สนช.นัดถกร่วมสปท. ฟังกรธ.ชี้แจงร่างรธน. 3 ก.พ. ก่อนเปิดอภิปรายฯ 5 ก.พ.

ข่าวการเมือง Monday February 1, 2016 17:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 3 ก.พ.นี้ ทาง สนช.พร้อมด้วยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จะประชุมร่วมกันเพื่อรับฟังคำชี้แจงของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต่อร่างรัฐธรรมนูญอย่างละเอียด โดยจะเปิดโอกาสให้สมาชิกซักถามในประเด็นที่สงสัยได้

โดยเฉพาะหลักการสำคัญในเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ กรธ.กำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องดูแลประชาชน ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะหากมีการละเมิดสิทธิจะถือเป็นความผิดของรัฐบาล จึงนำไปสู่การพิจารณาขององค์กรอิสระอื่นๆได้

ส่วนการได้มาของรัฐสภาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ใช้บัตรใบเดียวนั้นก็ยังมีข้อสงสัยที่ สนช.ต้องการคำอธิบายจาก กรธ.รวมไปถึงที่มาการเลือกตั้งวุฒิสภา (ส.ว.) ทางอ้อม 20 สาขา โดยให้สาขาอาชีพเลือกไขว้กันนั้นจะมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร เพราะ สนช.บางคนยังไม่เข้าใจว่า วิธีการนี้จะได้ตัวแทนของสาขาจริงๆ และจะทำมีการฮั้วกันเกิดขึ้นหรือไม่

สำหรับประเด็นที่มานายกฯ ที่กำหนดให้พรรคการเมืองเสนอ 3 รายชื่อ รวมไปถึงข้อวิพากษ์วิจารณ์อำนาจขององค์กรอิสระที่มีอำนาจมากเกินไปและไม่ยึดโยงกับประชาชนด้วย ซึ่งทั้งหมดจะเป็นประเด็นที่ กรธ.ต้องชี้แจงให้ชัดเจน

"ที่ผมออกมาพูดไม่ได้มาชื่นชมหรือมายกย่องเป็นพิเศษ แต่นายกรัฐมนตรีก็บอกอยู่เสมอว่า อยากให้ร่างรัฐธรรมนูญออกมาเป็นสากล และเหมาะสมกับบทบาทของประเทศไทย จึงอยากรู้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นไปตามหลักสากล และเหมาะสมกับสังคมไทยหรือไม่" นายพรเพชร กล่าว

หลังรับฟังคำชี้แจงจาก กรธ.แล้ว ส่วนตัวยังได้นัดประชุม สนช.ในวันที่ 5 ก.พ.นี้ เพื่อให้สมาชิกได้แสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างละเอียดพร้อมเหตุผลประกอบ โดยคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นต่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 เป็นประธาน จะทำการรวบรวมข้อคิดเห็นเป็นหมวดหมู่เพื่อให้ที่ประชุม สนช.ลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อรายงานฉบับนี้ในวันที่ 12 ก.พ. ก่อนส่งให้ กรธ.ให้ทันในวันที่ 15 ก.พ.58 ตามที่ กรธ.กำหนดต่อไป

ประธาน สนช.กล่าวว่า ส่วนการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนั้น ทาง กรธ.กำหนดว่าจะทำทั้งหมด 10 ฉบับในเวลา 8 เดือนแล้วส่งให้ สนช.พิจารณาภายใน 2 เดือนนั้นถือว่าเป็นภาระหนักมาก เพราะการจัดกฏหมายแต่ละฉบับต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและใช้เวลา ดังนั้นเพื่อให้ทันกรอบเวลาดังกล่าวอาจจะให้สมาชิกไปพิจารณากันที่เกาะล้าน หรือเกาะช้าง เพื่อไม่ให้สมาชิกออกไปไหน จะได้มีเวลากันอย่างเต็มที่

"ระยะเวลา 2 เดือนทันแน่นอน ต้องทำให้ได้ ซึ่ง สนช.จะไม่ขอขยายเวลาในการพิจารณากฏหมายลูก เพราะหากขยายเวลาอาจถูกโจมตีว่า เป็นการขยายเวลาเพิ่มให้ คสช.หรือไม่" นายพรเพชร กล่าว

ส่วนทางออกหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามตินั้น เรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดมาตลอดว่ามีทางออก แต่ถ้าพูดตอนนี้ก็เหมือนชี้นำให้รัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ นายกฯ เคยพูดกับตนเองว่ามีทางออกในเรื่องนี้ไว้อยู่แล้ว เพราะนายกฯ ยืนยันว่า ถึงอย่างไรก็ต้องมีเลือกตั้งในปี 2560 แต่ถ้าถึงเวลากันจริงๆ นายกฯคงต้องปรึกษานายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฏหมายว่าจะดำเนินการอย่างไร

ส่วนกรณีที่นักการเมืองไม่เห็นด้วยและรณรงค์ให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ นายพรเพชร กล่าวว่า ส่วนตัวอยากให้นักการเมืองทำความเข้าใจว่า นี่เป็นเพียงร่างแรกเบื้องต้น จึงอยากให้รอดูจนถึงร่างสุดท้าย ถ้าคิดดีๆอาจเปลี่ยนใจได้ เพราะตนเองเชื่อว่า นายมีชัย จะต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างแน่นอน

ส่วนการให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญแก้วิกฤตของประเทศนั้น นายพรเพชร กล่าวว่า ไม่มีใครการันตีการเกิดวิกฤตของประเทศได้ เพราะวิกฤตเกิดจากพฤติการณ์ของมนุษย์ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ ส่วนที่บทเฉพาะกาลกำหนดให้ สนช.ต้องอยู่ต่อจนมีการเปิดประชุมรัฐสภานัดแรกนั้น ตอนนี้ สนช.คงไม่กล้าพูดอะไรเกี่ยวกับตัวเอง เราต้องฟังเสียงคนอื่น

นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 5 ก.พ.จะมีการประชุม สนช.เพื่อให้สมาชิกได้แสดงความเห็นอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) หลังจากนั้น กมธ.สามัญฯ จะรวบรวมความเห็นที่สมาชิก สนช.เสนอมากลับเข้าสู่ที่ประชุม สนช.ให้ลงมติรับรองรายงานความเห็นและข้อเสนอแนะร่างรัฐธรรมนูญของ กมธ.สามัญฯ ก่อนส่งให้ กรธ.ภายในวันที่ 15 ก.พ.59

สำหรับความคิดเห็นส่วนตัวมองว่า เนื้อหาภาพรวมร่างรัฐธรรมนูญสามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาประเทศได้ แต่บางส่วนควรปรับปรุงให้เกิดความชัดเจน อาทิ เรื่องการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่เข้าใจยาก อธิบายลำบาก น่าจะใช้วิธีอื่นที่เข้าใจง่ายกว่านี้ รวมถึงไม่มีความจำเป็นที่พรรคการเมืองต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี 3 คนให้ประชาชนทราบล่วงหน้า เพราะดูแล้วยุ่งยาก เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรมีดุลยพินิจในการเลือกนายกฯ ได้อยู่แล้ว อีกทั้งยังเป็นห่วงเรื่องการให้อำนาจองค์กรอิสระมากเกินไป ควรเขียนให้ชัดเจนว่า จะตรวจสอบเรื่องใดได้บ้าง ไม่ควรมีอำนาจตรวจสอบฝ่ายบริหารได้ทุกเรื่อง

"แม้จะมีเหตุผลป้องกันไม่ให้รัฐบาลเหลิงอำนาจ แต่การให้อำนาจรัฐบาลแค่ครึ่งๆ กลางๆ แบบกั๊กๆ จะทำให้เป็นอุปสรรคในการบริหารประเทศได้" นายทวีศักดิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ