุสัญญาต้านทุจริต

ข่าวการเมือง Tuesday November 5, 2013 15:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิชา มหาคุณ โฆษกกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) แถลงท่าทีต่อพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ระบุว่า จะเสนอแนะต่อวุฒิสภาเพื่อเป็นข้อมูลประกอบของร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เนื่องจากพ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลกระทบอย่างสำคัญต่อคดีต่างๆ ที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ(คตส.) ได้ไต่สวน รวมถึงมีการส่งสำนวนให้ ป.ป.ช.แล้ว 24 เรื่อง รวมกับข้อกล่าวหาที่ ป.ป.ช.ได้เคยไต่สวนไว้อีกกว่า 25,331 เรื่อง โดยในจำนวนนี้มีกรณีที่ ป.ป.ช.ได้ชี้มูลไปแล้วถึง 666 เรื่อง ซึ่งมีอันจะต้องระงับไปหาก พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ นอกจากนี้ ยังเป็นขัดหลักการต่ออนุสัญญาว่าต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น ทำให้กระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ

นายวิชา กล่าวว่า ป.ป.ช.ได้พิจารณาโดยละเอียดถึงผลดีผลเสียต่างๆ ของ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแล้ว เห็นว่าหลักการในมาตรา 3 ที่มีเนื้อหาระบุว่า "ให้บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.49 รวมถึงองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมา ที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2547 ถึง 8 ส.ค.56 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิงการกระทำในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112"

โดย ป.ป.ช.มองว่า มาตรา 3 นี้จะทำให้กระทบต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น และหลักธรรมาภิบาลการเสริมสร้างทัศนคติที่เกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริต และการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีและข้อตกลงระหว่างประเทศในด้านการต่อต้านการทุจริต ที่ประเทศไทยได้ลงนามให้สัตยาบรรณเข้าเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่นเมื่อ 1 มี.ค.2554

ดังนั้น ป.ป.ช.จึงเห็นสมควรให้มีข้อเสนอแนะต่อวุฒิสภาเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวดังนี้

1. ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ มีผลกระทบอย่างสำคัญต่อเรื่องกล่าวหาที่ คตส.ได้ไต่สวนและส่งฟ้องคดีต่อศาลไปแล้ว รวมทั้งเรื่องที่ คตส.ได้ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ รวม 24 เรื่อง ตลอดจนเรื่องกล่าวหาทีป ป.ช.ไต่สวนไว้แล้วอีก 25,331 เรื่อง แยกเป็นเรื่องกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูง 400 เรื่อง และเรื่องกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐทั่วไปอีก 24,931 เรื่อง ในจำนวนนี้ ป.ป.ช.ได้ชี้มูลแล้ว 666 เรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องกล่าวหาเกี่ยวกับการทุจริตเป็นอันจะต้องระงับไปทั้งสิ้นหาก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้ออกมา

นอกจากนี้ ในมาตรา 4 ของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ระบุว่าในเรื่องที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ก็ให้ถือว่าไม่เคยต้องคำพิพากษาดังกล่าว เนื่องจากผู้กระทำพ้นจากความผิดและรับผิดโดยสิ้นเชิง ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นผลกระทบอย่างสำคัญ และถือว่าร้ายแรงมาก

2.ประเทศไทยได้เข้าผูกพันในภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต UNCAC ตั้งแต่ มี.ค.2554 ซึ่งหลักการของอนุสัญญาฯ นี้ได้ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาและความเสี่ยงที่เกิดจากการทุจริตที่มีผลต่อความมั่นคงและปลอดภัยในสังคม ซึ่งบ่อนทำลายสถาบันในระบอบการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย เป็นอันตรายต่อการพัฒนาหลักนิติรัฐ

ดังนั้นหากประเทศไทยจะออกกฎหมายล้มล้างทุจริต ย่อมเป็นการขัดต่อหลักการของอนุสัญญาดังกล่าว และส่งผลกระทบถึงภาพลักษณ์ของประเทศอย่างมาก ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการถูกประเมินและติดตามผลการปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญาต่อต้านทุจริตดังกล่าว

"ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติแจ้งต่อสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ UNODC เช่นเดียวกับข้อเสนอที่มีต่อวุฒิสภา เพื่อแสดงเจตจำนงค์ในการปฏิเสธการนิรโทษกรรมความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างเด็ดขาด" นายวิชา กล่าว

นายวิชา กล่าวด้วยว่า หลักเกณฑ์การทำงานของ ป.ป.ช.คือ เราเป็นองค์กรที่เป็นกลาง ต้องมีหลักธรรมาภิบาล เรื่องไหนที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่น ถือเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.ที่จะต้องพิจารณา ซึ่งตอนที่ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับของนายวรชัย เหมะ ป.ป.ช.ไม่ได้เข้าไปแตะต้องเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับกับคดีทางการเมือง แต่พอมาสู่วาระ 2 และ 3 มีการสอดแทรกเรื่องคดีการเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง มีเรื่องของการทุจรติคอร์รัปชั่นเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เกี่ยวกับมาตรา 157 เป็นหน้าที่ของป.ป.ช.ที่จะต้องออกตอกย้ำถึงการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช.

อย่างไรก็ตาม ในเมื่อเวลานี้ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมกำลังจะเดินเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของวุฒิสภา ก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามขั้นตอน ซึ่งหากวุฒิสภาต้องการคำชี้แจงจาก ป.ป.ช.ก็พร้อมจะให้ข้อมูล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ