นิด้าโพลหนุนห้าม"คู่สมรส-บุพการี-บุตร"ลงสมัคร ส.ว.-ส.ส.ในคราวเดียวกัน

ข่าวการเมือง Sunday January 10, 2016 10:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น“นิด้าโพล"สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกับการทับซ้อนของผลประโยชน์" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 4–6 ม.ค.จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไปทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับ การดำรงตำแหน่งทางการเมืองกับการทับซ้อนของผลประโยชน์

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการมีข้อห้ามไม่ให้คู่สมรส บุพการี หรือบุตรของผู้สมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว. ในคราวเดียวกัน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 60.88 ระบุว่า เห็นด้วยกับข้อห้าม รองลงมา ร้อยละ 37.36 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อห้าม ร้อยละ 0.08 ระบุอื่น ๆ เช่น ควรพิจารณาเป็นรายกรณีหากอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกันก็ไม่สมควร แต่หากอยู่คนละพื้นที่เห็นสมควรให้ลงรับสมัครได้ และร้อยละ 1.68 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการมีข้อห้ามไม่ให้คู่สมรส บุพการี หรือบุตรของผู้สมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ในคราวเดียวกัน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 60.88 ระบุว่า เห็นด้วยกับข้อห้าม รองลงมา ร้อยละ 38.16 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อห้าม ร้อยละ 0.08 ระบุอื่น ๆ เช่น ควรพิจารณาเป็นรายกรณีหากอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกันก็ไม่สมควร แต่หากอยู่คนละพื้นที่เห็นสมควรให้ลงรับสมัครได้ และร้อยละ 0.88 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อการมีข้อห้ามไม่ให้คู่สมรส บุพการี หรือบุตรของผู้สมัครเป็น ส.ส. ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว. ในคราวเดียวกัน และมีข้อห้ามไม่ให้คู่สมรส บุพการี หรือบุตรของผู้สมัครเป็น ส.ว. ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ในคราวเดียวกัน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 59.20 ระบุว่า เห็นด้วยกับข้อห้าม รองลงมา ร้อยละ 39.52 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อห้าม ร้อยละ 0.08 ระบุอื่น ๆ เช่น ควรห้ามทุกคนที่กล่าวมาแต่ควรยกเว้นพี่น้องที่สามารถลงสมัครในคราวเดียวกันได้ และร้อยละ 1.20 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการห้ามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่พ้นจากตำแหน่ง ไม่ให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หรือดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและตำแหน่งทางการเมืองอื่น ๆ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 32.40 ระบุว่า ควรมีการห้ามภายในเวลา 5 ปีหลังพ้นจากตำแหน่ง รองลงมา ร้อยละ 31.28 ระบุว่า ไม่ควรมีการห้ามใด ๆ ร้อยละ 24.32 ระบุว่า ควรมีการห้ามภายในเวลา 2 ปีหลังพ้นจากตำแหน่ง ร้อยละ 6.08 ระบุอื่น ๆ เช่น ควรห้ามเป็นระยะเวลา 1 ปี, 3 ปี, 4 ปี, 8 ปี บางส่วนระบุว่า ควรห้ามสมัครเป็นสมัย เช่น 2-3 สมัย หรือพิจารณาที่ประวัติ พฤติกรรม และผลงานในขณะที่ดำรงตำแหน่ง ขณะที่บางส่วนระบุว่า ควรห้ามตลอดชีวิต และร้อยละ 5.92 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการห้ามสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่พ้นจากตำแหน่ง ไม่ให้ลงสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและตำแหน่งทางการเมืองอื่น ๆ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 32.40 ระบุว่า ไม่ควรมีการห้ามใด ๆ รองลงมา ร้อยละ 31.68 ระบุว่า ควรมีการห้ามภายในเวลา 5 ปีหลังพ้นจากตำแหน่ง ร้อยละ 24.40 ระบุว่า ควรมีการห้ามภายในเวลา 2 ปีหลังพ้นจากตำแหน่ง ร้อยละ 5.44 ระบุอื่น ๆ เช่น ควรห้ามเป็นระยะเวลา 1 – 4 ปี, บางส่วนระบุว่าควรห้าม 10 ปี, ควรพิจารณาที่พฤติกรรมในขณะดำรงตำแหน่ง, ขณะที่บางท่านระบุว่าควรห้ามตลอดชีวิต และร้อยละ 6.08 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ